×

MEDIA is DEAD or ALIVE? ตอนที่ 1 สื่อเก่า ความจริง ชีวิตคนธรรมดา

26.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การมาถึงของสื่อดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ได้เข้ามาทำลาย หรือ Disrupt โครงสร้างธุรกิจเดิม
  • ลูกค้าวันนี้ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ไหม? เจ้าของร้านกาแฟในจังหวัดเพชรบุรีตอบว่า “วันละ 2 คน หรือบางวันก็ไม่มีเลย”
  • พ.ศ. 2560 คือปีแห่งวิกฤตและการปรับตัวขององค์กรสื่อ มีการเลิกจ้างพนักงาน ปรับโครงสร้างองค์กร แผนธุรกิจ ชีวิตคนทำงานเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ต้องหนีตายด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่

หากพูดถึงสถานการณ์เปลี่ยนผ่านและล้มตายของสื่อในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2560) คงจะต้องเล่ากันยาวอีกหลายบรรทัด


ตอนนี้เราทุกคนต่างรู้กันดีว่าการมาถึงของสื่อดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ได้เข้ามาทำลาย หรือ Disrupt โครงสร้างธุรกิจเดิม


โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็น ‘ตัวกลาง’ อย่างธนาคาร เอเจนซี และสื่อมวลชน


เทคโนโลยีที่ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง ไม่เพียงช่วยให้ชนชั้นกลางและรากหญ้าเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่างสมาร์ทโฟนได้ในราคาหลักพัน แต่ยังทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงคนทุกช่วงวัย


คนแก่-คนต่างจังหวัดที่เคยเป็นคนชายขอบ กลายเป็น Digital Immigrant หรือผู้อพยพใหม่ของโลกดิจิทัล


โลกอะนาล็อกที่เคยเฟื่องฟูกำลังจะถูกทิ้งร้าง และกลายเป็นความโรแมนติกที่ยากจะตอบโจทย์ทางธุรกิจ         


วิถีชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปกลายเป็นความหวังอันสดใสของสื่อใหม่ แต่เป็นความเจ็บปวดของสื่อเก่าที่ยังหาที่ทางของตัวเองไม่เจอ

 

คนขายหนังสือแถวถนนข้าวสารใช้เวลาว่างกับ ‘แท็บเล็ต’ (ถ่ายเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2560),
Photo: วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์

 

“วันละ 2 คนครับ บางวันก็ไม่มีเลย”

 

เจ้าของร้านกาแฟในจังหวัดเพชรบุรีตอบคำถาม “ลูกค้าวันนี้ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ไหม?’ ที่ ‘เพื่อน’ คอมเมนต์ถามใต้รูปหนังสือพิมพ์ที่พาดบนราวแขวนในเฟซบุ๊ก

มีนาคม พ.ศ. 2560 เจ้าของร้านขายหนังสือใต้โรงหนังเฮาส์ อาร์ซีเอ บอกว่าเธอกำลังหาคนเซ้งร้านต่อ


คู่สร้าง คู่สม เมื่อก่อนรับ 60 เล่ม เป็นรายสัปดาห์ด้วยนะ แป๊บเดียวหมด ต่อมาลดลงมาเหลือ 30 เล่ม ตอนนี้เหลือ 15 เล่ม แถมออกทุกๆ 10 วัน ยังต้องลุ้นให้หมด


“ทุกครั้งคนซื้ออ่านดวง แต่ตอนนี้อ่านในเน็ตหมด


“เดี๋ยวนี้คนจะอ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ได้” เธอแสดงความเห็นก่อนบอกว่า ถ้าหาคนเซ้งได้จะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น


หลังจากนั้นราว 9 เดือน คู่สร้าง คู่สม ก็หายไปจากแผง เมื่อ ดำรง พุฒตาล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการ ตัดสินใจปิดตำนานนิตยสารที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 38 ปี โดยวางแผงฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 1005 ในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560


“โซเชียลทำให้เราท้อใจ” และ “ไม่มีใครอ่านหนังสือ” คือเหตุผลที่ดำรงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

 

Photo: positioningmag.com

 

เมื่อต้นสิงหาคม พ.ศ. 2560 ‘พี่ติ๊ก’ เจ้าของร้านตัดผมผู้หญิงในซอยประชาสงเคราะห์ 2 เขตดินแดง บอกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เธอซื้อนิตยสารเข้าร้านน้อยลงมาก


จากที่เคยซื้อ 3-4 หัวเพื่ออ่านเองและให้ลูกค้าดูแบบทรงผมใหม่ๆ ของดารา ตอนนี้แทบไม่ได้ซื้อแล้ว


พี่ติ๊กบอกว่า เดี๋ยวนี้ลูกค้าอยากให้ตัดทรงไหนจะเปิดรูปจากมือถือให้ดู


“ทรงมันอัพเดตกว่า แถมมีให้เลือกเยอะกว่าดูจากหนังสือ”


พูดจบก็ชี้ไปที่กองนิตยสารที่วางอย่างเหงาๆ ในมุมหนึ่งของร้าน


“เดี๋ยวนี้ลูกค้าไม่หยิบนิตยสารมาอ่านระหว่างตัดผมเหมือนเมื่อก่อน ทุกคนดูทุกอย่างจากมือถือ”


พี่ติ๊กบอกว่า เธอก็เช่นกัน

 

ผลสำรวจของ บริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2558 (goo.gl/6mnwNf) ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2558) เงินโฆษณาในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในภาวะ ‘ร่วงดิ่ง’

 

Photo: www.thaipublica.org

 

เงินโฆษณาในธุรกิจ ‘หนังสือพิมพ์’ ลดลงจาก 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ -20%

 

Photo: www.thaipublica.org

 

ขณะที่ ‘นิตยสาร’ ลดลงจาก 6.1 พันล้านบาทต่อปี เหลือ 4.2 พันล้านบาทต่อปี หรือ -31%


ผลพวงดังกล่าวได้นำมาสู่การปิดตัวของนิตยสารหลายหัว (goo.gl/ueJ3BH, goo.gl/tyrqXs, goo.gl/1KQ9tN) และการปรับตัวขนานใหญ่ขององค์กรสื่อ


โดยเฉพาะองค์กรสื่อขนาดใหญ่ของบรรดามีเดียไทคูนเมืองไทย เช่น เครือมติชน, เนชั่น, ไทยรัฐ ที่พยายามเดินหน้าสู่อนาคตด้วยการ ‘โกออนไลน์’ ขนานใหญ่ ขณะเดียวกันก็พยายามผ่าตัดองค์กรด้วยการประกาศให้พนักงาน ‘ลาออกด้วยความสมัครใจ’ (goo.gl/2bSnAC)

 

ใบประกาศ ‘โครงการสมัครใจเกษียนก่อนกำหนด’ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

หรือกรณีล่าสุด ข่าวใหญ่ส่งท้าย พ.ศ. 2560 เมื่อ วอยซ์ทีวี ออกแถลงการณ์ ‘การปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการทีวี และพัฒนาการนำเสนอผ่านทุกช่องทางออนไลน์’ เนื้อความระบุถึงการเลิกจ้างพนักงาน 127 คน หลังจากมีการปรับแผนธุรกิจ ปี 2561 โดยลดจำนวนรายการและเน้นออนไลน์มากขึ้น (thestandard.co/voice-tv-announced-layoffs-of-127-people)

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ การปรับโครงสร้างองค์กร ปรับผังรายการทีวี และพัฒนาการนำเสนอผ่านทุกช่องทางออนไลน์  โดยเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดต้นทุนที่ต้องแบกรับ ปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ในวันที่ภูมิทัศน์สื่อไม่เป็นใจ

 

การมาถึงของสื่อออนไลน์ไม่เพียงกระทบสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ยังกระทบสื่อทีวี


เฟซบุ๊กปล่อยฟีเจอร์ Facebook LIVE


ยูทูบมีละครและคลิปต่างๆ ให้ดูย้อนหลัง


ไลน์ทีวีลงทุนจ้างผู้ผลิตชั้นดีมาสร้างคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ


ผู้ประกอบการ OTT (Over-the-Top) หรือ ‘วิดีโอสตรีมมิง’ เช่น Netflix และอีกหลายเจ้า ที่ต่างมีคอนเทนต์ระดับมงกุฎเพชรลงสนามบุกไทย


บรรดาองค์กรสื่อที่ทุ่มเงินประมูลช่องทีวีดิจิทัลเพราะเห็นว่านี่คืออนาคตที่สดใส ได้มีพื้นที่ของตัวเอง และเงินโฆษณาที่จะหลั่งไหลเข้ามาก็ต้องสะอึก เมื่อการมาถึงของเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลดึงคนกลุ่มใหญ่ที่ดูทีวีหรือคลิปวิดีโอผ่านจอสมาร์ทโฟน


24 ช่องใหม่ของทีวีดิจิทัลจึงกลายเป็นของเก่า ไม่เร้าใจ แถมต้นทุนก็แพงเหลือร้าย เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีออนไลน์ที่เสมือนไร้ราคา แต่มูลค่ามหาศาล

 

 

อมรินทร์ฯ เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่ลงสนามประมูลทีวีดิจิทัลเลยเจ็บหนักและขาดทุนยับ (goo.gl/lJJc4M) เพราะต้องจ่ายค่าใบอนุญาต-ค่าเช่าโครงข่าย และเงินที่ไปกู้สถาบันการเงินจนต้องเพิ่มทุนและขายหุ้นให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี (เจ้าของไทยเบฟฯ) เป็นคนถือหุ้นใหญ่


“จะบอกให้นะ ธุรกิจทีวีดิจิทัลวันนี้ พี่คิดว่าเกือบทุกช่องยังขาดทุนอยู่แน่นอน อาจจะเว้นเวิร์คพอยท์ที่มีกำไรแล้ว แต่ถามว่าช่องอื่นน่ะ พี่คิดว่าจะเห็นได้ชัดเจนว่าขาดทุนหมด เพราะว่าการลงทุนระยะแรกมันแพง”


ผู้อำนวยการข่าวอาวุโสทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งออกความเห็น และบอกว่านี่คือความจริงที่ต้องยอมรับเพื่อหาวิธีปรับตัว


หากกระแสลมแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนพัดเอารายได้ขององค์กรสื่อเก่าให้ค่อยๆ หายไป กระทั่งเกิดภาวะขาดทุนและล้มหายตายจากคือ ‘ทุกข์’ ที่องค์กรสื่อต้องเผชิญ


คำถามสำคัญก่อนที่จะคิดหาหนทางปรับตัวเพื่ออยู่รอดคือ ทุกข์หรือกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญหน้าในวันนี้คืออะไร?


ผมเริ่มต้นหาคำตอบจากจุดนี้ผ่านการเดินทางสนทนากับผู้คนในหลากหลายวงการ ไม่ว่าสื่อมวลชนทั้งรุ่นใหม่หรือรุ่นใหญ่ในสื่อออนไลน์และทีวี ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เจ้าของเอเจนซีโฆษณา ผู้บริหารสื่อยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ และนักการตลาด


เพื่อแสวงหาหนทางอยู่รอดในวันที่ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดแรงจนผู้บริหาร พนักงาน และคนทั่วไปยากจะมองเห็นทัศนียภาพเบื้องหน้าที่ชื่อ…


‘อนาคต’

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X