×

สว. 67 : กกต. แจง สื่อรายงานข่าวการเลือก สว. ได้ สัมภาษณ์ได้ แต่ห้ามผู้สมัครแนะนำตัวชวนให้เลือก

โดย THE STANDARD TEAM
14.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (14 พฤษภาคม) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. นัดสื่อมวลชนหลายสำนักมาชี้แจงถึงการดำเนินการของสื่อมวลชนเพื่อทำความเข้าใจถึงการรับสมัครเลือกตั้งวุฒิสภา (สว.) โดยยืนยันกับประชาชนว่าจะได้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน พร้อมสำรองตามกำหนดเวลา 60 วันอย่างแน่นอน และไม่มีข้อกฎหมายใดที่จะประวิงเวลาหรือเลื่อนให้ได้ สว. 200 คนออกไปจากไทม์ไลน์ที่ได้กำหนดไว้ พร้อมย้ำว่า กกต. ต้องทำตามกฎหมาย

 

แสวงระบุว่า การเลือก สว. ครั้งนี้มีความสลับซับซ้อน สังคมเห็นต่าง เพราะมองในสิ่งที่ตัวเองต้องการเห็น สิ่งที่จะพาเราไปได้ก็คือกติกา ความเห็นต่างมีได้แต่ต้องรับรู้ว่ากติกาเขียนไว้อย่างไร บางครั้ง กกต. เองก็ไม่ได้คิดต่างจากประชาชน เราต่างกันตรงที่ยืน เราเป็นกรรมการต้องทำตามกฎหมาย น้อยกว่าก็ไม่ได้ เกินก็ไม่ได้

 

“บางครั้งเราไม่ได้เห็นต่างจากประชาชน แต่ที่ยืนเราต่างกัน สส. เลือกจากอนาคต แต่ สว. เลือกจากอดีต พูดสั้นๆ คือเลือกคนดีเพื่อไปเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย การแบ่งกลุ่ม การเลือกไขว้ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราไม่ได้คิดกติกาขึ้นมาเอง เลือกตั้งครั้งนี้คงทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ได้ผลตามที่อยากได้เราต้องแก้” แสวงกล่าว

 

กฎหมายรองรับ ประกาศผลไม่ล่าช้า

 

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สิ่งที่กังวลว่าจะทำให้เลือก สว. ไม่ได้ตามเวลา คือเรื่องคุณสมบัติหรือขั้นตอนลงคะแนนแล้วไม่ได้ 5 คน หรือคนสมัครน้อย หรือเลือกแล้วกระบวนการเลือกไม่ชอบ กฎหมายได้รองรับเอาไว้ทุกเรื่อง เช่น เรื่องคุณสมบัติมีวิธีทำอยู่ 2 เรื่อง คือเอกสารเท็จทั้งใบสมัครและเอกสารประกอบ หากเป็นเท็จจะได้ใบดำ เพิกถอนการรับสมัคร หรือไม่รับสมัคร ซึ่งศาลต้องมีคำสั่งก่อนวันเลือก 1 วัน และถ้าศาลมีคำสั่งไม่ทันก็เลือกไปเลยเท่าที่มีในบัญชีที่ ผอ. เลือกเป็นคนประกาศ แม้ศาลจะคืนสิทธิ์อย่างไรในตอนหลังก็ไม่กระทบในสิ่งที่ทำไปแล้ว ดังนั้นเดินหน้าได้ตลอด

 

กรณีหากประกาศให้เป็นผู้สมัครไปแล้วเจอตอนหลังว่าผิด สามารถลบชื่อได้ทุกชั้นจนถึงระดับประเทศ และกฎหมายรองรับว่าไม่กระทบกับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วเช่นกัน ฉะนั้นเรื่องคุณสมบัติจึงไม่ประเด็นในการที่จะทำให้การเลือกตั้งขยายเวลาออกไป ไม่ว่ากรณีใดๆ

 

ส่วนอีกปัจจัยที่คนกังวลเป็นการร้องคัดค้านเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งที่อาจจะส่งผลให้การเลือกล่าช้านั้น แสวงกล่าวว่า ในระหว่างการนับคะแนนให้สิทธิ์ท้วงได้หากเห็นว่าคณะกรรมการเลือกทำหน้าที่ไม่ชอบมาพากลหรือนับคะแนนผิดจากสิ่งที่แสดงให้เห็น ซึ่งกรรมการก็จะวินิจฉัยในวันนั้นทันที ถ้าไม่พอใจก็ไปร้องศาลฎีกาได้ และศาลฎีกาต้องตัดสินให้เสร็จก่อน 1 วัน หากตัดสินไม่เสร็จก็เดินหน้าเลือกต่อไป และ ไม่ผูกพันกับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว

 

“เมื่อมาดูตามกระบวนการต่างๆ จึงไม่มีช่องไหนที่จะทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เกินโรดแมปแม้แต่วันเดียว เราจะได้ สว. 200 คนแน่นอน การประกาศ สว. ต้องประกาศ 200 คน ถ้าได้ 200 คน ตอนนั้นใครมาถูกสอยทีหลังด้วยเรื่องคุณสมบัติหรือกระบวนการของการทุจริต พูดภาษาชาวบ้านก็ถูกสอย ก็มีสำรอง วิธีสำรองคือมีสำรองกลุ่มละ 5 คน ครั้งแรกให้เรียกจากกลุ่มตัวเองก่อน ถ้าหมดก็ไปเรียกจากกลุ่มอื่น โดยใช้วิธีจับสลากจนเกลี้ยง ถ้าให้ สว. มีเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าจริง คือไม่น้อยกว่า 100 คน และถ้าเวลายังเหลือเกิน 1 ปีก็ให้ กกต. จัดการเลือกให้ครบ ดังนั้นยืนยันประเทศชาติเดินหน้าได้แน่นอน ไม่ต้องกังวล เพราะรัฐธรรมนูญออกมาได้ครอบคลุมทุกประเด็น จึงไม่จำเป็นหรือกังวลว่าจะไม่ได้ สว. ภายในเวลา หรือไม่ได้ แล้วจะได้จำนวนเท่าไร ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ กกต. สามารถประกาศได้ 200 คน ตามไทม์ไลน์แน่นอน” แสวงกล่าว

 

สำหรับที่มีการร้องเรื่องการซื้อเสียงนั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เรื่องการซื้อเสียงเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีการกลั่นแกล้งกันหรือไม่ เราก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุดในส่วนคำร้องเรื่องการทุจริต ส่วนที่ฮั้วหรือตั้งกันมานั้น สำนักงาน กกต. ได้ดูแลความเคลื่อนไหวมาโดยตลอดว่ามีการดำเนินการหรือแอบทำหรือไม่ ก็จะตามไปดู

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ความเคลื่อนไหวอย่างนี้กฎหมายได้ออกแบบเพื่อป้องกันการทุจริตไว้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็ต้องมีมาตรการที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ด้วย ในการที่จะทำให้การเลือก สว. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

แก้ระเบียบ ผู้สมัครแนะนำตัวเองทางออนไลน์ได้

 

เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ กกต. ได้แก้ไขระเบียบให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น TikTok, Facebook, YouTube, Instagram สามารถทำได้ แต่สาระของการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมายตามแบบ สว. 3 เท่านั้น

 

สำหรับการปฏิบัติตัวของสื่อนั้น เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่าไม่มีระเบียบไหนที่กระทบกับการทำงานของสื่อ โดยยังคงสัมภาษณ์เรื่องทั่วไปได้ แต่ตัวผู้สมัครห้ามแนะนำตัวเองว่าลงสมัครเบอร์นั้นเบอร์นี้ ขณะที่สื่อที่ไปลงสมัครก็ยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องไม่ไปแนะนำตัวหรือบอกคุณสมบัติของตัวเอง จึงไม่ได้ลิดรอนการทำงานของสื่อแต่อย่างใด

 

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่าประชาชนสามารถติดตามข้อมูลผู้สมัคร สว. ได้ 2 ช่องทาง ภายหลังปิดรับสมัคร กกต. จะเปิดเผยทุกรายชื่อ ทุกกลุ่ม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่าใครลงสมัครอย่างไร มีประวัติและมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างไรทางแอปพลิเคชัน Smart Vote และเว็บไซต์ของ กกต. ซึ่งหากประชาชนเห็นว่าคนไหนมีลักษณะต้องห้าม ก็สามารถให้ข้อมูลกับ กกต. ได้

 

เมื่อถามว่าคณะหรือองค์กรอย่างคณะก้าวหน้าและ iLaw สามารถแนะนำผู้สมัครได้เหมือนกับสื่อเลยหรือไม่นั้น แสวงกล่าวว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้ระวังตัวเองก็แล้วกัน เพราะคำว่าสื่อหรือผู้อื่นคือคนเดียวกัน หากรู้เห็นเป็นใจในการทำให้การเลือกไม่สุจริตและเที่ยงธรรมก็จะต้องได้รับโทษตรงนั้น ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงในการวินิจฉัย ถ้าผู้สมัครไม่สบายใจต้องบอกว่าอย่ามาทำให้ แต่หากรับประโยชน์ตลอด ก็ต้องพิสูจน์ว่ารู้เห็นเป็นใจหรือไม่

 

“การรณรงค์และเชิญชวนไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้บอกว่าใครมีอาชีพอะไร ทำได้ทั้งนั้น แต่อย่าไปช่วยเหลือหรือแนะนำตัวในสิ่งที่ผิด เพราะระเบียบแนะนำตัวให้ผู้สมัครดูแลตัวเอง ก็ต้องดูว่าใครช่วยเขาได้บ้าง ดังนั้นสื่อทำหน้าที่ตามปกติ แต่ผู้สมัครก็จะต้องดูแลตัวเอง โดยทั้งหมดต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงจะวินิจฉัยอะไรตอนนี้ไม่ได้” แสวงกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X