จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้เตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ซึ่งหนึ่งในข้อมาตรการในการรับมือคือการห้ามรถยนต์และรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลา 06.00-21.00 น. โดยให้วิ่งได้ถึงถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากกองบังคับการตำรวจจราจรและกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และประธานที่ปรึกษาสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก กล่าวถึงนโยบายของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่าทางสหพันธ์ฯ คัดค้านคำสั่งห้ามดังกล่าว เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากผลการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่าสาเหตุหลักของ PM2.5 มาจากการเผา ทั้งการเผาซังข้าว อ้อย ขยะ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมที่สร้างเขม่าควัน ส่วนควันจากรถยนต์ยอมรับว่ามีเช่นกัน แต่มีส่วนน้อย จะเห็นว่าปัญหาใหญ่ไม่แก้ แต่รัฐบาลมาแก้ปัญหาน้อยที่ปลายเหตุ
ปัญหาต่อมาคือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง เพราะกระบวนการผลิต การขนส่ง การกระจายสินค้า การนำเข้า การส่งออก การก่อสร้างต่างๆ เป็นซัพพลายเชนในระบบการขนส่งที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจ จะกระทบในวงกว้างมาก
“การสั่งไม่ให้รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จำนวน 15 ชั่วโมงต่อวันทำให้มีเวลาทำงานจริงอยู่ประมาณ 8-9 ชั่วโมง ความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะการขนส่งเป็นการเชื่อมของทุกห่วงโซ่” ทองอยู่กล่าว
ทองอยู่กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง มีอุตสาหกรรม การเงิน การศึกษา ศูนย์รวมอำนาจของภาครัฐ ประชากรมีมากกว่า 10 ล้านคน และตามผังเมืองของกรุงเทพมหานครเวลานี้มีเมืองบริวาร จังหวัดปริมณฑลรอบล้อม ดังนั้นเวลาเกิดปัญหากับกรุงเทพมหานครก็จะกระทบทั้งหมด เป็นวงแหวนเชื่อมกันหมด จะเห็นว่าเมืองบริวารก็สร้างปัญหาให้กรุงเทพมหานครเช่นกัน สังเกตจากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่า PM2.5 ปริมาณสูงสุดอยู่ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้ปริมาณรถบรรทุกในระบบ ถ้าเข้ากรุงเทพมหานครโดยตรงจะสูงสุดประมาณ 70,000-80,000 คันต่อวัน และรถบรรทุกที่วิ่งเชื่อมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามเส้นทางหลักต่างๆ และทางด่วนอีกประมาณ 50,000-60,000 คันต่อวัน รวมรถบรรทุกที่ได้รับผลกระทบกว่า 100,000 คันต่อวัน
“ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการจราจร เพราะรถบรรทุกที่เข้าเมืองไม่ได้ต้องจอดรอบนถนน เช่น ถนนเพชรเกษม บางนา-ตราด สุขุมวิท เมื่อถึงเวลา 21.00 น. ก็จะขับเข้าเมืองถึงเวลาเช้า 06.00 น. ต้องออกนอกเมือง ทำให้การจราจรเข้าออกลำบาก
ทั้งนี้ ทางสหพันธ์ฯ มองปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาระดับชาติ ต้องแก้แบบบูรณาการ แก้เฉพาะในประเทศอาจไม่ได้ เพราะมีการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ อินโดนีเซีย จนฝุ่นควันเข้ามาในประเทศไทยและเป็นปัญหาระดับชาติ ต้องมีแผนและยุทธศาสตร์ชัดเจน ต้องกำหนดว่าระบบการเผาพืชต่างๆ ทั้งอ้อย ซังข้าว ขยะ จะแก้อย่างไร” ทองอยู่กล่าว
ทองอยู่กล่าวต่ออีกว่าทางสหพันธ์ฯ ต้องการให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว ปัจจุบันสหพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปยัง 5 หน่วยงานแล้วคือ ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเตรียมยื่นฟ้องไปทางศาลปกครองว่าการออกมาตรการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะรถบรรทุก ซึ่งจะขอคุ้มครองชั่วคราว เพราะการปล่อยควันพิษเกิดจากรถยนต์ทุกชนิดทั้ง ขสมก. บขส. และรถตู้โดยสาร ฯลฯ ต่างปล่อยมลพิษ และอยู่ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครตลอดเวลา
“ระหว่างที่ร้องศาลปกครอง สหพันธ์ฯ จะขอความร่วมมือสมาชิกให้นำรถบรรทุกเครื่องยนต์ NGV ออกมาวิ่งให้มากขึ้นเพื่อลดมลภาวะ รวมทั้งจะขอให้รถบรรทุกเก่าอายุมากกว่า 30 ปีห้ามวิ่งเข้ากรุงเทพมหานคร และให้สมาชิกดูแลซ่อมบำรุงรถไม่ให้มีควันดำ ใช้พลังงานที่ดีขึ้น ซึ่งสหพันธ์ฯ พยายามปรับตัวเช่นกัน” ทองอยู่กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์