Vigilante ออกอากาศสัปดาห์แรกไปเป็นที่เรียบร้อย (8 พฤศจิกายน) ทำให้เราได้เห็นการแสดงที่พัฒนาไปไกลของ นัมจูฮยอก ที่ในเรื่องนี้ต้องรับบทเป็นสองบุคลิก ด้านหนึ่งเป็นนักเรียนตำรวจอนาคตไกล อีกด้านหนึ่งเขากลับกลายเป็นฮีโร่ดาร์กไซด์ที่เชื่อว่าคนชั่วควรได้รับโทษอย่างสาสม มากกว่าลอยนวลไปพร้อมกับช่องโหว่ของกฎหมาย
ซีรีส์ Vigilante เล่าเรื่องราวของ คิมจียง เด็กหนุ่มที่ควรมีชีวิตธรรมดาๆ แต่ด้วยบาดแผลในชีวิต ครอบครัวของเขาเผชิญกับความไม่ยุติธรรมจนบ้านแตกสาแหรกขาด แต่คนร้ายกลับถูกลงโทษเพียงไม่กี่ปี นั่นคือประเด็นที่ทำให้เขาตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย จัดการลงโทษคนร้ายให้สาสม
และกลายเป็นว่าการตั้งตัวเป็น Vigilante หรือฮีโร่สายดาร์ก กลายเป็นที่จับตาของสังคม ผู้คนมากมายมองว่าเขาคือฮีโร่ บวกกับสื่อมวลชนที่เลือกขยี้ข่าวนี้เพื่อเรตติ้ง จึงสร้างกระแสฮีโร่นอกกฎหมายเข้าไปอีก ขณะเดียวกันฝั่งตำรวจที่ต้องตามจับเขา เพราะมองว่า Vigilante เองก็ไม่ต่างจากอาชญากรคนหนึ่ง ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ลำบากเพราะประชาชนไม่เห็นด้วย นั่นทำให้เรื่องราวใน Vigilante จึงดุเดือดปนประเด็นดราม่าตามแบบซีรีส์เกาหลี
ขณะเดียวกัน ซีรีส์ Vigilante ก็ยังโยนคำถามกลับมาที่คนดูว่า ความยุติธรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราจะนับว่าเขาคือฮีโร่หรืออีกหนึ่งอาชญากร
ศาลเตี้ย = Vigilante
ตามความหมายแล้ว Vigilante แปลตรงตัวว่า ศาลเตี้ย หรือใครก็ตามที่ยกตัวเองเป็นผู้พิพากษา ทั้งเชื่อว่ากฎหมายไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง
คิมจียง ตัวละครหลักของ Vigilante ครอบครัวต้องพังทลายเพราะช่องโหว่ของระบบยุติธรรม คนร้ายไม่ได้รับโทษอย่างสาสม นั่นเป็นปมที่ทำให้เขาสอบเข้าเป็นนักเรียนตำรวจเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ และแม้ว่าเวลาผ่านไป ใช่ว่าระบบยุติธรรมจะได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุง ช่องโหว่ยังคงอยู่ และคนร้ายไร้สำนึกผิด ยังคงลอยนวลก่อความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คิมจียงเริ่มจากคดีแค้นของครอบครัวตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มออกล่าเหล่าคนร้ายในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เขาใช้แต้มต่อในการเป็นนักเรียนตำรวจเข้าถึงแฟ้มคดีสำคัญต่างๆ ใช้ข้อมูลเหล่านี้วางแผนลงโทษคนร้ายด้วยมือและหมัดของเขา
ในช่วงอีพี 2 หลังจากปูเรื่องราวในอีพีแรก คิมจียงเริ่มอ้างตนเป็นผู้ตัดสินบทลงโทษผู้กระทำผิดที่แสดงให้เห็นว่าเกิดความบิดเบี้ยวบางอย่างในใจเขา จนลืมว่าตำรวจคือคนที่ยึดถือกฎหมาย เขาได้ข้ามเส้นแบ่งจากฮีโร่ไปเป็นอาชญากรที่ตำรวจตามล่าตัว
เพราะในทางกฎหมายแล้ว Vigilante ก็ไม่ต่างอะไรกับเหล่าอาชญากรที่ก่อความวุ่นวาย ทำร้ายร่างกาย และในบางครั้งถึงกับชีวิต ซึ่งต้องได้รับโทษจากสิ่งที่เขาทำเช่นกัน
น่าสนใจว่าบทซีรีส์ Vigilante จะพัฒนาข้างในจิตใจของคิมจียงอย่างไร เพราะถึงตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวละครจะพัฒนาไปสู่ด้านมืดอย่างไม่อาจหวนกลับ และเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำทั้งหมดนั้นต่างหากที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรม’
ศาลเตี้ย และนักข่าวรายการอาชญากรรม
เรื่องของเรตติ้ง จำนวนคนเข้าชม จำนวนความเทรนดิ้งของข่าว กลายเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ให้ความสำคัญ อย่างที่เราได้เห็นในซีรีส์ Vigilante ว่านักข่าวรายการโทรทัศน์ในเกาหลีก็หนีไม่พ้นจากความเชื่อนี้
รายการ ทันข่าว 25 ชั่วโมง เป็นรายการแนวอาชญากรรมที่เรตติ้งกำลังย่ำแย่ และการกู้คืนให้รายการได้รับความนิยมคือการเล่นข่าวที่จะสร้างประเด็นดราม่า โดยเฉพาะการปั่นคดี Vigilante เป็นคนแรก มีการแอบเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุเพื่อถ่ายคลิปไปใช้ออกอากาศในรายการ เปิดเผยข้อมูลให้ Vigilante เพื่อให้เขาปรากฏตัว รวมถึงการซุ่มจับ Vigilante โดยไม่ร่วมมือกับตำรวจ
มีประโยคหนึ่งที่นักข่าวหญิงโต้เถียงกับหัวหน้าว่า “ข่าวที่ดีคืออะไร” และแม้หัวหน้าจะยกความเป็นคุณค่าของข่าว ด้วยความที่ยังไม่แน่ใจนักว่าสิ่งที่ทำถูกต้องดีแล้วหรือไม่ นักข่าวหญิงกลับบอกกับเขาว่า ข่าวที่ดีคือข่าวที่มีคนดูจำนวนมาก มีเรตติ้งยอดเยี่ยม มีโฆษณาเข้า มีแต้มต่อให้รายการยังเดินต่อไปได้ “ทุกวันนี้รายการข่าวที่ดีเป็นแบบนี้ต่างหาก”
ในวันที่โลกข้อมูลข่าวสารอยู่ง่ายเพียงปลายนิ้ว และอารมณ์ของคนก็ขึ้น-ลงตามกระแสข่าวดราม่ารายวัน คุณค่าและจริยธรรมสื่อจึงต้องปรับตามโลกที่เปลี่ยนแปลง ถึงอย่างนั้น สื่อมวลชนทุกวันนี้ก็ยากที่จะบาลานซ์บนสองความต้องการ เช่นเดียวกับนักข่าวสาวและรายการ ทันข่าว 25 ชั่วโมง ที่หิวกระหายข่าวที่สร้างเรตติ้งมากกว่าจะทำหน้าที่สะท้อนความจริงในสังคมให้ปรากฏ
ในความหมายหนึ่ง นักข่าวและรายการโทรทัศน์ ทันข่าว 25 ชั่วโมง ก็อาจเป็นศาลเตี้ยหรือ Vigilante ได้เช่นกัน
ตำรวจน้ำดีหรือตำรวจศาลเตี้ย
หน้าที่ของตำรวจที่ยึดถือกฎหมายเป็นสำคัญก็คือการตามสืบสวนคดีและออกหมายจับเพื่อจับกุมอาชญากร ซึ่งกรณีของ Vigilante นับเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน
เรื่องราวในซีรีส์นอกจากจะเน้นไปที่การตั้งศาลเตี้ยนอกกฎหมาย ยังแสดงให้เห็นความแตกต่างในวงการตำรวจที่เต็มไปด้วยความขาว เทา ดำ ของตัวละคร จนบางครั้งก็ยากจะแยกให้เห็นว่าใครคือตำรวจน้ำดีและใครคือตำรวจศาลเตี้ย ไม่ว่าจะเป็น
- ตำรวจที่ทำหน้าที่ตามจับคนร้ายที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไปจนถึงตำรวจที่ต้องการทำงานให้สำเร็จเพื่อผลงานและการเลื่อนขั้น
- อาจารย์ที่วิทยาลัยตำรวจ ตั้งใจจะสร้างบุคลากรที่ดีให้กับวงการตำรวจ เขาชื่นชมคิมจียงจนชวนให้มาช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันตำรวจร่วมกัน
- ตำรวจเลือดร้อนสุดแข็งแกร่ง เลือกใช้วิธีอันดุเดือดในการเค้นความจริงและการลงมือทำงาน จนยากจะแยกว่าเขาคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หรืออันธพาลในเครื่องแบบ
- รวมไปถึงนักเรียนตำรวจที่มีความฝันอยากผดุงความยุติธรรม
ศาลเตี้ยประชาชนที่พร้อมบวก
Vigilante สะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริงทั้งในและนอกเกาหลีที่บางครั้ง ‘ชาวเน็ต’ ก็สร้างศาลเตี้ยตัดสินถูก-ผิด ทั้งโพสต์อคติ คอมเมนต์ตัดสินโทษ รายการที่หวังสร้างกระแสด้วยข่าวดราม่า เกาหลีใต้ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน เพราะถ้าเป็นแฟนซีรีส์ก็จะเห็นว่าเทรนด์ X (Twitter) คือคดีรายวันที่ชาวเน็ตจะร่วมกันตัดสิน
นอกจากนี้ เกาหลียังเป็นประเทศผู้ผลิตซีรีส์กฎหมายจำนวนมาก เพราะมีกฎหมายเจ้าปัญหาหลายมาตราที่ให้น้ำหนักมนุษยธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอาชญากร ทั้งที่บางคนเลวร้ายเกินกว่าจะกลับตัวกลับใจ แล้วยังอาศัยช่องโหว่และความเอื้ออารีของกฎหมายเป็นทางหนีทีไล่
The Devil Judge, The Killing Vote, Taxi Driver ล้วนแล้วแต่เป็นซีรีส์เกาหลีที่ยืนอยู่บนประเด็นเดียวกัน นั่นก็คือคนชั่วได้ดีมีถมไป ทำไมคนร้ายจึงไม่ได้รับโทษที่เหมาะสม กฎหมายมีไว้เพื่อคุ้มครองคนที่ตกเป็นเหยื่อหรือใช้คุ้มครองคนร้ายกันแน่ และประชาชนอย่างเราๆ มีสิทธิ์ไหมในการตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาตัดสินผิด-ถูกตามมติของสังคม
Vigilante (วิจิลันเต้) นำแสดงโดย นัมจูฮยอก, อีจุนฮยอก, ยูจีแท ผลงานผู้กำกับ ชเวจองยอล จากภาพยนตร์ Start-Up, One Way Trip เขียนบทโดยนักเขียน WEBTOON CRG, คิมกยูซัม ออกอากาศทุกวันพุธทาง Disney+ Hotstar มีทั้งหมด 12 อีพี
ตัวอย่างซีรีส์ Vigilante
ภาพ: Disney+ Hotstar