×

ดีอีเอสขยับต่อเนื่อง ศึกษากฎหมายดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้าระบบ ปิดช่องภาษีรั่วไหลจากการลักลอบนำเข้า

โดย THE STANDARD TEAM
14.10.2021
  • LOADING...
บุหรี่ไฟฟ้า

วันนี้ (14 ตุลาคม) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ทางตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย, ตัวแทนกลุ่ม ECST, ผู้สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า และแอดมินเพจเฟซบุ๊กมนุษย์ควัน ได้เดินทางมาเข้าพบ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ตามกฎหมาย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำลังดูว่ามีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง เนื่องจากมองว่าหากทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้จะสามารถลดอันตรายให้กับผู้สูบ เพราะบางคนไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้แม้จะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังมีจำนวนผู้สูบบุหรี่อีกเกือบ 10 ล้านคน

 

“ผมจะรวบรวมข้อมูลนำไปประสานผู้เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและทบทวนแนวคิด หาแนวทางขับเคลื่อนเพื่อทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะปัจจุบันทั้ง อย.สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น ยอมรับให้ใช้แล้ว ดังนั้น เราต้องไปศึกษาต่อไปว่าข้อติดขัดอยู่ที่ภาคส่วนใด อย่างเช่น ในเรื่องใบอนุญาตให้ใช้ การขาย การผลิต เพราะจากที่ศึกษาเบื้องต้นในแง่กฎหมายน่าจะใช้ พ.ร.บ.ยาสูบฯ ควบคุมให้เข้ามาอยู่ในระบบได้อยู่แล้ว คงต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ” ชัยวุฒิกล่าว

 

สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพราะเครื่องยาสูบที่เป็นไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ปัจจุบัน 67 ประเทศทั่วโลกมีการยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ จีน แม้แต่มาเลเซีย เพราะถือว่าเป็นยาสูบที่มีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริง โดยบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารพิษน้อยกว่า ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ

 

“หลายประเทศยอมรับว่าหากเรามีบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถลดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้มากกว่า เรื่องนี้ผมขอศึกษาข้อกฎหมายก่อน นอกจากนี้ ปัจจุบันทราบว่าโรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองก็มีรายได้ลดลง เนื่องจากคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้าหรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามา ดังนั้น ถ้าเราสามารถเอายาสูบที่ปลูกในประเทศมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะสามารถแก้ปัญหาให้กับโรงงานยาสูบและเกษตรกรได้ รวมทั้งส่งออกได้ด้วย” ชัยวุฒิกล่าว

.

พร้อมทั้งย้ำว่า การดึงสินค้าในกลุ่มบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบ เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมายนั้น อยู่ที่ว่าประเทศไทยและผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องจะสามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีได้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันสินค้านี้มีขายกันใต้ดินและทางออนไลน์ ดังนั้น ถ้าไม่ปรับตัวตามเทคโนโลยี ก็จะเกิดปัญหาภายในประเทศ และเสียหายในอนาคตได้ ทั้งในเรื่องการลักลอบจำหน่าย การสูญเสียรายได้จากภาษี การสูญเสียโอกาสและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบชาวไทย และการลดผลกระทบต่อสุขภาพของนักสูบชาวไทยที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้

.

โดยมีข้อมูลจากรายงานเรื่อง E-cigarettes: an evidence update จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ส่งผลกระทบด้านสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปร้อยละ 95 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีหลักฐานผู้เลิกบุหรี่ได้ในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอัตราที่สูง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising