ดร.ไน ยวน ชิ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS กล่าวว่า ประเด็นการประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยประกาศเก็บกับประเทศไทยอัตรา 36% นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างอาคาร และมีความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนสูงจากแผ่นดินไหว แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- โครงสร้างที่นำมาใช้เป็นเสา (Columm-Box)
- โครงสร้างที่นำมาใช้เป็นคาน (Beam)
สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจ บริษัทนำเข้าวัตถุดิบเหล็กที่ผลิตจากโรงงานในประเทศญี่ปุ่นและเป็นมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาประกอบในโรงงานของบริษัทฯ ในประเทศไทยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์โครงสร้างที่นำมาใช้เป็นเสากับคาน แล้วส่งออกกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อในการสร้างอาคารที่ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นจะต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ในระดับ 8.6
โดยสินค้าของบริษัทส่วนใหญ่ของบริษัทที่ผลิตได้สัดส่วน 90% ส่งออกไปยังญี่ปุ่น และอีกราว 10% ขายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ไม่ได้มีการส่งออกเหล็กเข้าไปขายในสหรัฐฯ
“ภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ มีการประกาศใช้กับหลายประเทศในทั่วโลกซึ่งจะส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงกับทั่วทั้งโลกอย่างไรนั้น ยังคงต้องติดตาม ตอนนี้ยังมองไม่ออก ส่วนธุรกิจของ MCS ตอนนี้มีงานรองรับยาวไปถึงปี 2032 แล้ว และบริษัทไม่ได้มีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะระยะทางขนส่งสินค้าไกลเกิน ทำให้ประเด็นภาษีสหรัฐฯ จึงไม่กระทบกับธุรกิจบริษัทฯ” ดร.ไน ยวน ชิ กล่าว
ส่วนกรณีผลกระทบเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในเมียนมาที่มีผลกระทบถึงประเทศไทย มองว่าเป็นผลกระทบต่อ Sentiment ของภาพรวมของภาคก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเหล็ก แต่มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว
สำหรับกรณีที่มีตึกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมานั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยผู้รับเหมาก่อสร้างจากจีน อีกทั้งใช้เหล็กจากบริษัทจีนที่ถูกสงสัยเรื่องมาตรฐานสินค้า ส่วนเหล็กที่ MCS นำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นเหล็กที่ได้คุณภาพ และมีมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการอาคารชั้นนำในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น หลายๆ โครงการ
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก อาจมีการปรับมาตรฐานของเหล็กของไทย เพื่อให้สามารถรองรับกับการเกิดแผ่นดินไหวไว้ด้วย ซึ่งข้อดีของเหล็กที่ผลิตและนำเข้ามาจากญี่ปุ่นนั้น ถูกกำหนดให้ต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวตามมาตรฐานของญี่ปุ่น คือ ไม่ต่ำกว่า 6.8 เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง และเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ส่งผลให้เหล็กที่ใช้สร้างอาคารในประเทศญี่ปุ่นถูกกำหนดให้ต้องมีมาตรฐานรองรับแผ่นดินไหวได้ โดยมีข้อดีคือมีความแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นมากกว่าเหล็กที่ผลิตจากประเทศอื่นๆ แต่จะมีราคาที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเหล็กที่ผลิตจากประเทศอื่นๆ เช่นกัน