สถานการณ์เงินเฟ้อกระทบต้นทุนวัตถุดิบ-พลังงานร้านอาหารในอเมริกาพุ่งไม่หยุด เชนยักษ์ใหญ่อย่าง McDonald’s และ Starbucks งัดความได้เปรียบเข้าถึงกระแสเงินสด มีอำนาจต่อรองสั่งซื้อวัตถุดิบ ขณะที่รายเล็กปรับตัวได้เร็วกว่า
CNBC รายงานว่า ปัญหาอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อต้นทุนธุรกิจร้านอาหารในอเมริการวมถึงประเทศในแถบยุโรปพุ่งสูง จึงต้องปรับตัวรับมือรอบด้าน โดยผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีความได้เปรียบในแง่ของการเข้าถึงกระแสเงินสดและการบริหารจัดการต้นทุนมากกว่ารายเล็ก
ตามรายงาน Black Box Intelligence ผู้ติดตามอุตสาหกรรมระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น 8.6% เนื่องจากร้านอาหารต่างๆ มีการปรับขึ้นราคา เพื่อรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน และพลังงาน ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจมีส่วนทำให้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาทราฟฟิกร้านอาหารสาขาเดิมเริ่มหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อารอน อัลเลน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของที่ปรึกษาด้านร้านอาหาร Aaron Allen & Associates ได้เปรียบเทียบเครือข่ายร้านอาหารที่มีสเกลใหญ่มักจะปรับตัวได้ช้ากว่าร้านอาหารขนาดเล็ก ที่แม้อาจจะไม่สามารถเข้าถึงกระแสเงินสดได้ แต่ก็สามารถปรับตัวได้เร็วกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินเฟ้ออังกฤษเดือน ต.ค. พุ่งแตะ 11.1% สูงสุดในรอบ 41 ปี คาด BOE เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยถึง 4.5% เพื่อหยุดความร้อนแรง
- บุฟเฟต์ สลัดบาร์ 139 บาท วันธรรมดาคงไม่เห็นอีกแล้ว เมื่อ ‘Sizzler’ ปรับขึ้นราคาเต็ม 199 บาทรับต้นทุนพุ่ง
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารรายเล็กหากปรับราคาอาหารจานหลักสูงเกินไปแล้วลูกค้าลดลง ก็สามารถเปลี่ยนราคา ลดขนาดเมนูลง หรือแม้แต่นำรายการนั้นออกจากเมนูได้อย่างรวดเร็ว ส่วนร้านเชนใหญ่หากต้องเปลี่ยนราคาต้องทำให้เท่ากันทุกสาขา
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์อาหาร Datassential บอกว่า ร้านอาหาร รถขายอาหาร และร้านโกสต์คิตเชน กว่า 843,000 แห่งในอเมริกา ประมาณ 37% เพิ่งลงนามในข้อตกลงสำหรับการจัดหาวัตถุดิบไก่ล่วงหน้าในปี 2023 โดยคาดว่าจะช่วยให้ต้นทุนประหยัดได้ประมาณ 2%
เดฟ โบนนิกฮอสัน ซีอีโอของ Noodles กล่าวว่า หลังจากร้านอาหารมีการสั่งซื้อวัตถุดิบจำนวนมากขึ้น ทำให้ซัพพลายเออร์ให้ความสำคัญกับร้านสเกลใหญ่มากกว่า เพราะมีความแน่นอนในแง่ของปริมาณการซื้อ
เช่นเดียวกับร้าน McDonald’s และ Starbucks ซึ่งเป็นผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ สามารถบริหารจัดการต้นทุนและมีอำนาจต่อรองการซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ได้ เนื่องจากมีสาขาจำนวนมาก รวมถึงมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้บริโภคก็ยินดีจ่าย
จากการสำรวจผู้บริโภคประมาณ 2,400 คนในอเมริกา ที่จัดทำโดย PYMNTS พบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า ในการเลือกเข้าร้านอาหารเครือข่ายใหญ่ ราคาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ขณะที่ 22.5% บอกว่า ราคาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกร้านอาหารทั่วไป
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้มีความซับซ้อนมากขึ้น และยังคงต้องจับตาดูต่อไป
อ้างอิง: