×

เมย์-เจ เมื่อรักไม่ใช่เรื่องของคนสองคน

18.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • เมย์ พิชญ์นาฏ เปิดใจกับผู้สื่อข่าวทั้งน้ำตา หลังประกาศเลิกรากับ เจ ชนาธิป ว่า “คนอาจจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องคนสองคน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่หรอก แค่เรารักกันมันไม่พอ”
  • จากผลการสำรวจคนไทยทั่วประเทศเผยว่า ร้อยละ 18.2 ปล่อยให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ให้
  • ดีเจอ้อย นภาพร ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่สำคัญและจะทำให้ปัญหานี้ผ่านพ้นไปได้ก็ต้องอยู่ที่คนกลางว่าจะหนักแน่นแค่ไหนในการเดินหน้าต่อ”

กลายเป็นข่าวดังช็อกวงการบันเทิงและกีฬาที่มีคนพูดถึงตลอดทั้งวัน สำหรับการประกาศตัดความสัมพันธ์แบบสายฟ้าแลบของนักแสดงสาวคนดัง เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร กับแฟนหนุ่มนักฟุตบอล เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่ฝ่ายหญิงออกมาเปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ในภายหลังว่า สาเหตุที่ต้องเลิกรากันเป็นเพราะครอบครัวของฝ่ายชายไม่ยอมรับ หลังมีการพูดคุยกันเรื่องแต่งงาน


เมย์เปิดใจกับผู้สื่อข่าวทั้งน้ำตาตอนหนึ่งว่า “คนอาจจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องคนสองคน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่หรอก แค่เรารักกันมันไม่พอ”


หากถอยห่างออกจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักคนดังแล้วมองเรื่องความรักและการแต่งงานแบบกว้างๆ จะพบว่าปัญหา ‘ความรักไม่ลงตัวเพราะครอบครัวไม่ยอมรับ’ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ ‘เมย์-เจ’ เท่านั้น แต่ปัญหานี้คือปัญหาโลกแตกที่หลายคนต่างพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือไม่

 

ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน แต่การแต่งงานคือเรื่องของสองครอบครัว

จากผลสำรวจของโครงการสำรวจความเสี่ยงของครอบครัวไทย 2550 ที่ทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30,540 คนทั่วทั้งประเทศ ในหัวข้อการตัดสินใจในการใช้ชีวิตคู่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตัดสินใจสมรสด้วยตนเองร้อยละ 78.7 แต่น่าสนใจว่ายังมีคู่สมรสบางส่วนที่ปล่อยให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องชีวิตคู่ให้ถึงร้อยละ 18.2


แม้จะเป็นส่วนน้อยที่ปล่อยให้คนในครอบครัวชี้ชะตาเรื่องความรักให้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรอบข้างมีความสำคัญแค่ไหนกับการแต่งงาน


“เวลาที่เรามองเรื่องความสัมพันธ์ เราชอบพูดว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคน ก็คือคนสองคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกัน พัฒนาความสัมพันธ์จนถึงขั้นแต่งงานกัน แต่เอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะคนแต่ละฝ่ายต่างดำรงอยู่ท่ามกลางครอบครัว เครือญาติ เพื่อนฝูง คือไม่ใช่แค่ครอบครัวด้วยนะ แต่มีคนรอบๆ เต็มไปหมด แล้วทีนี้พอคุณจะมาอยู่ด้วยกัน เหมือนกับเริ่มต้นหน่วยใหม่กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก มันก็ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รู้จักกันในฐานะนักวิชาการ นักเขียน และนักตอบปัญหาความรัก ให้ความคิดเห็นกับ THE STANDARD ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นของคู่รักหลายคู่ที่ครอบครัวไม่เห็นด้วย


เช่นเดียวกับ ดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล นักจัดรายการด้านความรักอย่าง Club Friday ที่ผ่านประสบการณ์รับฟังปัญหาความรักมาอย่างยาวนานกว่า 13 ปี ให้ความเห็นว่า


“ต่อให้เป็นความรักที่ขึ้นอยู่กับคนสองคนก็ตามที แต่ในที่สุดแล้วถ้าจะเดินหน้าไปด้วยกันหรือสร้างครอบครัว ยังไงก็ต้องมีทั้งครอบครัวเขาและครอบครัวเราอยู่แล้ว มันมีทั้งครอบครัวที่สร้างเรา และครอบครัวที่เราสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าครอบครัวที่สร้างเราไม่พึงพอใจครอบครัวที่เราสร้าง ยังไงก็มีปัญหา”


แต่ถึงอย่างนั้น ดีเจอ้อยก็ยังยืนยันว่าไม่ใช่ทุกคู่ที่รักต้องพังเพราะครอบครัวไม่ยอมรับ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยผ่านปัญหาเดียวกันนี้มาก่อน คนที่สำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้ก็คือ ‘คนกลาง’

 

โจทย์ยากของ ‘คนกลาง’ จะเลือกทางไหนก็มีคนเจ็บ

ถ้ามองแบบไม่เข้าข้างฝ่ายไหนในโจทย์รักที่ยากลำบากนี้จะพบว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจำต้องเผชิญ ฝ่ายหนึ่งอาจรู้สึกว่าตัวเองคือคนนอกที่ไม่ได้รับการยอมรับ ฝ่ายครอบครัวเองก็คงเจ็บปวดไม่น้อยเมื่อต้องกลายเป็นตัวปัญหาระหว่างคนสองคน แต่ถึงอย่างนั้น ในมุมมองของดีเจอ้อยกลับรู้สึกว่า ‘คนกลาง’ น่าสงสารมากที่สุด


“หลายคนมักจะโทรมาปรึกษาพี่อ้อยว่ารู้สึกทุกข์ทรมานจังเลย เพราะพ่อแม่อีกฝ่ายไม่ยอมรับ แต่หลายครั้งเขาก็ลืมไปว่าคนที่ทุกข์กว่าเราก็คือคนกลาง เพราะอีกฝ่ายคือเลือดเนื้อเชื้อไข ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้าของหัวใจ ยิ่งมีแรงกดดันให้ต้องเลือก เป็นใครจะเลือกได้ เพราะคนทุกคนไม่ได้แปลว่ามีพ่อแม่แล้วไม่ต้องมีแฟน หรือมีแฟนแล้วไม่ต้องคบเพื่อน คนทุกคนมีความสำคัญในชีวิตของคนเราต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญและจะทำให้ปัญหานี้ผ่านพ้นไปได้ก็ต้องอยู่ที่คนกลางว่าจะหนักแน่นแค่ไหนในการเดินหน้าต่อ ซึ่งมีหลายคนที่ผ่านโจทย์นี้ไปได้ แต่พี่อ้อยพูดคำเดียวเลยว่าไม่ง่าย”


ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ มองว่าโจทย์รักข้อนี้ไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว เพราะจะเลือกคำตอบแบบไหนต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในชีวิตของคนแต่ละคู่ หลายคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการทำให้ทั้งสองฝ่าย ‘ไม่ต้องยุ่งกัน’ แม้จะเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงปัญหา แต่ถ้าสบายใจก็เป็นทางเลือกที่ดี ขณะที่บางคนพยายามแก้ปัญหาด้วยการปรับจูนทั้งสองฝ่ายให้เข้าใจกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ยากลำบากไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นตัวแปรก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คนแค่สองคน


“ครอบครัวหรือพ่อแม่เองก็อาจจะต้องคิดเหมือนกันว่าอะไรคือความพอดีของลูกเรา คือมันต้องปรับตัวกันทั้งหมด ปัญหาคือคนมักจะจับจ้องไปที่คู่ที่จะแต่งงานกันมากกว่า แต่จริงๆ แล้วเมื่อมันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย เวลาแก้ก็ต้องอาศัยทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน”

 

ทุกข์ของคู่รักคนดัง เมื่อเรื่อง ‘ส่วนตัว’ กลายเป็นเรื่อง ‘ส่วนรวม’

ไม่เพียงแต่ปัญหารักไม่ลงตัวเพราะครอบครัวไม่ยอมรับเท่านั้นที่ทำให้คู่รักอย่าง ‘เมย์-เจ’ กลายเป็นเพียงอดีต แต่ปัญหาหนึ่งที่ทั้งคู่ต่างเจอเมื่อเริ่มต้นคบหากันคือกองเชียร์-กองแช่งของทั้งสองฝ่ายที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นเรื่องยากและซับซ้อนขึ้นไปอีก


“ความสัมพันธ์และการแต่งงานมันไม่ใช่เรื่องของคนสองคน และไม่เคยเป็นเรื่องของคนสองคน ขนาดคุณไม่ใช่บุคคลสาธารณะ คุณยังรู้สึกตลอดเวลาเลยว่าคนอื่นจะมองความสัมพันธ์ของฉันอย่างไร ถูกต้องไหม เหมาะสมไหม แล้วลองคิดดูว่าเวลาคุณเป็นบุคคลสาธารณะ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทั้งชม เชียร์ หรือแช่ง มันจะดังขึ้นไปอีก มันก็จะทำให้การจัดการความสัมพันธ์ค่อนข้างลำบาก หมายถึงปัจจัยนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องที่ต้องจัดการ” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นชื่อเสียงของทั้งคู่


ส่วนดีเจอ้อยมองว่าการเป็นคนดังก็มีความน่าสงสารตรงที่เรื่องส่วนตัวจะกลายเป็นเรื่องส่วนรวม และการวิพากษ์วิจารณ์ก็สามารถเกิดขึ้นโดยไม่ต้องเกรงใจกัน เพราะคนมักจะมองว่า ‘เขาเป็นบุคคลสาธารณะ’ แต่หากมองเรื่องนี้ให้เป็นมากกว่าแค่ความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว เรื่องราวของ ‘คนดัง’ ก็สอน ‘คนธรรมดา’ อย่างเราได้เช่นกัน


“เอาเข้าจริง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนสองคนเขาผ่านอะไรมาบ้าง คนสองคนเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด มันอาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่ไม่สามารถบอกคนข้างนอกให้รู้ได้ หรือมีอะไรอีกเยอะแยะที่เขาสองคนรู้ แต่คนอื่นไม่รู้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีเราควรจะดูข่าวแล้วมาย้อนดูตัวว่าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นได้ คนธรรมดาอย่างเราที่ไม่ใช่คนดังก็เจอแบบนี้ได้ แล้วถ้าเป็นเรา เราจะทำยังไง เราจะคุยกับคนที่บ้านยังไง หรือทางออกที่ถูกต้องควรเป็นยังไง น่าจะมีประโยชน์กว่าการวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียว”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X