“อยากจะแจ้งให้ทุกคนทราบ ยิ่งคนที่ใกล้ชิดผมและได้สัมผัสผมในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาครับว่าผมเป็นโควิด-19 ครับ”
ผมนับถือในความกล้าหาญของ แมทธิว ดีน ที่โพสต์คลิปลงในอินสตาแกรมส่วนตัวว่าป่วยเป็นโควิด-19 เพราะในแง่หนึ่งข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นความลับที่ตัวผู้ป่วยเองเท่านั้นจะสามารถอนุญาตให้แพทย์แจ้งกับผู้อื่นได้ แต่เข้าใจว่าแมทธิวตัดสินใจเช่นนี้ก็เพื่อรีบแจ้งให้เพื่อนร่วมงานและผู้ที่พบเจอกันรีบแยกตัวและสังเกตอาการของตนเอง
ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมโรคของประเทศด้วย ผมจึงขออนุญาตใช้กรณีของ แมทธิว ดีน เป็นตัวอย่างในการอธิบายขั้นตอนการควบคุมโรค ในส่วนการค้นหาแหล่งโรคและผู้สัมผัส ว่าหลังจากทราบผลการตรวจว่า ‘พบเชื้อ’ (Detectable) และได้แยกผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคความดันลบ (Negative Pressure) ที่โรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง
- การค้นหาแหล่งโรค ในช่วง 14 วันก่อนเริ่มมีอาการ เนื่องจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน (น้อยสุด 1 วัน และมากสุด 14 วันตามรายงานขององค์การอนามัยโลก) หมายถึงว่า ถ้านับจากวันแรกที่แมทธิวได้รับเชื้อมา วันที่นานที่สุดที่จะสามารถแสดงอาการได้คือวันที่ 14 ดังนั้นจึงต้องซักประวัติย้อนกลับไปว่าผู้ป่วยเดินทางไปที่ไหน พบปะกับใครบ้าง ซึ่งถ้าเป็นนักแสดงอย่างแมทธิวจะมีผู้ที่พบเจอเยอะมาก
แต่การที่จะสามารถติดเชื้อต่อจากคนนั้นมาได้จะต้องเป็นการพบปะที่มีความ ‘เสี่ยงสูง’ ซึ่งจะพูดถึงต่อไปในการค้นหาผู้สัมผัส
- การค้นหาผู้สัมผัส จะนับตั้งแต่วันที่ผู้ป่วย ‘เริ่มมีอาการ’ จนถึงวันที่ได้รับการ ‘แยกรักษา’ ในห้องแยกโรค เพราะช่องทางการติดต่อหลักของโรคนี้คือละอองน้ำมูกน้ำลายหรือเสมหะ ไม่ว่าจะเป็นการสูดหายใจหรือการสัมผัสไปโดนตา จมูก ปาก ดังนั้นช่วงที่ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้คือช่วงที่มีอาการ ส่วนการแพร่เชื้อในขณะที่ไม่แสดงอาการมีความเป็นไปได้ แต่น้อยมากระดับผู้ป่วยรายกรณี (Case Report)
กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า แมทธิวเริ่มมีอาการวันที่ 11 มีนาคม จากนั้นไปรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่โรงพยาบาลเอกชน และได้รับการแยกโรคในวันที่ 13 มีนาคม ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อคือผู้ที่พบปะกันในระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม หรือที่แมทธิวกล่าวในคลิปว่า “ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา” แต่… แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พบปะกับเขาจะมีความเสี่ยงเท่ากันหมด เพราะละอองน้ำมูกน้ำลายนี้จะติดต่อในระยะ 1-2 เมตรเท่านั้น
ดังนั้นในแนวทางการสอบสวนโรค จึงแบ่งผู้สัมผัสออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำ โดยผู้สัมผัสความ ‘เสี่ยงสูง’ ได้แก่ ผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น พักอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน ผู้ที่พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที โดนไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย หรือนั่งใกล้ผู้ป่วยในสถานที่ปิด เช่น นั่งในรถโดยสารในระยะ 1 เมตร นานกว่า 15 นาที ส่วนที่เหลือจัดเป็นผู้สัมผัส ‘ความเสี่ยงต่ำ’
- การติดตามผู้สัมผัสต่อไปอีก 14 วันนับจากวันที่สัมผัสกับผู้ป่วย ‘ครั้งสุดท้าย’ (อาจเจอกันหลายครั้งก่อนหน้านี้) ตัวเลข 14 วันนี้มีที่มาเหมือนกันกับการค้นหาแหล่งโรคคือ วันที่พบปะกันวันสุดท้ายมีโอกาสได้รับเชื้อ แล้วนับต่อไปอีก 14 วันเพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้ ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วย
สำหรับผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงจะได้รับการตรวจหาเชื้อทันทีหากมีอาการ แต่ถ้าไม่มีอาการจะได้รับคำแนะนำให้กักตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการก่อนแล้วค่อยมารับการตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 นับจากการสัมผัสผู้ป่วย ‘ครั้งแรก’ (เพราะผู้สัมผัสมีโอกาสได้รับเชื้อตั้งแต่ครั้งแรก และระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน) หากผล ‘พบเชื้อ’ ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ แต่ถ้าผล ‘ไม่พบเชื้อ’ จะต้องกักตัวเองต่อจนกว่าจะครบ 14 วัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามด้วย
ส่วนผู้สัมผัสความเสี่ยงต่ำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะต้องสังเกตอาการตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น หากมีอาการผิดปกติต้องไปพบแพทย์เช่นกัน
ผมสังเกตเห็นสื่อออนไลน์หลายสำนัก รวมถึง THE STANDARD POP ได้รวบรวมประวัติการพบปะของแมทธิวกับเพื่อนร่วมวงการบันเทิงไว้หลายกลุ่ม สิ่งที่สำคัญคือโควิด-19 ติดต่อผ่านละอองน้ำมูกน้ำลายเป็นหลัก โอกาสที่คนรอบข้างจะได้รับเชื้อก่อนหน้าที่เขาจะมีอาการจึงต่ำ ผู้สัมผัสแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน แต่ทุกคนที่มีความเสี่ยงจะต้องสังเกตอาการตัวเองจนครบ 14 วัน ถึงแม้ผลการตรวจในระหว่างนี้จะไม่พบเชื้อก็ตาม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- แนวทางการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/guidelines/G_Invest_03_2.pdf
- Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/who-china-joint-mission-on-covid-19-final-report.pdf