ในยุคที่นักฟุตบอลมีสถานะเทียบเท่าเซเลบริตี้และดารา ในยุคที่นักฟุตบอลมีเงินรายได้มากมายมหาศาลจากทั้งการทำหน้าที่ในสนามและการเป็นตัวแทนสินค้านอกสนาม คุณคิดว่าใครคือนักฟุตบอลที่ ‘รวย’ ที่สุดในโลกครับ?
คริสเตียโน โรนัลโด? ลิโอเนล เมสซี? เนย์มาร์? หรือจะเป็นรุ่นเดอะอย่าง เดวิด เบ็คแฮม?
ถ้าเอาในความเข้าใจทั่วไป เรื่อยไปจนถึงการจัดอันดับโดยสำนักข่าวที่น่าเชื่อถืออย่าง Forbes ก็ไม่ผิดแผกไปจากนั้นครับ
แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีนักฟุตบอลอีกหนึ่งคนที่อยู่เหนือกว่าเหล่าซูเปอร์สตาร์ระดับโลกเหล่านี้ และเอาเข้าจริงฐานะของเขานั้นอาจจะเรียกได้ว่าอยู่เหนือ ‘กฎเกณฑ์’ ใดๆ เลยด้วยซ้ำ
เพราะเงินรายได้ของ โรนัลโด, เมสซี, เนย์มาร์ หรือ เบ็คแฮม รวมกันก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับสิ่งที่เขามีในวันนี้
นักฟุตบอลคนนี้มีเงินหลัก ‘แสนล้าน’ ในวัยเพียงแค่ 36 ปี และยังทำหน้าที่ในสนามอยู่เลยด้วยซ้ำ
ผมเชื่อว่าบางคนน่าจะรู้จักเขาบ้าง และบางคนอาจจะคิดว่ารู้จักเขาดี แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่านักฟุตบอลคนนี้ยังมีชีวิตอีกด้านที่มหัศจรรย์ และมีความฝันที่ยิ่งใหญ่เพื่อโลกที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้
มาทำความรู้จักกับเรื่องราวที่เหลือเชื่อของ มาติเยอ ฟลามินี อดีตกองกลางทีม ‘ปืนใหญ่’ อาร์เซนอล กันดูครับ
อีลอน มัสก์ แห่งวงการฟุตบอล
เอ่ยชื่อของ มาติเยอ ฟลามินี ขึ้นมา แฟนฟุตบอลอังกฤษน่าจะพอคุ้นเคยกันอยู่บ้างกับกองกลางชาวฝรั่งเศส ที่เคยเป็นขุนพลคู่บุญของ อาร์เซน เวนเกอร์ ชนิดที่เป็นแกนหลักของทีมระดับที่ขาดไม่ได้อยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ภาพในความทรงจำของหลายคนกับ ฟลามินี คือภาพของ ‘มิดฟิลด์กันชน’ อยู่หน้าแนวรับของทีมกันเนอร์ส ที่มีการเข้าสกัดบอลที่แม่นยำ การอ่านทางบอลที่เฉียบขาด และการเล่นตามบทบาทที่ผู้จัดการทีมกำหนดได้เป็นอย่างดี
แต่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนเลยว่ากองกลางผู้เงียบขรึมจะมีชีวิตอีกด้านกับการเป็นเจ้าของบริษัท ‘สตาร์ทอัพ’ ด้านพลังงาน ที่เป็นผู้นำในตลาดซึ่งมีการประเมินกันว่ามีมูลค่า 20,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ราว 880,000 ล้านบาท!
เงินจำนวนดังกล่าวนั้นมากมายมหาศาลมากครับ ชนิดที่ว่าบนโลกนี้ไม่น่าจะมีนักฟุตบอลคนไหนหารายได้ได้มากเท่านี้อีกแล้ว (ถ้าไม่นับ ฟาอิก โบลเกียห์ ลูกชายสุลต่านบรูไน ที่ค้าแข้งในทีมสำรองของเลสเตอร์เวลานี้) เพราะระดับ โรนัลโด หรือ เมสซี เองยังทำรายได้แค่หลัก 80-93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,480-2,790 ล้านบาท) ในรอบปี 2017 ที่ผ่านมา
หรือแม้แต่นักกีฬาที่ Forbes ประเมินว่ามีเงินมากที่สุดในโลกอย่าง ไมเคิล ‘แอร์’ จอร์แดน ยังมีเงินแค่ 1.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 57,350 ล้านบาท
หลายคนน่าจะมีคำถามว่า ฟลามินี เตะฟุตบอลอยู่ดีๆ แล้วไปเป็นเจ้าของบริษัทได้อย่างไร?
เรื่องมันมีอยู่ว่า ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่เขาถูกปล่อยตัวออกจากทีมอาร์เซนอล และย้ายไปอยู่กับทีมเอซี มิลาน ในอิตาลี เป็นช่วงเวลาเขาได้พบกับ ปาสกวาเล กรานาตา นักธุรกิจหนุ่มอีกคน
ไม่ว่ามันจะเป็นเพราะโชคชะตาหรืออะไรก็ตาม ฟลามินีและเพื่อนใหม่เห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่งโดยให้ชื่อว่า GF Biochemicals
โดยธุรกิจของ GFB (ขออนุญาตเรียกสั้นๆ) คือการผลิต ‘พลังงานทดแทน’ ที่มีพื้นฐานจาก ‘กรดเลวูลินิค’ (Levulinic Acid) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 โมเลกุลหลักที่กระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE) ระบุว่าเป็น ‘Building Blocks’ ที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นสารเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งสามารถสกัดได้จากขยะที่เคยถูกทอดทิ้งอย่างไม่มีประโยชน์มาก่อนอย่างเช่น ซังข้าวโพด หรือเศษไม้
ทีเด็ดคือกรดชนิดนี้มันมีความมหัศจรรย์ในระดับที่ว่ากันว่าสามารถจะกลายเป็นพลังงานทดแทน ‘น้ำมัน’ ได้ในอนาคต (และแน่นอนยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย)
นั่นหมายถึงมันอาจจะเป็นหนทางที่จะนำ ‘สีเขียว’ กลับมาสู่โลกในอนาคตได้เลยทีเดียว
เรื่องนี้ฟลามินีเก็บงำเป็นความลับไว้แม้แต่ครอบครัวเองก็ไม่รู้ จนกระทั่งในปี 2015 หรือกว่า 7 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท ที่เขาคิดว่าทุกอย่างพร้อมสำหรับการเปิดเผยให้โลกรู้ ทุกคนจึงได้รู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทแห่งนี้
GFB กลายเป็นบริษัทแรกในโลกที่สามารถผลิตกรดเลวูลินิคในระดับภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งอย่างที่บอกครับว่ามีการประเมินมูลค่าของตลาดนี้ไว้ (เมื่อปี 2015) ว่าสูงถึง 20,000 ล้านปอนด์
และนับจากวันที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการพวกเขามีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 2016 GFB เทกโอเวอร์บริษัท Segetis ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องของการผลิตกรดเลวูลินิคในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 250 รายการ ซึ่งมีตั้งแต่การผลิตน้ำหอม, พลาสติก, ไบโอโพลีเมอร์ หรือโพลีเมอร์ชีวภาพ, ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย, อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านและโรงงานอุตสาหกรรม, สารเคมีสำหรับใช้ในการเกษตร ไปจนถึงกระดาษกาว
นั่นหมายถึงการที่ GFB พร้อมที่จะผลิตสินค้าที่ใช้ในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมได้มากมาย และใกล้ตัวกว่าที่เราคาดถึง
ก่อนที่ในปี 2017 GFB จะประกาศความร่วมมือกับบริษัท American Process Inc. หรือ API ซึ่งเป็นบริษัทที่กลั่นน้ำตาลเซลลูโลสจากหญ้าหรือต้นไม้ ซึ่ง GFB จะใช้เพื่อทำการสกัดเอากรดเลวูลินิคออกมา ทำให้มีการประเมินว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตกรดเลวูลินิคจาก 10,000 ตันต่อปี เป็นมากที่สุดถึง 200,000 ตันต่อปี
แน่นอนว่าในปีนี้ ปีหน้า และปีถัดไป GFB ย่อมไม่หยุดอยู่แค่นี้ครับ พวกเขายังไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก เพราะหลังเริ่มในตลาดหลักในสหรัฐฯ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ เป้าหมายต่อไปของ GFB อยู่ที่บราซิล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จีน ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลแบบไม่รู้จะนับตัวเลขอย่างไร
ฟังเรื่องราวของ ฟลามินี แล้วยิ่งรู้สึกทึ่ง
ส่วนตัวผมแอบคิดถึงคำว่า ‘อีลอน มัสก์ แห่งวงการฟุตบอล’
เป้าหมาย ความฝัน และความสุข
ตัวเลขมูลค่าของตลาดในธุรกิจของบริษัท GF Biochemicals อาจจะทำให้ใครต่อใครตาลุกวาว และทึ่งไปกับความร่ำรวยล้นฟ้าของฟลามินี
แต่สำหรับเขาแล้วเงินไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด
โลกใบใหม่ในโลกใบเก่าที่สะอาดกว่า ดีกว่า ที่จะเป็น ‘มรดก’ ไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่างหากคือสิ่งแรกที่เขาคิดถึง
“ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับธรรมชาติมาตลอด และผมรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และเรื่องโลกร้อน (Global Warming)’ ฟลามินีให้สัมภาษณ์ไว้ในวันเปิดตัวบริษัทของเขาเป็นวันแรก”
ฟลามินีหวังว่ากรดเลวูลินิคจะช่วยลดปัญหาคาร์บอนในโลก ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล (ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ) ที่มีน้อยลงและสร้างปัญหาให้แก่สิ่งแวดล้อมตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
“ในเวลานั้น เขา (ปาสกวาเล) เองก็สนใจในเรื่องปัญหาโลกร้อน และเราเห็นตรงกันว่าเราควรที่จะทำอะไรสักอย่าง ซึ่งหลังจากที่เราได้มีการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ เราจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาไบโอเทคโนโลยีนี้ขึ้นร่วมกัน”
ฟลามินีและปาสกวาเล ร่วมกันค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้กับทีมนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปิซา (University of Pisa) เป็นระยะเวลา 7 ปีจนพบความมหัศจรรย์ของกรดเลวูลินิค ที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว
ในอีกด้าน GFB ของเขายังช่วยแก้ปัญหาการตกงานที่รุนแรงในอิตาลี โดยมีการจ้างคนงาน 80 คนทำงานในโรงงาน และมีเจ้าหน้าที่อีกกว่า 400 ชีวิตที่ขับเคลื่อนบริษัทที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
“ต้องบอกว่าผมโชคดีมาก” ฟลามินี กล่าว “เรามีทีมที่แข็งแกร่งมากที่จะทำงานในแต่ละวัน ซึ่งได้ทีมมาจากบริษัทที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์เดิม ส่วนตัวผมเองจะทำในส่วนของการกำหนดกลยุทธ์ให้แก่บริษัท”
แต่ไม่ใช่ว่าพอเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่โตร่ำรวยมหาศาลแล้ว ฟลามินีจะทิ้งชีวิตลูกหนังไว้เบื้องหลังครับ
ฟุตบอลยังเป็น ‘ที่หนึ่งในใจ’ สำหรับเขาเหมือนเดิม
ปัจจุบันฟลามินีในวัย 34 ปียังคงค้าแข้งอยู่ครับ โดยล่าสุดเพิ่งจะย้ายจากคริสตัล พาเลซ ไปอยู่กับทีมเคตาเฟ ในลาลีกา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมา
เขายังตื่นเช้าไปซ้อมเหมือนเดิม และยังคงเฝ้ารอคอยโอกาสที่จะได้ลงสนามเหมือนระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ฟลามินียังอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพไปตราบเท่าที่ ‘เวลา’ ของเขาในเส้นทางสายนี้ยังเหลืออยู่
แต่ผมคิดว่าไม่ผิดอะไรหากเราจะจดจำเขาในฐานะนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่
ไม่ใช่เรื่องของผลงานในสนาม หรือเรื่องเงินทองกองเท่าภูเขา
แต่ในฐานะคนที่คิดอยากทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะทำสำเร็จแค่ไหนก็ตาม
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/business-36037874
- www.101greatgoals.com/news/social/mathieu-flamini-could-be-worth-20billion-arsenal-fans-go-nuts-best-tweets
- www.dailymail.co.uk/sport/football/article-3318339/Mathieu-Flamini-keeping-secret-seven-years-pioneering-company-revolutionise-energy-industry-make-20bn.html
- www.thenational.ae/business/how-mathieu-flamini-and-asamoah-gyan-are-making-money-away-from-the-football-pitch-1.147441
- www.verdict.co.uk/flamini-biochemical-company
- www.seem.kmutt.ac.th/research/pentec/images/Biomass%20derived%20chamcals.pdf
- Levulinic Acid จัดเป็นสารเคมีที่น่าสนใจ เนื่องจากกรดดังกล่าวสามารถได้มาจากการย่อยสลายโมเลกุลของเซลลูโลส ที่มีอยู่ใน Non-Food Biomass หลายๆ ชนิด เช่น ผักตบชวา (Water Hyacinth) ซึ่งการใช้พืชหรือชีวมวลดังกล่าวจะมีข้อดีในด้านของการไม่มีผลกระทบหรือแข่งขันกับห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งพืชดังกล่าวยังมีปริมาณมากและมีอัตราการเติบโตสูงในขณะที่มูลค่าของของพืชดังกล่าวต่ำ และบางครั้งถือเป็นขยะทางการเกษตร*
- ตัวอักษร GF จากชื่อบริษัท GF Biochemicals มาจากนามสกุลของทั้งสองคือ กรานาตา และ ฟลามินี นั่นเอง
- ฟลามินีมองว่าธุรกิจของเขายังเป็น ‘ทางออก’ จากเกมฟุตบอลด้วย เพราะชีวิตการเล่นฟุตบอลนั้นย่อมมีขึ้นมีลง และมันทำให้เขาได้คิดถึงอะไรที่แตกต่างออกไป และยังเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตด้วย
- นอกจากฟลามินียังมีนักฟุตบอลที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจอื่นๆ เช่น กียาน อซาโมอาห์ กองหน้าทีมชาติกานา ที่เคยถูกตราหน้าว่า ‘บ้าเงิน’ ในการย้ายไปเล่นในตะวันออกกลางและจีน ก็ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับการคมนาคม โดยได้โครงการสร้างทางด่วนในบ้านเกิดมาแล้วกว่า 20 โครงการ หรือ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ที่ร่ำรวยจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
- ความมั่งมีของฟลามินี ทำให้มีกันเนอร์สจำนวนไม่น้อยหวังว่าเขาจะกลับมาซื้อสโมสรคืนจากสแตน โครเอนเก้…เผื่ออนาคตของอาร์เซนอลจะดีขึ้น
- ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทนมานานแล้ว อาทิ น้ำมันแก๊สโซฮอล์, ไบโอดีเซล, ดีโซฮอล์ และอีกมากมาย ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องการใช้พลังงานว่า “…ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่ เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมด ภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อน…” พระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. 2548