×

Mastercard เตรียมเปิดใช้งานระบบชำระเงินไบโอเมตริกซ์ในเอเชียที่มีไทยเป็นประเทศหมุดหมายหัวแถว

06.12.2023
  • LOADING...
Mastercard

Nikkei Asia รายงานความร่วมมือระหว่าง Mastercard หนึ่งในเครือข่ายชำระเงินระดับโลก และ NEC บริษัทเทคสัญชาติญี่ปุ่น ถึงแผนการเปิดร้านค้าที่ใช้ระบบชำระเงินแบบสแกนใบหน้า โดยเฟสทดลองจะเริ่มในปีหน้ากับตลาดอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย นำหน้าตลาดฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป

 

ความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศฝั่งเอเชียอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดย 80% ของธุรกรรมจากการเปิดเผยของ Mastercard ระบุว่าเป็นธุรกรรมแบบ ‘ไร้สัมผัส’ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัททั้งสองจึงเลือกปักหมุดมาที่เอเชีย

 

Karthik Ramanathan หนึ่งในผู้บริหารของ Mastercard ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า “ในฐานะผู้ที่ดูแลตลาดในภูมิภาคเอเชีย ผมคิดว่าผู้บริโภคในพื้นที่นี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด และผมเชื่อว่าตอนนี้เอเชียพร้อมแล้วเช่นกันสำหรับประสบการณ์ชำระเงินแบบไบโอเมตริกซ์”

 

นอกจากสิงคโปร์กับอินโดนีเซียแล้ว เป้าหมายประเทศถัดมาในเอเชียก็คือไทย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

 

การชำระเงินด้วยวิธีไบโอเมตริกซ์นี้เพียงให้ฝั่งของผู้ใช้งานลงทะเบียนโปรไฟล์และรูปถ่ายของตนเองผ่านสมาร์ทโฟน แค่นี้ก็สามารถชำระเงินได้โดยง่าย แค่มองกล้องบนจอแท็บเล็ตและไม่ต้องสแกนหรือรูดบัตรเลย ส่วนในฝั่งของธุรกิจก็สามารถจำกัดต้นทุนในส่วนของการติดตั้งเครื่องชำระเงินแบบเดิมได้อีกด้วย

 

“หากความคาดหวังของลูกค้าคือประสบการณ์ชำระเงินที่ไร้รอยต่อ การชำระเงินแบบไบโอเมตริกซ์จะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์นั้น และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีจะมีความได้เปรียบ” Ramanathan กล่าว

 

การชำระเงินรูปแบบนี้ถูกพัฒนาโดยใช้ระบบจาก NEC ซึ่งเป็นระบบที่มีความแม่นยำมากที่สุดตัวหนึ่งในโลก โดย NEC มีประสบการณ์ในด้านนี้มานานตั้งแต่ปี 1991 ที่นำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ไปใช้กับบัตรประชาชนของชาวสิงคโปร์ และขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองในเวลาต่อมา

 

นอกจากนี้ NEC ยังต้องการขยายการใช้งานไปยังภาคการเงิน โดยในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้งานแล้วสำหรับการเปิดบัญชีธนาคารที่ต้องอาศัยการยืนยันตัวตนออนไลน์

 

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันสำหรับความเหมาะสมในการใช้งานวิธีการสแกนใบหน้า ซึ่ง Mastercard ก็ตระหนักถึงข้อกังวลเหล่านี้ และเตรียมพร้อมกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นแผนการลดความเสี่ยงดังกล่าวคือข้อมูลไบโอเมตริกซ์ที่ใช้ยืนยันตัวตน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจะไม่ถูกเก็บไว้บนเครื่องมือสื่อสาร “มันจะต้องถูกลบโดยทันที เมื่อเป็นเช่นนั้น การแฮ็กหรือการใช้งานที่ผิดจุดประสงค์ก็แทบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย” Ramanathan กล่าวเสริม

 

ในระหว่างที่รายละเอียดของระบบการชำระเงินนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนา ทาง Mastercard ยืนยันว่าผู้ใช้งานมีสิทธิ์ที่จะเป็นคนเลือกว่าพวกเขาอยากจะชำระเงินผ่านวิธีไบโอเมตริกซ์ที่ไหนบ้าง

 

“เราต้องการให้ลูกค้าเป็นผู้ควบคุมการใช้งานข้อมูลของตัวเอง เพราะเราให้ความสำคัญกับความสบายใจของผู้ใช้งานในการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ตนสามารถเลือกเองได้”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising