หลังจากที่ใช้วิธีการเร่ขายลิขสิทธิ์การ์ตูนเป็นเรื่องๆ ให้ตามสตูดิโอหนังมาเป็นเวลานานเพื่อเอาเงินด่วนๆ มากู้วิกฤตบริษัทที่กำลังจะล้มละลายในช่วงปี 1996 จนต้องเลย์ออฟคนมากมาย ก็มีคนเสนอไอเดียกับทางบริษัทมาร์เวลว่าทำไมต้องไปขายลิขสิทธิ์ทำหนังให้คนอื่น ทำไมไม่ทำเองไปเลย (จะได้ได้เงินเต็มๆ ไม่ต้องรอรับส่วนแบ่งอันน้อยนิดจนเหมือนแทบจะไม่ได้อะไร) ซึ่งถ้าทำแบบนี้ นอกจากมาร์เวลจะมีอิสระทางด้านการสร้างสรรค์แบบ 100% แล้ว พวกเขาจะสร้างการครอสจักรวาลของตัวละครแต่ละตัวแบบที่การ์ตูนมาร์เวลชอบทำได้ด้วย เพราะถือลิขสิทธิ์ของตัวละครทุกตัวเอาไว้ที่ตัวเอง ดังนั้นในปี 2005 มาร์เวลจึงกู้เงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐมาเพื่อสร้างหนังซูเปอร์ฮีโร่ภายใต้สตูดิโอของตัวเองในชื่อ Marvel Studios ให้สำเร็จภายใน 7 ปี ก่อนที่ลิขสิทธิ์เรื่อง Captain America, The Avengers, Black Panther, Ant-Man, Dr.Strange และอีกหลายตัวละครจะกลายเป็นของธนาคารที่ปล่อยกู้ แน่นอนว่าการทำหนังเรื่องหนึ่งมันไม่ได้ง่ายเหมือนทำการ์ตูน
แต่สุดท้าย Iron Man ภาคแรกก็ออกมา และนั่นคือหนังเรื่องแรกของ Marvel Studios และคือปีที่ 1 ของ Marvel Cinematic Universe
Avengers: Infinity War เป็นทั้งจุดจบและจุดเริ่มต้นของมาร์เวล เพราะมันคือหนังครบรอบ 10 ปีของบริษัท Marvel Studios และในตัวเนื้อเรื่องก็เหมือนพยายามจะทำให้มันเป็นจุดสิ้นสุดของหลายๆ อย่าง (ซึ่งแน่นอนว่า) อย่างไรแล้วพวกพี่เขาก็ไม่ยอมให้จบง่ายๆ แบบนั้นแน่นอน เราเลยเรียกว่ามันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของมาร์เวลในการเป็นสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่จะดำเนินต่อไปเป็น 10-20 ปี ไม่ใช่แค่บริษัทหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่มาสร้างยุคสมัยเป็นของตัวเองในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แล้วก็ค่อยๆ จบไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาหนังแบบ The Lord of the Rings และ Harry Potter
10 ปีของมาร์เวลนั้น แม้อาจจะมีจุดเริ่มต้นแผนการเพื่อปลดหนี้ แต่มันก็คือแผนการระยะยาวที่แยบยล การเตรียมตัวสร้างจักรวาล เอาตัวละครตัวนั้นมาฟีเจอริงกับอีกตัวละครในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันคล้ายๆ กับการวางแผนทำซีรีส์ซีซันหนึ่งแล้วมีหลายๆ ตอนที่ในโปรเจกต์นั้นจะต้องมีหัวเรือใหญ่คอยสั่งการว่าซูเปอร์ฮีโร่คนไหนควรมาโผล่ในหนังเรื่องไหน ร้อยเรื่องกันอย่างไร มีปมกันทำไม เพื่อที่จะให้สุดท้ายหนังทุกเรื่องจะมารวมกันได้ในตอนจบที่ Infinity War ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงไม่ใช่ความสะเปะสะปะสร้างนั่นสร้างนี่ไปเรื่อยๆ ตามกระแสนิยมแต่อย่างใด
ความแจ๋วของแผนการนี้คือมันเป็นทั้งการสร้างความคุ้นเคยระหว่างคนดูและตัวละคร ว่าง่ายๆ คือโผล่มาเกือบทุกปี ถี่ขนาดนี้ยังไงก็ต้องจำได้ เมื่อความผูกพันเริ่มขึ้น การติดตามดูต่อไปเรื่อยๆ (เหมือนคนติดละคร) ก็จะตามมา คราวนี้ไม่ว่าคุณจะชอบ Iron Man 2 หรือไม่ ยังไงคุณก็ต้องดู Iron Man 3 เพราะถ้าคุณไม่ดู Iron Man 3 เดี๋ยวคุณจะไปต่อกับ The Avengers 2 ไม่ได้ กลายเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของคนดูที่จะต้องดูให้ครบทุกเรื่องราวกับโดนบังคับให้เก็บสะสมสติกเกอร์หรือปั๊มตราเช็กพอยต์
ดังนั้น 10 ปีในการติดตามอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานเลยสำหรับคนดู เพราะในทุกๆ ปีมันจะมีโปรเจกต์ที่น่าสนใจรอให้พวกเขาได้ติดตามชะตากรรมและพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัวไปเรื่อยๆ เช่น การเป็นไอรอนแมนนั้นก็ไม่ได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ปรากฏตัวในหนังในแต่ละเรื่อง แต่โทนี สตาร์ก จะมีความคิดความอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจาก Iron Man ภาคแรกมาจนถึง Infinity War ตามเหตุการณ์ที่เขาเจอในรอบ 10 ปี อะไรแบบนี้ก็ยิ่งเพิ่มความอยากติดตามให้กับคนดูมากขึ้นไปไม่มีวันสิ้นสุดราวกับได้ตามดูชีวิตคนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เหนืออื่นใด หนังมาร์เวลแต่ละเรื่องนั้นเหมือนเป็นหนังที่สร้างโดยคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ มาช่วยกันทำ หนังของมาร์เวลไม่เคยหยุดนิ่งในเรื่องไดเรกชันต่างๆ เช่น การที่เอา ไทกา ไวติติ มาทำหนัง Thor: Ragnarok คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าพวกเขากล้าที่จะเปลี่ยนโทนหนังต่างๆ เพื่อสร้างความคาดเดาไม่ได้ให้กับคนดู และสร้างงานทางเทคนิคใหม่ๆ ทางวิชวลหรือภาพให้กับคนดูอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนโครงเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยได้ก็ตามที
การเดินตามทุกอย่างที่วางไว้ก็เป็นทั้งเรื่องดีกับเรื่องไม่ดี เรื่องที่ดีคือจักรวาลของเรื่องจะแข็งแรงมาก เป็นเอกภาพ ต่อเนื่อง และมั่นคงจนเราสามารถเรียก 10 ปีที่ผ่านมาว่า ‘ยุคหนังมาร์เวล’ ได้อย่างเต็มปาก เพราะทุกอย่างนั้นเหมือนเดิมเป๊ะ (ซูเปอร์ฮีโร่ต่อสู้ ทะเลาะ ร่วมมือกัน ฯลฯ) ส่วนเรื่องไม่ดีคือมันก็วนไปวนมาจนเราไม่รู้ว่าถ้าเกิน 10 ปีแล้วคนดูจะเบื่อหรือยัง
หมดจาก Infinity War หลายคนก็ตั้งคำถามว่ามาร์เวลจะเอาอย่างไรต่อ แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่หยุด แถมพวกเขาเตรียมแผนอีก 7 ปีมาเตรียมรอไว้แล้ว คราวนี้ไม่ใช่เรื่องการปลดหนี้ แต่เป็นการสร้างจักรวาลและยุคสมัยของพวกเขาให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นยาวไกล อาจจะ 20 ปี 30 ปี 40 ปี แต่สิ่งนั้นก็เป็นเรื่องที่คาดเดายาก เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าคนดูจะอยากดูซูเปอร์ฮีโร่สู้กันไปอีกนานเท่าไร
หากเปรียบกับ Pixar ทางฝั่งนั้นจุดแข็งคือเทคนิคทางด้านแอนิเมชัน แต่ด้านเนื้อเรื่องนั้นพวกเขาสามารถเปลี่ยนไปเล่าเรื่องอะไรก็ได้มากมาย ทำให้ไม่เกิดความซ้ำและช้ำ แต่ทาง Marvel Studios คงไม่สามารถจู่ๆ ไปสร้างหนังว่าด้วยพ่อปลาตามหาลูกปลาได้ พวกเขาต้องทำเรื่องของซูเปอร์ฮีโร่ไปเรื่อยๆ แบบอินฟินิตี้
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของมาร์เวลมันก็ไม่ใช่เรื่องฟลุก มันมีความเก่งกาจและเปี่ยมไปด้วยพลังอยู่ในหนังแต่ละเรื่องของมันเอง และหากใครสักคนสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากความชอบของตัวเองได้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ต่อให้ใครจะไม่ชอบหนังมาร์เวล แต่คุณก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาคือบริษัทพันล้านที่รอดชีวิตจากการล้มละลายมาได้ด้วยความรักที่มีต่องานของตัวเอง
ฟังดูโอเวอร์และเหนือจริง แต่มันก็สมกับบริษัทที่ทำงานว่าด้วยซูเปอร์ฮีโร่มากๆ
Photo: marvel.com