ณ ช่วงเวลานี้ที่มีการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ดัดแปลงจากคอมิกซูเปอร์ฮีโร่กันอย่างไม่หวาดไม่ไหว คงไม่เกินไปถ้าเราจะใช้คำว่า ‘เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคทองของฮีโร่’ และหนึ่งใน — หรือต้องใช้คำว่าตัวตั้งตัวตี— มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปลุกปั้นกระแสนี้ และนำเราเข้าสู่ยุคสมัยนี้คือ Marvel Studios
นับตั้งแต่เรื่องแรกอย่าง Iron Man ออกฉายในปี 2008 ถึงตอนนี้จักรวาลภาพยนตร์ Marvel หรือ Marvel Cinematic Universe (MCU) มีภาพยนตร์ใน Infinity Saga ที่เริ่มตั้งแต่เรื่องแรก และจบลงที่ Spider-Man: Far From Home รวมกันถึง 22 เรื่อง (+1 เรื่องคือ The Incredible Hulk หากจะนับ) ด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ใน Multiverse Saga หรือเรื่องราวหัวใหม่ที่เนื้อหาจะเกี่ยวกับพหุจักรวาล รวมกันทั้งที่ฉายไปแล้วและยังไม่ฉายราวๆ 20 เรื่อง และยังไม่นับซีรีส์ที่ลงทุนและโปรดักชันอลังการเลเวลเดียวกับภาพยนตร์ของ Disney+ ที่รวมกันทั้งหมดทั้งที่ออนแอร์จบแล้วและยังไม่ได้สร้างอีก 20 กว่าเรื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ซูเปอร์ฮีโร่ช่วยที! Marvel อาจประสบปัญหา หลังศิลปิน VFX ไม่อยากร่วมงานด้วยอีกต่อไป ชี้เป็นค่ายที่ ‘จัดการเรื่อง VFX ได้ห่วยที่สุดที่มีมา’
- สรุปไทม์ไลน์ภาพยนตร์และซีรีส์ Marvel Cinematic Universe เฟส 4-6
- Ms. Marvel การเดินทางของฮีโร่หญิงคนใหม่ ที่น่าสนใจในช่วงแรก และค่อยๆ ไต่ระดับลงเรื่อยๆ อย่างน่าเสียดาย
- ตามเก็บหนังและซีรีส์ Marvel ที่ต้องดู ก่อนไปปกป้องมัลติเวิร์สกับหมอแปลกใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาที่กำลังเดินหน้าสู่ Saga ใหม่ตั้งแต่เฟส 4 เป็นต้นไปจนไปจบลงที่เฟส 6 Marvel จะยังคงไว้ซึ่งความเกรียงไกรที่เคยทำ และเอาชนะตัวเองในอดีตได้หรือไม่? และแฟนๆ หนัง MCU จะมากขึ้น คงอยู่อย่างเหนียวแน่น หรือเริ่มที่จะเหนื่อยล้ากับการติดตามจักรวาลนี้ที่เนื้อหาเริ่มที่จะเยอะเกินไปจนรู้สึกตามไม่ทันแล้ว?
ความสำเร็จที่ผ่านมา
แฟรนไชส์ภาพยนตร์ของ Marvel ขึ้นชื่อว่าเป็นแฟรนไชส์ที่ทำเงินมากสุดในโลก โดยกวาดรายได้ไปมากถึง 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราวๆ 1 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน) ทำให้หากให้ไล่เรียงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของ Marvel ไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่าการที่ Marvel ทำภาพยนตร์ได้อย่างมีแผนการระยะยาว มีหลักการ แนวทางที่ชัดเจน ทำให้สตูดิโอประสบความสำเร็จเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคำวิจารณ์หรือรายได้
หรือหากคำวิจารณ์ไม่ดี หรือครึ่งๆ กลางๆ ก็ยังมีรายได้ให้ได้ใจชื้น เชื่อหรือไม่ว่าภาพยนตร์ MCU ที่มีรายได้น้อยที่สุด 3 เรื่องอย่าง Captain America: The First Avenger, Black Widow กับ Eternals มีรายได้อยู่ที่ราวๆ 300 ปลายๆ ถึง 400 ร้อยล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเท่าทุนกับเกินทุนมานิดๆ หน่อยๆ แต่ในภาพรวมหากนับเป็นภาพยนตร์รายได้น้อยที่ถัวเฉลี่ยกับภาพยนตร์ที่รายได้กลางๆ จนถึงมากสุดแล้ว ก็นับว่าเป็นการถัวเฉลี่ยที่ไม่แย่เลย
อีกทั้งรายได้นี้ยังไม่รวมยอดขายสินค้ากับยอดขายแผ่นและดิจิทัลหลังหนังออกโรงอีกด้วย
ส่วนทางด้านกระแสคงไม่ต้องลงรายละเอียดเท่าไรนัก เพราะทุกวันนี้ทั้งการวางรากฐานและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ Kevin Feige ทำให้ MCU และฮีโร่ตัวตั้งตัวตีกับฮีโร่หน้าใหม่และชื่อเสียงกลางๆ ถึงไม่มากในโลกคอมิก กลายเป็นที่รู้จักและนิยมชมชอบจนมีแฟนๆ ทั่วทุกมุมโลกด้วย โดยมียอดขายสินค้าตัวละครมากมาย เช่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า สวนสนุก ยอดขายคอมิกที่พุ่งสูงขึ้นจากการเป็นที่รู้จักและพูดถึงมากขึ้น
เรียกได้ว่านอกจากการมีอยู่ของ MCU จะเป็นการเอาตัวรอดตามยุคสมัยของหนังสือการ์ตูนหรือคอมิกของ Marvel ที่เปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มมาสู่ฉบับคนแสดงในช่วงที่คนเริ่มซื้ออ่านกันน้อยลงแล้ว Marvel ยังอาศัยความก้าวหน้าของโลกที่มีอินเทอร์เน็ตและผู้คนที่โลกเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้ขอบเขต ในการสร้างกระแส ‘Marvel Fever’ จนเกิดการพูดถึงชนิดที่ต่อให้ไม่สนใจดูก็ยังต้องดู ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการ FOMO (Fear of Missing Out) หรือความกลัวว่าพลาดกระแสอะไรไป
นอกจากนี้ยังทำให้ภาพยนตร์ Marvel กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ที่สำคัญ เป็นประเพณีที่ต้องทำ (หนังเข้าต้องดูในโรงเพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุด และเพื่อที่จะได้ถูกสปอยล์) สร้างคอมมูนิตี้ไว้ในทุกๆ ประเทศ กับแทรกซึมชีวิตประจำวันผู้คนด้วยตัวภาพยนตร์ซีรีส์ที่ป้อนคนดูอย่างต่อเนื่อง กับการโปรโมตจนกลายเป็น Topic ที่ใครต่างก็พูดถึงในชีวิตประจำวันไปแล้ว
ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของตัวเอง คือตัวเอง
แม้จะมีค่ายคู่แข่งอย่าง DC Comics ที่หลังจากเปลี่ยนบอสคนใหม่ ก็เริ่มที่จะโฟกัสไปที่จักรวาลภาพยนตร์มากขึ้น และมีแนวโน้มว่าวันหนึ่งจะทำให้คนดูต้องตัดสินใจว่าจะใช้เงิน เวลา และโอกาสของพวกเขาไปกับหนังจักรวาลไหน หากมีสิ่งเหล่านี้อย่างจำกัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ
แต่ Marvel ก็ยังคงมุ่งหน้าที่จะทำต่อไปโดยโฟกัสที่แผนการของตัวเอง กับคำถามที่ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อให้ MCU ยังคงอยู่ในชีวิตคนตราบนานเท่านาน (ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่หยุด และหยุดไม่ได้เหมือนที่คอมิกยังมีการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้ หลังจากเริ่มต้นขึ้นในปี 1939 หรือ 83 ปีที่แล้ว)
และศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของ Marvel ไม่ใช่ค่ายคู่แข่งหรือภาพยนตร์เรื่องอื่นที่เข้าฉายในช่วงเวลาเดียวกัน (แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นนั้น) แต่คือตัวเองในอดีต หรือ Infinity Saga ที่ประกอบไปด้วยภาพยนตร์และซีรีส์ในเฟส 1-3
เฟส 1-3 คือยุครุ่งเรืองของ Marvel ที่แท้จริง โดยเริ่มตั้งแต่ก่อร่างสร้างฐานจักรวาลด้วยภาพยนตร์ และ 3 ตัวละครหลักอย่าง Captain America, Iron Man และ Thor จนเกิดเป็นภาพจำและความผูกพันกับทั้งตัวละครและนักแสดงโดยไม่รู้ตัว
จากนั้นค่อยๆ ถักทอภาพยนตร์แต่ละเรื่องเข้าด้วยกันอย่างประณีต อ่อนช้อย และมีแม่แบบที่ชัด จนออกมาเป็นผ้าผืนใหญ่ที่เรียกว่า ‘The Avengers’ ตามมาด้วยฮีโร่คนใหม่ๆ นอกเหนือจากทั้ง 3 คน ที่เริ่มจากการเป็นแขกรับเชิญร่วมแจม ตัวละครสมทบ หรือมีภาพยนตร์ของตัวเองในฐานะตัวละครใหม่ในโลกภาพยนตร์ (แต่ไม่ใหม่สำหรับคอมิก) จนวันหนึ่งกลายมาเป็นฮีโร่ชื่อดัง หรือฮีโร่ที่มีหนังหรือซีรีส์เป็นของตัวเอง เช่น Black Panther, Ant-Man, Doctor Strange และ Guardians of the Galaxy
ความรุ่งโรจน์ของ Marvel มาถึงจุดพีคเมื่อมาถึงภาพยนตร์รวมฮีโร่อย่าง Avengers: Infinity War และ Avengers: End Game ที่ทำหน้าที่ขมวดปมกับปิดจบเรื่องราวเกี่ยวกับถุงมือและอัญมณีตลอดระยะเวลา 10 ปีได้อย่างสมการรอคอยและน่าภาคภูมิใจ
ภาพยนตร์สองเรื่องนี้ทำรายได้รวมกันสูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 แสนล้านบาท ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการจุดพลุฉลอง แต่ยังเป็นการจัดงานศพให้กับตัวละครสำคัญที่คนทั้งโลกรักอย่าง Iron Man กับโบกมือลา Captain America ที่รับบทโดย Robert Downey Jr. และ Chris Evans ตามลำดับอีกด้วย
หากให้มองย้อนกลับไปและทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ MCU ประสบความสำคัญ ต้องบอกว่า ‘ทุกอย่าง’ ที่อยู่ในหนังรวมฮีโร่สองเรื่องสุดท้าย และคนที่รักทุกอย่างนั้นหรือแฟนด้อมของ Marvel ในโลกความจริงที่พร้อมจะสนับสนุน และไปต่อไม่ว่าอะไรๆ จะเปลี่ยนไปแค่ไหน และพวกเขารู้ว่าจากนี้ไปมันจะไม่เหมือนเดิม
การประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่พวกน่าชื่นชมและยินดี แต่จากนี้ไปคือประเด็นสำคัญที่ Marvel จะต้องรับมือและก้าวเดินอย่างระมัดระวัง ทั้งไม่กดดันตัวเองจนเกินไปและไม่ประมาทเกินไป
และมันเกี่ยวพันกับคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสามใบเถาเหลืออยู่แค่ 1 หน่อ (Thor เทพเจ้าสายฟ้า) และเรื่องราวที่ทำให้คนบางคนผูกพันราวกับโตมาพร้อมๆ กันได้เลยจุดพีคไปแล้ว? เมื่อทุกอย่างราวกับต้องเริ่มต้นใหม่หมด ในยุคที่เปลี่ยนไป อะไรคือตัวตนและจุดขายของ Marvel ในยุคถัดไปของตัวเองในวันที่ตัวละครเริ่มเยอะ ซีรีส์เริ่มแยะ จนคนเริ่มเหนื่อยล้าและเริ่มจะตามไม่ทันแล้ว และมาตรฐานที่ตัวเองเคยสร้างไว้ก็สูงชันเสียเหลือเกิน
เฟส 4 และความท้าทาย
เฟส 4 ของ Marvel เริ่มต้นที่การส่งท้ายเพื่อไปต่อของหนังชีวประวัติตัวละคร Black Widow หรือ Natasha Romanoff ตามด้วยเริ่มต้นใหม่ที่ MCU ขอนำเสนออย่างฮีโร่เชื้อสายเอเชีย Shang-Chi ใน Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ตามด้วยการดึงตัว Chloé Zhao ผู้กำกับรางวัลออสการ์มาทำภาพยนตร์ Eternals เกี่ยวกับฮีโร่กลุ่มใหม่ในโทนและบรรยากาศที่แตกต่าง
จากนั้นก็สานต่อเรื่องราวของ Black Panther, Doctor Strange กับ Thor ในภาพยนตร์ภาคต่อ และปิดจบไตรภาค Spider-Man ของ Tom Holland ใน No Way Home
ซึ่งผลตอบรับที่ได้จาก Black Widow นั้นนับว่าเป็นการเปิดเฟสได้ไม่ดีเท่าไรนัก ในขณะที่ Shang-Chi กับหนังภาคต่อของ Thor และ Doctor Strange ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็ปลุกกระแสข้อถกเถียงที่ผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง Martin Scorsese เคยพูดไว้ว่า “หนังมาร์เวลคือสวนสนุก” ให้กลับมาวนเวียนอีกครั้ง
เนื่องจากมีผู้ชมจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าภาพยนตร์ Marvel เฟส 4 เริ่มที่จะไม่มีอะไรใหม่ ทั้งเส้นเรื่องและความน่าตื่นเต้น นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์สูตรสำเร็จที่ไม่น่าจดจำเท่าหน้าผาสูงชันใน 3 เฟสแรก จนลงเอยด้วยการกลายเป็นหนังประเภท ‘สนุกนะ แต่ดูจบแล้วจบกัน ไม่ดูซ้ำ’ ไปจนถึง ‘ถ้าเป็นแบบนี้อีกจะไม่ไปดูในโรงแล้วนะ’
ส่วน Eternals ที่เป็นความแปลกใหม่ก็แบ่งคนดูเป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่ชอบและต้องการให้ MCU มีหนังแบบนี้ตั้งนานแล้ว และดีมานด์อยากดูหนังเหมือน Eternals (รวมถึงภาคต่อของหนัง) อีก ในขณะที่แฟน Marvel อีกฝั่งบอกว่าหนังแหวกเกินไป และนี่ไม่ใช่หนัง MCU ที่เรารู้จัก ขอร้องอย่าเปลี่ยนไปเลย
ก้าวแรกของเฟส 4 จึงเป็นก้าวที่ถ้าว่ากล้าๆ กลัวๆ ไหม? ก็ไม่เชิง แต่เป็นการก้าวแบบมั่นใจที่ถูกคนวิจารณ์ในสองฟากฝั่งว่า ‘ดีแล้ว’ กับ ‘ไม่โอเคนะ’ จนก้าวต่อไปอาจเกร็งกว่าเคยได้
สิ่งที่ต้องโฟกัสของเฟส 4 และเป็นจุดแข็ง นอกจากภาพยนตร์ที่มีทั้งตัวละครหน้าใหม่และหน้าเก่าแล้ว คือฝั่งซีรีส์ที่สานต่อเรื่องราวตัวละครหน้าเดิม และเพิ่มเติมด้วยเรื่องราวตัวละครหน้าไม่คุ้น ซีรีส์ของ MCU ที่ออนแอร์ทาง Disney+ ได้รับคำชมและกระแสตอบรับที่ดี เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง จนมีหลายคนนิยามว่า ‘ซีรีส์ Marvel เฟส 4 > หนัง Marvel เฟส 4’ ไปซะแล้ว
ซีรีส์ที่อยู่ MCU ของ Marvel มีทั้ง WandaVision, Loki, What If..?, Hawkeye และ Moon Knight, Ms. Marvel กับ She-Hulk: Attorney at Law และยังจะมีอีกมากมายหลายเรื่องตามมา จุดเด่นของซีรีส์ Marvel คือการนำเสนอเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใช้ประโยชน์ของการมีเวลาเยอะกว่าหนังให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยคุณภาพราวกับเป็นหนังโรงที่ฉายแบบเว้นสัปดาห์
แต่การที่ Marvel ทำการอะแดปต์กับแพลตฟอร์มใหม่นี้ (ซีรีส์สตรีมมิง) ท่ามกลางกระแสสตรีมมิงมาแรง เพราะทุกคนสามารถดูที่ไหน เมื่อไร และในปริมาณเท่าไรต่อครั้งก็ได้
ในแง่หนึ่งเป็นการปรับตัวที่ทันการและไม่ช้าเกินไปสำหรับการบุกเบิกข้ามแพลตฟอร์ม แต่ในอีกแง่ก็เริ่มทำให้คนดูรู้สึก FOMO หนักขึ้น จากการที่มีทั้งหนังและซีรีส์ให้ตามดู ในยุคที่มีสตรีมมิงหลายเจ้า และแต่ละเจ้ามีหนังและซีรีส์เป็นของตัวเองกับซื้อมาฉายจนตามดูไม่ทันจะแย่อยู่แล้ว ไหนจะเรื่องของเวลาที่ไม่เพียงพอต่อการไล่ดูทุกเจ้า และเงินที่ต้องเลือกว่าจะ Subscribe เจ้าไหนบ้างอีก กล่าวคือคู่แข่งเยอะแล้ว และคอนเทนต์ตัวเองก็เยอะไม่แพ้กัน
กลายเป็นว่าสิ่งที่ตามมาคืออาการขั้วตรงข้ามของ FOMO ที่เรียกว่า ‘JOMO’ หรือ Joy of Missing Out ความรู้สึกที่พลาดบ้างก็ไม่เห็นเป็นอะไรนี่ และพอใจที่ไม่จำเป็นต้องตามกระแสทุกอย่างเสมอไป ที่เกิดขึ้นกับทั้งหนังและซีรีส์จักรวาล Marvel และของทุกเจ้า
เนื่องจากเมื่อมองที่สถิติตั้งแต่ MCU เริ่มต้นปี 2021 และ 2022 หรือ 2 ปีมานี้ เมื่อรวมชั่วโมงกันแล้ว ซีรีส์ Marvel นับว่ามีปริมาณเยอะกว่าเฟสที่ผ่านๆ ในระดับที่ล้นทะลัก และคนดูบางคนเริ่มเกิดอาการปล่อยมือเนื่องจากตามไม่ทันว่าต้องดูเรื่องไหนมาก่อนเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้ หรือกล่าวได้ว่าความท้าทายของ Marvel นอกจากจะข้ามผ่านอดีตไปให้ได้แล้ว ยังต้องคว้าคนดูให้อยู่หมัดอีกด้วย แถมมือที่คว้าไว้ยังเป็นมือของตัวละครใหม่ที่คนดูไม่รู้จัก
อนาคตของ MCU ต่อจากนี้
หลังจากที่ตัวละครเยอะขึ้นและเนื้อเรื่องเริ่มที่จะสเกลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในโลกจนออกนอกโลก เมื่อหนทางตรงที่อยู่ข้างหน้าเริ่มจะคับแคบไปสำหรับผู้โดยสารและรถปริมาณมาก Marvel ตัดสินใจต่อยอดด้วยการออกด้านข้าง นั่นก็คือ Multiverse Saga ที่เล่าถึงพหุจักรวาลและขยายความเป็นไปได้ในการนำตัวละครมาเจอกัน หรือทำให้เนื้อเรื่องหวือหวาเกินจินตนาการ (และอาจเกินการควบคุมหากไม่ระวังให้ดี) ทั้งยังเดาทางยาก
ใน Multiverse Saga จากเฟส 4-6 สิ่งที่น่าจับตามองคือ อะไรคือหลักยึดของจักรวาลนี้ เพราะในขณะที่ Infinity Saga มีเรื่องของถุงมือ การรวบรวมอัญมณี และทีม Avengers ทางฝั่งน้องใหม่อย่าง Multiverse Saga กลับเป็นการแนะนำตัวละครใหม่ๆ พาตัวละครเก่าไปสำรวจ Multiverse และเข็นซีรีส์ออกมามากมายโดยยังมองไม่เห็นว่านอกจากความยุ่งเหยิงเกินควบคุม อะไรรอพวกเขาเหล่าคนดูอยู่
ซึ่งแน่นอนว่าการเดาไม่ออกนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งคือติดตามไปเรื่อยๆ รอวันรวมทีม และตั้งเป้าหมายโดยที่เราเดาอะไรไม่ได้
ส่วนจุดอ่อนคือไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะไปสุดที่ตรงไหน เพราะถึงแม้ว่าหากให้เทียบกันแล้วก่อนจะมี The Avengers หนังปักหมุดชัดเจนเรื่องแรกของ MCU ใช้เวลาถึง 5 ปี ในขณะที่เฟส 4-6 ใช้เวลาจบเร็วกว่านั้นก็ตาม แต่ Saga นั้นน้อยเรื่องกว่าแล้วเข้าเรื่องทันที ในขณะที่ Saga เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นฉายหนัง The Avengers ทีเดียวในฐานะสองเรื่องสุดท้าย (เว้นเสียแต่จะมีหนังหรือซีรีส์ที่เกิดอีเวนต์ใหญ่รวมฮีโร่เหมือน Captain America: Civil War สักเรื่อง หรือเรื่องที่นับว่าเป็นการปักหมุดขนาดใหญ่แทน The Avengers ได้)
กล่าวได้ว่า Marvel เลือกที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยการแนะนำฮีโร่หรือตัวละครที่คนไม่ได้รู้จักอย่างกว้างขวางในคอมิกมากขึ้น ทั้งยังนำฮีโร่อย่าง Fantastic Four กับ Blade กลับมา รวมไปถึงตัวละคร X-men หลังได้ลิขสิทธิ์มาจากการเข้าซื้อจิ้งจอกสองพันปีอีกด้วย
นี่คือแนวทางที่ชัดเจนในตัวเอง จนน่าสนใจ น่าลุ้น และน่าเอาใจช่วยไม่แพ้การเริ่มใหม่เมื่อครั้งสิบกว่าปีก่อนว่า มันจะนำพาจักรวาลนี้ไปในทางที่ยิ่งใหญ่ได้เท่าเดิม หรือยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้หรือไม่
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนดู คะแนน และรายได้จะมากจะน้อย Marvel ยังคงมีกลุ่มแฟนที่เหนียวแน่นคอยซัพพอร์ตในปริมาณที่มหาศาล และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในภาพรวมแล้วสตูดิโอนี้ประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่องที่ทำ
และถ้าหากให้เทียบกับการเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ใหญ่ยักษ์ที่สุดในโลกทั้งปริมาณเรื่องและรายได้ ก็คงต้องพูดว่าจะเอาชนะตัวเองในอดีตได้หรือไม่นั้นอาจเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นซะทีเดียว เพราะสิ่งที่ Marvel กำลังทำอยู่ไม่ใช่การนั่งเครื่องบินบินผ่านภูเขาที่สูงชัน แต่ในความเป็นจริงเป็นการถมภูเขาลูกเดิมให้สูงขึ้นกว่าที่เคยซะมากกว่า
ภาพ: Getty Images, Shutterstock