×

มนุษย์จะอยู่ตรงไหนเมื่อ AI ฉลาดกว่าเรา มองอนาคตกับ มาร์ติน ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Rise of the Robots

01.07.2019
  • LOADING...
Martin Ford

ทุกครั้งที่เทคโนโลยีใหม่สร้างแรงกระเพื่อมไปทุกหย่อมหญ้าก็ย่อมมีทั้งเสียงตอบรับที่ตื่นเต้นยินดี ประหลาดใจ ปะทะกับเสียงวิพากษ์คัดค้าน อารมณ์ขุ่นเคืองที่เจือความกังวล หรือไม่ก็สิ้นหวัง

 

ปรากฏการณ์เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลกมายาวนาน แรงงานทักษะต่ำ (Blue Collar) ต้องดิ้นรนหนีจากภาคเกษตรกรรมมายังภาคอุตสาหกรรม และเข้าสู่ภาคบริการ มาร์ติน ฟอร์ด นักเขียนและฟิวเจอริสต์ (Futurist) กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือ Rise of the Robots (หุ่นยนต์ผงาด: เทคโนโลยีและภัยแห่งอนาคตที่ไร้งาน) แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมก็คือปัจจุบันเครื่องจักรเริ่มเรียนรู้และกำลังคุกคามสารพัดอาชีพในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นคนที่มีทักษะสูงและดีกรีระดับปริญญา

 

คำถามจึงไม่ใช่ ‘มีอาชีพใดปลอดภัยบ้าง’ แต่เป็น ‘เราควรจะรับมือกับอนาคตอย่างไร’

 

อนาคต…ที่แรงงานคนมีแต่จะแก่ตัวลง ขณะที่เครื่องจักรเหนื่อยไม่เป็นและไม่บริโภค 

 

อนาคต…ที่เศรษฐกิจโลกอาจหยุดชะงัก

 

อนาคต…ที่เส้นแบ่งระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับมนุษย์ค่อยๆ พร่าเลือน

 

เรานั่งลงคุยกับ มาร์ติน ฟอร์ด ตั้งแต่หนังสือเล่มใหม่ Architects of Intelligence: The Truth about AI from the People Building It ที่เขาได้ไปสัมภาษณ์คนระดับท็อปของวงการ AI ทั้ง 23 คน จุดเริ่มต้นความสนใจในจักรกลอัจฉริยะ ไปจนถึงคำถามสุดคลาสสิกอย่าง เราจะสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่คิดและทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนมนุษย์ หรือ AGI (Artificial General Intelligence) ได้หรือไม่

 

ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญเดินทางสู่อนาคตไปด้วยกัน

 

Martin Ford

 

คุณเริ่มสนใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ตั้งแต่เมื่อไร

ผมเรียนมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แล้วมาทำงานเป็นวิศวกรออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ จากนั้นก็เริ่มทำธุรกิจซอฟต์แวร์ ผมคิดว่าผมสนใจเรื่องนี้มาตลอด แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้หรืออาจจะนานกว่านั้น ผมพบว่าปัญญาประดิษฐ์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในที่สุดเราก็มีคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลได้เร็วมากพอที่จะพัฒนา AI ที่ทรงพลัง ผมเริ่มครุ่นคิดว่าเทคโนโลยีนี้จะมีความหมายต่อเราและโลกโดยรวมอย่างไร โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มแรกในปี 2009 (The Lights in the Tunnel: Automation, Accelerating Technology and the Economy of the Future) จากนั้นผมมีโอกาสเขียน Rise of the Robots ปรากฏว่าได้รับความสนใจเยอะมากและค่อนข้างประสบความสำเร็จเลยทีเดียว ทำให้ผมเปลี่ยนอาชีพมาเป็นฟิวเจอริสต์เต็มตัว ปัจจุบันผมมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ต่างๆ บ้าง เช่น ให้คำปรึกษากับกองทุนรวมแบบเปิด ETF ของธนาคาร Société Générale ในฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้แค่ลงทุนในบริษัทด้าน AI และหุ่นยนต์อย่างเดียว แต่รวมไปถึงบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย

 

คุณคิดว่า AI หมายถึงอะไร

ผมคงจะนิยามมันแบบง่ายๆ เมื่อไรที่เครื่องจักรหรืออัลกอริทึมคิดได้ในแบบที่เมื่อก่อนเราบอกกันว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่คิดแบบนี้ได้ เมื่อเครื่องจักรแก้ไขปัญหาบางอย่างและตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์ ปัจจุบันเรามีอัลกอริทึมที่สามารถเรียนรู้ได้แล้ว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์เราทำ เครื่องจักรทำไม่ได้ แต่ AI กลับทำได้ทั้งหมดที่กล่าวมา ดังนั้นมันยากที่จะให้คำนิยามชัดเจน

 

ใน Rise of the Robots คุณเสนอว่าการประกันรายได้พื้นฐาน (Universal Basic Income) เป็นทางแก้ไขที่ดีที่สุดในยุคแห่ง AI และเราต้องเริ่มทำตอนนี้เลย เพราะอะไร

ผมคิดอย่างนั้น และมีหลายคนที่เห็นด้วย แม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังพูดถึงประเด็นนี้ การประกันรายได้พื้นฐานเป็นไอเดียที่มีมานานแล้ว คนพูดถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ปี 1990 แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี AI แต่ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่รุดหน้าและข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนงานมหาศาลจะหายไปนั้นสร้างแรงกดดันให้เราหันมาจริงจังกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น มันกำลังจะเป็นแนวคิดกระแสหลัก แอนดรูว์ หยาง ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตที่กำลังจะลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ชูประเด็นดังกล่าวบนเวทีดีเบตเช่นกัน

 

Martin Ford

 

ระบบการประกันรายได้พื้นฐานจะสามารถใช้ได้ในทุกประเทศหรือเปล่า

มีโอกาสเป็นไปได้ ที่ผ่านมายังไม่มีประเทศใดใช้ระบบการประกันรายได้พื้นฐานมาก่อน ตอนนี้เรามีแค่งานทดลองเล็กๆ เช่น โครงการนำร่อง เพื่อดูว่าเราจะเป็นประเทศแรกที่ลองใช้ระบบนี้จริงๆ ได้หรือไม่ แต่มันเป็นไอเดียหนึ่งที่นำไปปรับใช้ได้ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของประเทศนั้นๆ 

 

ผมคิดว่าไอเดียนี้สำคัญมากสำหรับอนาคต นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามพูดมาโดยตลอด แต่มันอาจจะยังไม่ถึงเวลา เรายังไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ผมได้ไปพูดคุยหารือเรื่องนี้กับสมาชิกสภาคองเกรสในสหรัฐฯ รวมทั้งรัฐบาลประเทศอื่น เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก ดูเหมือนว่าภาครัฐจะเริ่มสนใจแนวคิดนี้เป็นอย่างดี

 

แต่ยิ่งเทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและคุกคามอาชีพการงานมากเท่าไร สุดท้ายแล้วเราอาจตื่นขึ้นมาในความเป็นจริงแล้วตระหนักได้ว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ดังนั้นเราควรพูดคุยหาทางออกกันตอนนี้เลย อาจฟังดูเร็วไปในทางปฏิบัติ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้เริ่มแล้ว

 

มาคุยเรื่องหนังสือเล่มใหม่ของคุณกันบ้างดีกว่า Architects of Intelligence: The Truth about AI from thePeople Building It

Rise of the Robots พูดถึงประเด็นที่ใหญ่กว่าอาชีพการงานใช่ไหม หนังสือเล่มนี้จะโฟกัสไปยังเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ในมิติที่กว้างมากขึ้น ไปจนถึงนิยามของ AI ผมโชคดีมากที่ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญระดับชั้นนำของวงการ AI ถือเป็นไอน์สไตน์แห่งวงการปัญญาประดิษฐ์เลยก็ว่าได้ ผมไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้เองทั้งหมด มันเป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ซึ่งถ่ายทอดมาจากถ้อยคำของพวกเขาเอง ผมเพียงแต่เรียบเรียงประโยคให้เข้าใจง่าย ดังนั้นคุณจะได้ยินเสียงของบรรดาคนเก่งๆ ที่กำลังสร้างเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาจริงๆ 

 

Martin Ford

 

คุณชอบสัมภาษณ์ใครมากที่สุด หรือบทสนทนาไหนจุดประกายให้กับคุณมากที่สุด

ผมไม่ได้ชอบใครเป็นพิเศษ มีหลายคนที่น่าสนใจ เช่น หลี่เฟยเฟย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและอดีตหัวหน้าฝ่าย Google Cloud เธอมีความรู้เรื่อง Computer Vision เหลือล้น เรย์ เคิร์ซไวล์ (นักประดิษฐ์ วิศวกร ปัจจุบันดำรงแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม Google) เป็นบุคคลชื่อดัง งานเขียนของเขาผลักดันให้แนวคิดเรื่อง Singularity เป็นที่รู้จักแพร่หลาย (Singularity ว่าด้วยแนวคิดในอนาคต เทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปถึงจุดหนึ่งที่มนุษย์สร้าง AI ที่ฉลาดเหนือมนุษย์ได้สำเร็จแล้ว จะไม่มีใครคาดการณ์อะไรได้อีกต่อไป) เขาเป็นคนที่คุยสนุกทีเดียว และเชื่อว่าตัวเองจะมีชีวิตเป็นอมตะ ตอนนี้เขาอายุ 70 ปีแล้ว เขาคิดว่าเขาจะไม่ตาย เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาและยืดอายุขัยจนทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ระหว่างนั้นเทคโนโลยีจะยิ่งรุดหน้าไปอีกขั้นในอนาคต ทำให้คุณมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ นั่นคือทฤษฎีของเขา แต่ผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีขนาดนั้น บางทีเขาอาจจะแค่กลัวตายล่ะมั้ง (ยิ้ม) แต่เขาเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องและเต็มไปด้วยไอเดียที่น่าสนใจ โดยรวมแล้วผู้ให้สัมภาษณ์เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายพอสมควร แต่ละคนมองอนาคตของ AI แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

AI จะเข้ามาพลิกโฉมอย่างรุนแรงในหลากหลายแง่มุม อย่างน้อยที่สุดคือการพลิกโฉมตลาดแรงงาน เราจะสร้าง AI ที่มีสติปัญญาและความสามารถระดับเดียวกันกับมนุษย์ (Human-level AI) หรือเครื่องจักรที่คิดได้เหมือนคนจริงๆ

มีประเด็นไหนที่พวกเขาเห็นตรงกันหรือมองไปในทิศทางเดียวกันบ้างไหม

ทุกคนเชื่อว่า AI จะเข้ามาพลิกโฉมอย่างรุนแรงในหลากหลายแง่มุม อย่างน้อยที่สุดคือการพลิกโฉมตลาดแรงงาน แม้พวกเขาจะคิดไม่ตรงกันว่าอาชีพที่หายไปจะเป็นจำนวนมหาศาลมากแค่ไหน แต่ก็เห็นด้วยว่ามันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พวกเขายังเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะสร้าง AI ที่มีสติปัญญาและความสามารถระดับเดียวกันกับมนุษย์ (Human-level AI) หรือเครื่องจักรที่คิดได้เหมือนคนจริงๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร เรย์ เคิร์ซไวล์ มองว่าใช้เวลาแค่ 10 ปีเท่านั้น ซึ่งก็คือเร็วๆ นี้ ขณะที่บางคนคาดว่าอีก 200 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกันมาก ดังนั้นมันแทบจะพยากรณ์ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แม้แต่กลุ่มคนที่ฉลาดสุดๆ ก็ไม่อาจล่วงรู้อนาคตเหมือนกัน

 

Martin Ford

 

การเขียนหนังสือเล่มนี้เปลี่ยนมุมมองของคุณเกี่ยวกับอนาคตของ AI และมนุษยชาติบ้างไหม

ในบางเรื่อง แต่ไอเดียหลักๆ ของผมไม่ได้เปลี่ยนไป คือเรื่องอาชีพการงานจะหายไปแน่นอน แต่ผมได้เรียนรู้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับ AI เช่น เทคโนโลยีสำคัญอย่าง Deep Learning ที่น่าสนใจกว่านั้น ผมได้รู้ว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะก้าวหน้าไปเร็วแค่ไหน

 

ปัจจุบัน AI ยังเป็นปัญญาประดิษฐ์ชนิดแคบ (Narrow AI) ที่มีความสามารถเฉพาะด้านเท่านั้น แต่อย่าลืมว่ามันก็ยังทรงพลังมากๆ มันทำได้แค่บางอย่าง แต่ก็ทำได้ดีเยี่ยม แค่นั้นมันก็ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแล้ว

 

มีข่าวว่า ยอนน์ เลอคุน ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัย Facebook AI Research พยายามพัฒนาให้ AI มีสามัญสำนึก (Common Sense) เป็นไปได้ไหมว่านั่นจะเป็นกุญแจสู่การพัฒนา AGI

ทุกคนเห็นตรงกันว่าการสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสามัญสำนึกเป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่หลวง ปัจจุบันยังไม่มีใครทำได้ ยอนน์ เลอคุน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Deep Learning และเป็นหนึ่งในคนที่ผมสัมภาษณ์ เขาเชื่อว่าถ้าคุณพัฒนาเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น สุดท้าย AI จะสร้างสามัญสำนึกขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ด้วยการทำงานของโครงข่ายประสาทเทียมหรือ Neural Networks ซึ่งผมเดาเอาว่าน่าจะเหมือนกับกระบวนการทำงานในสมองของมนุษย์ แต่หลายๆ คนที่ผมได้พูดคุยด้วย พวกเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง พวกเขาคิดว่าเราต้องพยายามสร้าง ‘สามัญสำนึก’ แล้วใส่เข้าไปในคอมพิวเตอร์ต่างหาก นี่เป็นหนึ่งในขอบเขตงานวิจัยที่มีคนไม่เห็นด้วยมากที่สุด

 

ผมเคยไปคุยกับผู้อำนวยการสถาบันด้านปัญญาประดิษฐ์ Allen Institute for Artificial Intelligence ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังทำโปรเจกต์ใหญ่ชื่อ Mosaic พวกเขาพยายามพัฒนา AI ให้มีสามัญสำนึกเหมือนกัน แต่ใช้วิธีสร้างมันขึ้นมา แทนที่จะรอให้ AI เกิดสามัญสำนึกขึ้นมาเอง

 

นักพัฒนาจำนวนไม่น้อยต้องการสร้าง AI ให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเพื่อให้มันเข้าใจมนุษย์ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร ทั้งที่มนุษย์เองก็มีข้อผิดพลาดมากมาย

ผมคิดว่าหลายคนรู้สึกไม่สบายใจที่จะให้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรตัดสินใจบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความเป็นความตาย คุณคงได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ไร้คนขับจะตัดสินใจพุ่งชนใคร หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากระบบอัตโนมัติถูกใช้เป็นอาวุธสังหาร ซึ่งก็เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างที่คุณบอก ผมคิดว่าเราควรจะระมัดระวัง ไม่ทึกทักเอาเองว่าการตัดสินใจของมนุษย์จะต้องเป็นการตัดสินใจที่ดีเสมอ เพราะเราต่างก็รู้ดีว่าคนเราไม่ได้เก่งเรื่องการตัดสินใจเลย คนไม่ได้มีศีลธรรมจริยธรรมกันตลอดเวลา มีทั้งคนเหยียดเชื้อชาติ คนชั่วร้าย หรือสภาพจิตใจไม่ปกติ ผมคิดว่านี่เป็นข้อถกเถียงที่ซับซ้อนมากๆ มนุษย์อาจตัดสินใจเรื่องบางเรื่องได้ดีกว่า แต่ในบางกรณีก็ควรให้เครื่องจักรตัดสินใจแทน ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่เราควรพูดคุยหารือกันต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม มีคนอีกมากพยายามสร้างระบบอัลกอริทึมให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น มีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับการวิจัยพัฒนา AI ในหลายแง่มุมเช่นกัน

 

คนส่วนใหญ่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะ AI พัฒนาไปเร็วมาก แต่กฎหมายยังไล่ตามไม่ทัน

มีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ทั้งความเป็นส่วนตัวและอคติของ AI แต่ตอนนี้ผมกังวลสิ่งที่จีนกำลังทำมากกว่า จีนได้พัฒนาและติดตั้งระบบรู้จำใบหน้าไปทั่ว หมายความว่าคุณจะถูกจับตามองทุกที่ที่คุณไป รัฐบาลรู้แน่ๆ ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ และไม่มีใครสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปได้เลย เพราะระบบ Social Credit System ที่ให้คะแนนเครดิตทางสังคมของประชาชน คล้ายกับระบบการให้ดาวของ Amazon นั่นแหละ ถ้าคุณมีดาวแค่ดวงเดียว คุณไม่สามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ ลูกๆ ของคุณไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก ปัญหาที่แท้จริงเหล่านี้ต่างหากที่ทุกสังคมจะต้องตัดสินใจว่าเราจะใช้เทคโนโลยีที่ทรงพลังนี้เพื่อทำอะไรบ้าง เราควรจำกัดการใช้งานเพื่อความเป็นส่วนตัวมากแค่ไหน

 

Martin Ford

 

คุณทำให้ฉันนึกถึง เอริก ชมิดต์ อดีตซีอีโอ Google ที่เคยทำนายไว้ว่าโลกจะถูกแบ่งเป็นสองใบ นำโดยจีนกับสหรัฐอเมริกา และอื่นๆ การมาถึงของ AI จะยิ่งนำไปสู่การแบ่งแยกที่รุนแรงมากขึ้นหรือเปล่า

คิดว่ามันเกิดขึ้นแล้วนะ จีนแยกโลกอินเทอร์เน็ตของตัวเองออกมาเป็นเอกเทศ คุณห้ามใช้เฟซบุ๊กไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม จีนกำลังส่งออกเทคโนโลยี AI ในราคาถูกกว่าและได้รับความนิยมมากจากรัฐบาลหลายๆ ประเทศที่ต้องการเข้าควบคุมข้อมูลของประชาชน โดยเฉพาะประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยไม่แข็งแรงนัก หรือรัฐที่ต้องการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ประเทศในตะวันออกกลางอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็มีแนวโน้มว่าจะมุ่งไปทางนั้น เช่น เมืองดูไบรับซื้อเทคโนโลยีจากจีน รวมทั้งระบบรู้จำใบหน้าด้วย ดังนั้นเราต้องระวังไม่ให้ประชาธิปไตยที่คุ้มครองเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชนนั้นสูญหายไป 

 

คิดว่ารัฐบาลและผู้นำโลกพร้อมรับมือกับความท้าทายในยุค AI และระบบอัตโนมัติแล้วหรือยัง

รัฐบาลทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังจัดทำรายงานและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าเราจะหาทางรับมือกับมันได้ในที่สุด แต่สำหรับผมแล้ว ภาครัฐมักจะตามหลังอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีรุดหน้าไปไวมาก

 

Martin Ford

 

คุณยังมองอนาคตในแง่ดีอยู่หรือเปล่า

ผมยังมองในแง่ดีอยู่ เพราะเทคโนโลยี AI จะสร้างประโยชน์มหาศาล เหมือนที่ เรย์ เคิร์ซไวล์ กล่าวไว้ว่าวงการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก สิ่งต่างๆ จะมีราคาถูกลง ทำให้คนยากจนเข้าถึงได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทุกอย่างจะเข้าถึงได้สะดวกกว่าที่ผ่านมา ยังมีเรื่องดีๆ อีกหลายด้าน เราไม่ได้ต้องการจะหยุดยั้งเทคโนโลยีนี้หรอก เพียงแต่เราต้องเปิดกว้างสำหรับการพูดคุยเจรจาหารือเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในที่สาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก

 

สิ่งที่ท้าทายฟิวเจอริสต์อย่างคุณมากที่สุดคืออะไร

การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องยากมากๆ ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตหรอกจริงไหม วิธีที่ดีที่สุดคือคุณต้องพยายามเข้าใจเทรนด์ใหญ่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และลองมองไปข้างหน้าว่ามันจะพาคุณไปถึงจุดไหน แต่ผมไม่เคยฟันธงนะว่าอีก 10 ปีอาชีพมหาศาลจะหายไป… ซึ่งบางคนอาจจะทำแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่วิธีการของผม ใครก็ตามที่พยายามจะทำนายอนาคต คุณต้องยอมรับก่อนเลยว่าคำทำนายของคุณอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ และหวังว่าอย่างน้อยคุณจะเป็นฝ่ายถูกบ้าง

 

เคยกังวลบ้างไหมว่าวันหนึ่งคุณอาจจะตกงานเพราะ AI

งานหลักของผมคือการเขียนหนังสือ ขบคิด และพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ค่อนข้างยากที่จะจินตนาการว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้นะ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน ผมห่วงอาชีพประเภทรูทีนที่ต้องทำงานแบบเดิมซ้ำๆ มากกว่า เช่น งานที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ เขียนรายงาน ทำพรีเซนเทชัน สำหรับอาชีพนักข่าว งานบางส่วนจะหายไป ถ้าคุณแค่เสิร์ชข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วเอามาเขียน รายงานข่าวหรือข้อมูลที่มีอยู่แล้วบนโลกออนไลน์ อัลกอริทึมสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ง่ายๆ แต่ถ้าคุณทำข่าวเชิงสืบสวน ลงพื้นที่ไปคุยกับผู้คน และต้องพยายามโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นยอมคุยด้วย หรือแม้แต่การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว งานแบบนี้ยากกว่า แต่สักวันหุ่นยนต์อาจทำแบบนั้นได้เหมือนกัน

 

Martin Ford

 

มนุษย์จะอยู่ตรงไหนในโลกที่มี AGI

เรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่คนกังวลกันมาก ความเสี่ยงที่จะเกิดจาก AI มีสองรูปแบบด้วยกัน คือความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนใน 2-3 ปีข้างหน้า เช่น ปัญหาด้านอคติ ความเป็นส่วนตัว และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นอาวุธ ส่วนความเสี่ยงรูปแบบที่สองนั้นจะอยู่บนสมมติฐานที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสร้างคอมพิวเตอร์ที่คิดเหมือนมนุษย์ มันอาจจะกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ (Superintelligence) คนส่วนใหญ่มักหวาดกลัวว่าจะควบคุมมันไม่ได้ มันอาจจะไม่มุ่งร้ายหรือต้องการทำร้ายเรา แต่มันอาจจะฉลาดเทียบเท่ามนุษย์หรือแซงหน้าไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะดีกับเราหรือเปล่า

 

ผมว่ามันยากที่จะจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากมี AGI เกิดขึ้นในอนาคต มันคงจะเป็นโลกอีกใบที่ต่างจากเดิมไปเลย แน่นอนว่าอาชีพจะหายวับไปเกือบทั้งหมด เรามีเครื่องจักรที่ฉลาดกว่าคนและสามารถทำอะไรก็ได้ เมื่อถึงเวลานั้นเราคงต้องคิดหาทางแก้ไข เช่น ระบบประกันรายได้พื้นฐาน หรือทางเลือกอื่นเพื่อให้มนุษย์อยู่รอดต่อไป ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปอย่างน่าทึ่ง หรือไม่ก็อาจเกิดยุคของ Singularity ในที่สุด มันก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด แต่ถ้าจะให้จินตนาการว่าอนาคตที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไรก็อาจจะดูหลุดโลกไปหน่อย เพราะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X