×

คุณูปการ ‘สมรสเท่าเทียม’ สลายปิตาธิปไตย-หญิงผู้เป็นภรรยาจะมีสิทธิเท่าเทียมสามี

28.09.2023
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียม (ไม่ใช่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต) คือการให้ทุกคู่ชีวิต ไม่ว่าจะคู่ชาย-หญิง, ชาย-ชาย, หญิง-หญิง ตามเพศกำเนิด สามารถจดทะเบียนสมรส เป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

เพราะการสมรสนั้นเป็นเรื่องความรักของบุคคลที่มีความลึกซึ้ง ความผูกพันแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกัน เป็นหุ้นส่วนชีวิต ใช้ชีวิตร่วมกันโดยมีเป้าหมายคือความสุข ทว่ากฎหมายยังคงตั้งบนพื้นฐานว่า เพศสัมพันธ์เป็นไปเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์และอยู่ภายใต้สถาบันครอบครัว เห็นได้จากกฎหมายว่าด้วยเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 (10)   ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ว่า ‘สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้’ คือถ้าคู่สมรสหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางเพศได้ก็มีสิทธิสามารถฟ้องหย่าได้ 

 

อันที่จริง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ประกอบด้วยบทบัญญัติ 6 บรรพ ล้อไปตามช่วงชีวิตของมนุษย์ในการดำรงชีวิตในสังคม เกิดเป็นบุคคล ครอบครองทรัพย์สิน ดำรงชีวิต ทำนิติกรรม สร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบธุรกิจ กู้หนี้ยืมสิน เช่าซื้อขาย จ้าง ตั้งบริษัทสมาคม แล้วสร้างครอบครัว มีลูก จนเสียชีวิตและจัดการเรื่องมรดก และนับแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 ป.พ.พ. ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว 22 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 เพื่อให้กฎหมายครอบคลุมการดำรงชีวิตของประชาชนมากขึ้น 

 

ถ้าคำนึงเฉพาะบรรพ 5 ที่ว่าด้วยครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการสมรส การหย่า การหมั้นนั้น มีการแก้ไขเสมอมา ซึ่งครั้งล่าสุดคือตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดสำนึกชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และปัจจุบัน สังคม วิถีชีวิต ค่านิยม ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เพศสภาพเพศวิถีไม่ได้มีเพียงชายหญิงและรักต่างเพศเท่านั้น ที่สังคมอยู่ร่วมกัน ปฏิสังสรรค์กัน แต่มี LGBTQIA+ การแก้ ป.พ.พ. อีกครั้งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น และเป็นวิวัฒนาการของกฎหมายที่พัฒนาไปตามวิถีชีวิตของประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้ออ้างขัดขวางสมรสเท่าเทียมว่า การจดทะเบียนสมรสนั้นเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ก่อตั้งสถาบันครอบครัวผลิตสมาชิกใหม่ให้แก่สังคม คู่รักเพศเดียวกันไม่ใช่คู่รักตามธรรมชาติ เพราะไม่นำไปสู่การให้เจริญพันธุ์ ซึ่งข้ออ้างนี้เป็นการตีความที่คับแคบ ขัดกับหลักความเป็นจริง และไม่ยกระดับความคิดไปตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีกระบวนการช่วยเจริญพันธุ์แล้ว

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ที่ยังไม่ได้ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้เหมือนคู่รักต่างเพศ ไม่ใช่สมรสเท่าเทียม ที่นอกจากไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรักต่างเพศกับคนเพศเดียวกันแล้ว ยังไม่เท่าเทียมระหว่าง ชาย-หญิง สามี-ภรรยา รักต่างเพศที่จดทะเบียนสมรสกัน เห็นได้จากมาตรา 1516 (1)  ตามบรรพ 5 ครอบครัว ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการฟ้องหย่าที่ ‘สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

เพราะ ‘การเป็นชู้’ นั้นหมายถึง ชายร่วมประเวณีกับหญิงที่มีสามีแล้ว ทำครั้งเดียวก็ฟ้องหย่าได้ แต่ถ้าไปร่วมประเวณีกับหญิงที่ไม่มีสามี ถ้าจะฟ้องหย่าต้องรอฝ่ายชายทำเป็นอาจิณ (อาจิณ ราชบัณฑิตยสภาแปลว่า เป็นปรกติ ติดเป็นนิสัย เสมอๆ เนืองๆ) เสียก่อน แต่สำหรับ ‘การมีชู้’ หมายถึง หญิงมีสามีไปร่วมประเวณีกับชายอื่น ไม่ว่าชายนั้นจะแต่งงานมีภรรยาหรือไม่ก็ตาม ถือว่ามีชู้ สามีฟ้องหย่าได้เลย ไม่ต้องรอให้ทำเป็นอาจิณ กลายเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศของกฎหมายครอบครัวที่สนับสนุนชายเป็นใหญ่

 

บรรพ 5 ครอบครัว ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นยังอยู่พื้นฐานความคิดว่า มีแต่ชายกับหญิงเท่านั้นที่จะสร้างครอบครัวได้ และยังไม่หลุดออกจากโครงสร้างชายเป็นใหญ่-ปิตาธิปไตย คำที่ใช้ในกฎหมายก็ยังคงเป็นคำที่มีสำนึก Binary เช่นคำว่า เป็นชู้ มีชู้ และรวมทั้ง ‘ร่วมประเวณี’ ที่ราชบัณฑิตยสภาหมายถึงเสพสังวาส, เป็นผัวเมียกัน

 

หากบ้านนี้เมืองนี้มีสมรสเท่าเทียม ที่จะไปสลายระบบ Binary รักต่างเพศนิยมในกฎหมาย ไม่เพียงจะยกระดับกฎหมายให้คู่รักชายหญิง LGBTQIA+ มีสิทธิจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน ยังจะช่วยให้ผู้หญิง-ภรรยามีสิทธิเท่าเทียมเสมอผู้ชาย-สามี ในการฟ้องหย่า ผู้ชาย-สามีไม่มีสิทธิคุ้มกันการถูกฟ้องมากกว่าผู้หญิง-ภรรยา เพราะย่อมต้องมีการแก้ไขหรือยกเลิกคำในระบบ Binary อย่าง ‘เป็นชู้’ ‘มีชู้’ 

 

ขณะเดียวกัน สำหรับรัฐแล้ว การสมรสก่อตั้งครอบครัวเป็นเสรีภาพของบุคคลในระดับหนึ่ง แต่การหย่านั้นไม่ใช่เสรีภาพของบุคคลอย่างชัดเจน ด้วยความเชื่อว่า สถาบันครอบครัวคือรากฐานความมั่นคงความสงบเรียบร้อยของรัฐ ครอบครัวจึงต้องสมบูรณ์อบอุ่น เพื่อผลิตประชากรมีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ การหย่าร้างคือบ้านแตกสาแหรกขาด การหย่าร้างคือสิ่งที่รัฐไม่ปรารถนา ดังนั้นหากจะฟ้องหย่ารัฐจึงต้องออกมาตรการเงื่อนไขกฎระเบียบควบคุม ที่จะฟ้องหย่าได้ต้องมีพฤติกรรมร้ายแรงจริงจัง เช่นในมาตรา 1516 (2) 

 

‘สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

 

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

 

แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่ากฎหมายพยายามคุ้มครองผู้ถูกกระทำจนเจ็บช้ำน้ำใจ

 

ด้วยเหตุนี้การหย่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการจดทะเบียนสมรส แม้ไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องหย่าก็ตาม เพราะสำหรับคู่สมรสที่ตกลงปลงใจหย่าโดยความยินยอม ที่เขต/อำเภอ หลายครั้งหลายคู่ต้องพบกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนผู้ปรารถนาดีต่อโลก (ไม่ค่อยอยากใช้คำว่า ‘นายทะเบียน’ สักเท่าไร แม้จะเป็นคำที่ใช้ตามกฎหมาย แต่มันให้ความรู้สึกถึงช่วงชั้น ผู้เป็นใหญ่เหนือประชาชน และขณะเดียวกันก็สะท้อนความชายเป็นใหญ่ในเวลาเดียวกัน) หว่านล้อมโน้มน้าวไม่ให้หย่า หรือกว่าจะลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่าและในใบสำคัญการหย่า ต้องมั่นใจว่าคู่สามีภรรยาตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะหย่าจริงจัง 

 

สำหรับเจ้าหน้าที่แล้ว ‘หลายครั้งที่เราต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือโน้มน้าวให้คู่สามีภริยาที่พากันมาจดทะเบียนหย่าให้เปลี่ยนในและกลับมาใช้ชีวิตร่วมกัน แม้จะต้องชักแม่น้ำทั้งห้ามาปลอบ ให้กำลังใจ ตักเตือน ให้คำปรึกษา หรือใช้เวลาทำความเข้าใจกันเป็นวันๆ แต่ด้วยหัวใจนักปกครองก็ไม่ทำให้เราท้อ เพื่อประชาชนเราทนได้…’ แม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปอยู่ใต้เตียงเขาก็ตาม

 

อันที่จริง คือประชาชนสักคู่สมรสหนึ่งจะไปหย่า เค้าคิดสรตะมาแล้ว ตรองมาแล้ว ตัดสินใจมาดีแล้ว เตรียมเอกสารมาครบแล้ว เตรียมพยานบุคคลมาแล้ว ขนส่งมวลชนถนนหนทางบ้านนี้เมืองนี้ใช่ว่าจะดีสะดวกเดินทาง ถ่อมาถึงอำเภอแล้ว ก็คือคิดมาดีแล้ว

 

เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ทะเบียนทำตามหน้าที่ แต่หน้าที่ที่ถูกกำหนดมาเช่นนี้อยู่บนพื้นฐานของการมองว่าเป็นการสร้างความมั่นคง ความผาสุกให้กับสถาบันครอบครัว แต่นั่นก็คือผลักให้เขากลับไปอยู่ในสภาวะเดิม ปัญหาเดิม เพราะการหย่าคืออีกกระบวนการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ ยุติความทุกข์

 

ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่า สมรสเท่าเทียม ที่ไม่เพียงปลดล็อกรักต่างเพศนิยมในกฎหมาย เพิ่มสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในการสมรส แต่จะสร้างความเท่าเทียมในการหย่าร้างด้วย เพราะนั่นก็เป็นผลผลิตของรักต่างเพศนิยม และชายเป็นใหญ่ในเวลาเดียวกัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X