วันนี้ (21 ธันวาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยมี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานในการประชุม
ใจความหลักสำคัญที่จะแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามเงื่อนไขเดิมคืออนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ ทำให้คู่รักหลากเพศสามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป
การประชุมในวันนี้มีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 4 ร่าง
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับรัฐบาล เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล และคณะ
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ เสนอโดย สรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน เสนอโดย อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน
ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาอยู่ระหว่างนำเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับนั้นพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ได้นำธงมาโบกสะบัดและถืออุปกรณ์ผ้าสีรุ้งภายในห้องประชุมพระสุริยันด้วย
ปดิพัทธ์กล่าวตอนหนึ่งระหว่างทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมรัฐสภาว่า “ในการประชุมวันนี้จะมีการนำเข้าวัตถุต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นธงสีรุ้งพวกนี้นะครับ แต่วันนี้อนุญาตครับ มีผ้าขาวม้าหลากสีด้วย”
สำหรับธงสีรุ้งนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของชุมชน LGBTQIA+ ทั่วโลก การโบกสะบัดธงสีรุ้งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1978 จากฝีมือการออกแบบของ กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเกย์ชาวอเมริกัน
เบเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจและการผลักดันจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ (Harvey Milk) หนึ่งในนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ซึ่งกระตุ้นให้เขาสร้างสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจสำหรับชุมชนเกย์ขึ้นมา
เดิมทีธงสีรุ้งในเวอร์ชันแรกมี 8 แถบสี เนื่องจากเบเกอร์มองว่ารุ้งเป็นธงธรรมชาติจากท้องฟ้า ดังนั้นจึงเลือกใช้แถบสีจำนวน 8 สี ที่มีความหมายในตัวของมันเอง ได้แก่
- สีชมพูร้อน (Hot Pink) หมายถึงเซ็กซ์
- สีแดง (Red) หมายถึงชีวิต
- สีส้ม (Orange) หมายถึงการรักษา
- สีเหลือง (Yellow) หมายถึงแสงแดด
- สีเขียว (Green) หมายถึงธรรมชาติ
- สีเขียวอมฟ้า (Turquoise) หมายถึงศิลปะ
- สีคราม (Indigo) หมายถึงความสามัคคี
- สีม่วง (Violet) หมายถึงจิตวิญญาณ
ธงสีรุ้งถูกนำมาใช้ครั้งแรกในขบวนพาเหรดวันเสรีภาพเกย์ที่นครซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1978 ในครั้งนั้นเบเกอร์และทีมอาสาสมัครร่วมกันทำธงด้วยมือ
อ้างอิง: