วันนี้ (24 ก.พ.) นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล รองประธานสภา กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบกิจการตลาดบริเวณซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ กทม. แต่งตั้งขึ้น และนายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ ลงพื้นที่สำรวจสภาพตลาดรอบบ้านป้าบุญศรี และ รัตนฉัตร แสงหยกตระการ เพื่อเก็บข้อมูลเชิงกายภาพ
นายนิรันดร์กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้สั่งให้สำนักงานเขตประเวศรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตลาด เช่น ประวัติการก่อตั้ง การดำเนินคดีของ กทม. กับผู้ฝ่าฝืนในช่วงเวลาต่างๆ ส่งมาให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการพิจารณาข้อเท็จจริง ตนและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ทั้งหมดจึงเดินทางมาดูสภาพที่แท้จริงของตลาด เบื้องต้นพบว่ามีการใช้งานผิดประเภท เช่น ขออนุญาตเปิดเป็นอาคาร แต่กลับสร้างเป็นตลาด
หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รับเอกสารจากทางสำนักงานเขตแล้ว จะพิจารณาดูว่าเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายใดบ้าง ซึ่ง กทม. ยึดตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ผังเมืองฯ, พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. สาธารณสุข
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าตรงนี้เป็นพื้นที่จัดสรรเพื่อที่อยู่อาศัย กรณีนี้ต้องรอคำสั่งศาลปกครอง
ทั้งนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการมา 2 อย่างคือ ดูว่าตลาดถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายหรือไม่ และมีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพิจารณาเพียง 2 ประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม ผลสรุปจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเพียงข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยต้องสรุปผลรายงานต่อ พล.ต.อ. อัศวิน ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง หากข้อเท็จจริงเพียงพอ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโทษทางวินัยต่อไป
ขณะเดียวกันก็ทราบมาว่า ผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิ์ฟ้องร้องที่ ป.ป.ช. อยู่แล้ว เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ว่าฯ กทม. และผู้อำนวยการเขต
สำหรับเหตุการณ์ #ป้าทุบรถ ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการประกอบกิจการตลาดบริเวณซอยศรีนครินทร์ 55
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ปลัดกรุงเทพมหานครออกคำสั่งให้ทั้ง 50 สำนักงานเขตออกสำรวจตลาดที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย พร้อมรายงานผลไปยังผู้บริหาร กทม. รับทราบ
โดยผู้ว่าฯ กทม. เผยก่อนหน้านี้ว่า จากการตรวจสอบตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ พบมีอยู่ประมาณ 1,000 แห่ง แต่มีเพียง 364 แห่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตลาดถูกต้องตามกฎหมาย