×

TU รายงานกำไร 3Q64 ต่ำกว่าคาด จากอัตรากำไรที่อ่อนแอ เพราะการปิดโรงงานในไทยชั่วคราวช่วงโควิดระบาด

โดย SCB WEALTH
09.11.2021
  • LOADING...
TU Group

เกิดอะไรขึ้น:

วานนี้ (8 พฤศจิกายน) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) รายงานกำไร 3Q64 ที่ 1.9 พันล้านบาท ลดลง 6%YoY และลดลง 17%QoQ หากตัดกำไรพิเศษจำนวน 399 ล้านบาทออกไป (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 330 ล้านบาท และเงินประกันจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานในแคนาดา 63 ล้านบาท) กำไรปกติ 3Q64 จะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ลดลง 29%YoY และ 33%QoQ โดยกำไรปกติที่หดตัวลงเกิดจากอัตรากำไรขั้นต้นที่อ่อนแอ

 

ด้านยอดขาย 3Q64 เพิ่มขึ้น 2%YoY เกิดจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน (เงินบาทอ่อนค่าลง 5%YoY เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ, อ่อนค่า 6%YoY เมื่อเทียบกับยูโร และอ่อนค่า 12%YoY เมื่อเทียบกับปอนด์สเตอร์ลิง) หากตัดผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนออกไปยอดขาย 3Q64 จะลดลง 1%YoY 

 

โดยยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้น 11%YoY จากการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารและยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 11%YoY จากความต้องการที่แข็งแกร่งและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ช่วยชดเชยการลดลงของยอดขายอาหารทะเลแปรรูปที่ลดลง 8%YoY จากการซื้อกักตุนสินค้าในปีก่อนและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก

 

ด้านอัตรากำไรขั้นต้น 3Q64 ลดลง 20bps YoY สู่ 18% เนื่องจากมาร์จิ้นที่ลดลงในธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ลดลง 80bps YoY) และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (ลดลง 260bps YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปิดโรงงานในประเทศไทยชั่วคราวในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด ซึ่งหักล้างมาร์จิ้นที่สูงขึ้นในธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง (เพิ่มขึ้น 200bps YoY) เพราะธุรกิจกุ้งและล็อบสเตอร์ปรับตัวดีขึ้น

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) ราคาหุ้น TU ปรับตัวลง 0.98%DoD สู่ระดับ 20.30 บาท สวนทาง SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 5.56 จุด หรือ 0.34%DoD สู่ระดับ 1,631.69 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

กำไรปกติ 3Q64 ของ TU ที่ประกาศเมื่อวานนี้ต่ำกว่าตลาดคาด 16% ที่ 1.83 พันล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรที่อ่อนแอ และส่วนแบ่งกำไรจาก Red Lobster และ Avanti ที่ต่ำกว่าคาด แต่อย่างไรก็ดี TU ยังคงเป้าหมายยอดขายปี 2564 เติบโต 3-5%YoY (เติบโต 4%YoY ใน 9M64) ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ 17-18% (จาก 18.2% ใน 9M64) และคาดส่วนแบ่งขาดทุนจาก Red Lobster ที่ 200-300 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ หลังจากปิดดำเนินการชั่วคราวเนื่องมาจากการระบาดของโควิด โรงงานสงขลาแคนนิ่งได้กลับมาเดินเครื่องผลิตตามปกติแล้ว และโรงงานไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด กลับมาเปิดดำเนินการแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

สำหรับต้นทุนค่าระวาง ต้นทุนบรรจุภัณฑ์และน้ำมันที่ใช้ในการผลิตอาหาร TU คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงปี 2565 สำหรับการขายหุ้นที่ TU ถืออยู่ใน TFM จำนวน 19.3 ล้านหุ้น ในการทำ IPO ของ TFM นั้น TU จะบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท ผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น และอาจนำเงินที่ได้รับจำนวน 1.5 พันล้านบาทไปชำระคืนหนี้และลงทุนใหม่

 

มุมมองระยะยาว: 

TU ตั้งเป้าหมายรับรู้รายได้จากธุรกิจส่วนประกอบอาหารและอาหารเสริมเป็น 1 พันล้านบาทภายใน 5 ปี รวมถึงวางแผนเปลี่ยนการจัดหาเงินทุนระยะยาวจาก Traditional Finance 100% ในปี 2563 มาเป็น Sustainable Finance (เช่น สินเชื่อและตราสารหนี้ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน) ในสัดส่วน 50% ในปี 2565 และ 75% ในปี 2568 ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้แหล่งเงินทุนจาก Sustainable Finance จะทำให้ต้นทุนหนี้สินของบริษัทลดลงราว 0.05-0.1% ต่อปี

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามการนำธุรกิจ Pet Care เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 3Q65 และการนำธุรกิจร้าน Red Lobster เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในอีก 4 ปีข้างหน้า

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising