เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (28 พฤศจิกายน) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการของธนาคารธนชาต (TBANK) พร้อมทั้งมีมติแต่งตั้งกรรมการใหม่ 2 ราย ได้แก่ ศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ
ทั้งนี้ TMB ได้รายงานผลการใช้สิทธิของใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิชุดที่ 1 (TMB-T1) โดยมีจำนวน TMB-T1 ที่ถูกใช้สิทธิ 2.62 หมื่นล้านหน่วย จากทั้งหมด 3.04 หมื่นล้านหน่วย ซึ่งวงเงินการใช้สิทธิเพิ่มทุนในครั้งนี้ราว 3.8 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ TMB ตั้งไว้ที่ 4.25 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ผู้บริหาร TMB เผยว่า จำนวนเงินที่ได้มายังคงอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ โดยขั้นตอนต่อไปคือ การนำเงินไปซื้อหุ้น TBANK จาก บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) และธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย หลังจากนั้น TCAP จะนำเงินนี้กลับมาซื้อหุ้น TMB ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายในวันนี้ 3 ธันวาคม 2562
กระทบอย่างไร:
สัปดาห์นี้ราคาหุ้น TMB มีการตอบรับเชิงบวก โดยขึ้นไปจุดสูงสุดในสัปดาห์นี้ที่ 1.72 บาท เพิ่มขึ้น 18.62% จากราคาปิดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.45 บาท ขณะที่วันนี้ราคาหุ้นมีการปรับลงเล็กน้อย และเคลื่อนไหวในกรอบ 1.58-1.62 บาท เนื่องจากวันนี้ (29 พฤศจิกายน) มีการขึ้นเครื่องหมาย XD และได้ปัจจัยลบจากทิศทางตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงจากความกังวลด้านสงครามการค้า
มุมมองระยะสั้น:
ต้องติดตามความคืบหน้าการปรับโครงการธุรกิจของทั้งสองธนาคาร รวมทั้งติดตามการจัดตั้งคณะกรรมการผู้บริหารของธนาคารแห่งใหม่ เพื่อลงมติในการตั้งชื่อธนาคารแห่งใหม่
อย่างไรก็ดี SCBS ประเมินว่า กว่าที่กระบวนการควบรวมต่างๆ จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562 ทำให้ TMB จะสามารถรวมงบการเงินของ TBANK บางส่วนเข้ามาได้ราวกลางเดือนธันวาคม 2562 จึงทำให้ Synergy ที่เกิดขึ้นยังไม่มีนัยฯ ไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้น ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นจึงคาดว่าเกิดจาก Sentiment เชิงบวกระยะสั้น ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนราคาที่แท้จริงจะเป็นผลประกอบการของ TMB ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้าน
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า ภายหลังจากการควบรวมกิจการ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ใหม่มี ROE ที่ดีขึ้นจากมูลค่าทางบัญชีที่ลดลง ขณะที่กำไรต่อหุ้นดีขึ้นเล็กน้อย รวมถึงทำให้ธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่สามารถครองส่วนแบ่งตลาด 13% (อันดับ 1) สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ, ส่วนแบ่งตลาด 13% (อันดับ 4) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และส่วนแบ่งตลาด 6.5% (อันดับ 5) สำหรับสินเชื่อ SME
ข้อมูลพื้นฐาน:
บมจ. ธนาคารทหารไทย (TMB) ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแก่ลูกค้า 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย โดยมีกลุ่มไอเอ็นจี สถาบันการเงินของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับกระทรวงการคลัง
บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งบริษัทในกลุ่มธนชาตแบ่งประเภทการประกอบธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม 1. ธุรกิจทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจบริหารสินทรัพย์, ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจประกัน, ธุรกิจให้เช่าซื้อ และธุรกิจลิสซิ่ง 2. ธุรกิจสนับสนุน ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจโบรกเกอร์, ธุรกิจบริการ และธุรกิจการพัฒนาฝึกอบรม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล