เกิดอะไรขึ้น:
วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500 Index) ปรับตัวลง 1.31%DoD ปิดที่ระดับ 4,166.45 จุด หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาเซนต์หลุยส์ (ซึ่งเป็นกรรมการ Fed 1 ใน 7 รายที่คาดว่า Fed จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565) กล่าวว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วสุดในปี 2565 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 3% ในปี 2564 และจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2% นอกจากนี้ การส่งสัญญาขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าคาดของ Fed ถือเป็นการรับมือตามปกติต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วกว่าคาด
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (21 มิถุนายน 2564) ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดระหว่างวันที่ 1,590.55 จุด ก่อนที่จะฟื้นตัวในช่วงบ่ายปิดที่ระดับ 1,601.13 จุด ลดลง 11.85 จุด หรือลดลง 0.73%DoD ตามที่ทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวลงเฉลี่ย 1.01%DoD
มุมมองต่อตลาดหุ้นไทยระยะสั้น:
SCBS คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่เร็วกว่าคาดนั้นจะเป็นแรงกดดันและสร้างความผันผวนต่อต่อตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลงสู่แนวรับระยะสั้นที่ระดับ 1,580 จุด โดยแรงขายหลักๆ จะมาจากหุ้นในกลุ่มพลังงาน ขนส่ง ธนาคาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ และสื่อสาร แต่อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเตรียมเปิดประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษา Sentiment ของตลาดได้ ขณะที่แนวต้านประเมินไว้ที่ระดับ 1,620-1,628 จุด
ในสัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการส่งสัญญาณทางนโยบายการเงิน รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งใหม่ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564
มุมมองต่อการประชุม Fed :
ภายหลังจากที่มีการประชุม Fed เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ทำให้ SCBS เชื่อว่า Fed อาจต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเพื่อชะลอกระบวนการเก็งกำไร และคาดว่า Fed จะทำ QE Tapering (การปรับลดเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE) ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2564 หลังจากตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น และ Fed จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 หรือเร็วกว่านั้นหากอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงในระยะถัดไป ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าทิศทางนโยบายเงินในระยะต่อไปจะตึงตัวมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล