×

SVI เปิดพุ่งกว่า 20% หลังผู้ถือหุ้นใหญ่ประกาศทำคำเสนอซื้อคืนหลักทรัพย์ (Tender Offer)

โดย SCB WEALTH
12.09.2019
  • LOADING...
Market Focus SVI Tender Offer

เกิดอะไรขึ้น: เช้าวันนี้ (12 ก.ย.) SVI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ผู้ถือหุ้นใหญ่ (ถือ 45.71%) มีความประสงค์ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) ในหุ้นสามัญ SVI ที่เหลืออยู่จำนวนราว 1,168.9 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.29% ของทุนชำระแล้ว ที่ราคาเสนอซื้อหุ้นละ 4.85 บาท พร้อมทำ Tender Offer ใน SVI-W3 ที่ออกจำหน่าย และยังไม่ได้ใช้สิทธิจำนวน 30 ล้านหน่วย คิดเป็น 100% ของใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่ราคาเสนอซื้อหน่วยละ 0.41 บาท

 

ทั้งนี้ผู้ทำคำเสนอซื้อมีเงื่อนไขอาจยกเลิกคำเสนอซื้อได้หากสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อแล้วได้จำนวนหุ้นน้อยกว่า 415.3 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.29% ของทุนชำระแล้ว โดยมีระยะเวลาทำคำเสนอซื้ออยู่ในช่วงวันที่ 26 กันยายน ถึง 1 พฤศจิกายน 2562 นอกจากนี้ พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ซึ่งเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อไม่มีความประสงค์เพิกถอนหุ้น SVI ออกจากการเป็น บจ. ใน ตลท. ในระยะเวลา 1 ปีถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาทำคำเสนอซื้อ

 

กระทบอย่างไร: เช้านี้หลังตลาดหุ้นเปิด พบว่า ราคาหุ้น SVI เปิดกระโดดที่ราคา 4.74 บาท สูงกว่าราคาปิดวันก่อนหน้าราว 20% ก่อนที่ราคาหุ้นจะย่อตัวลงมาซื้อขายบริเวณ 4.66-4.70 บาทต่อหุ้น

 

มุมมองระยะสั้น: ปกติการทำ Tender Offer ที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดนับเป็น Sentiment บวกต่อราคาหุ้น และมักจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าไปใกล้บริเวณราคาเสนอซื้อ (Tender Offer) ในระยะสั้นๆ อยู่แล้ว เนื่องจากผู้ที่มีอยู่สามารถนำหุ้นไปขายให้ผู้ที่ทำคำเสนอซื้อตามราคาที่ระบุได้ ขณะที่ผู้ที่ไม่มีอาจใช้โอกาสนี้เข้าซื้อหุ้นใน ตลท. หากมองเห็นส่วนต่างระหว่างราคาเข้าซื้อและราคา Tender Offer อยู่ในระดับที่น่าพอใจสำหรับการลงทุน

 

มุมมองระยะยาว: อย่างไรก็ดีเรามองการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยทิศทางราคาหุ้นในระยะยาวยังคงต้องพิจารณาจากแนวโน้มผลประกอบการ (ข้อมูลล่าสุด: ราคาเสนอซื้อที่หุ้นละ 4.85 บาท สูงกว่าราคาเป้าหมายเฉลี่ยจาก IAA Consensus ที่หุ้นละ 3.96 บาท)

 

ข้อมูลพื้นฐาน: บมจ. เอสวีไอ (SVI) ประกอบธุรกิจให้บริการแบบครบวงจรในการประกอบผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป (EMS) ให้แก่ลูกค้าที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (OEM) และลูกค้าที่เป็นผู้รับจ้างออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design House) โดยบริษัทเริ่มดำเนินงานจากการรับจ้างประกอบแผงวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาเมื่อมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นจึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เป็นการมุ่งเน้นด้านการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป (Turnkey Box-Build) และการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปประเภทงานระบบ (System-Build)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising