เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (17 มีนาคม) รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดย สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการจ่ายเช็คมูลค่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (วงเงินทั้งสิ้นราว 1 ล้านล้านดอลลาร์) ให้แก่ประชาชนภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า รวมถึงเลื่อนการชำระภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
นอกจากนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า ทางรัฐบาลจะดำเนินการครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อไม่ให้ธุรกิจสายการบินประสบภาวะล้มละลาย และจะไม่ปล่อยให้ประชาชนชาวอเมริกันตกงานจากผลกระทบครั้งนี้
ขณะที่วานนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 5 แสนดอลลาร์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน พร้อมประกาศเพิ่มประเภทของหลักทรัพย์ในการซื้อคืนพันธบัตร
ทั้งนี้ มาตรการเยียวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลลงเล็กน้อย และหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นวานนี้
– ดัชนี S&P ปรับขึ้นสู่ระดับ 2,529.17 จุด เพิ่มขึ้น 143.04 จุด หรือเพิ่มขึ้น 5.99%DoD
– ดัชนี Dow Jones พุ่งขึ้นสู่ระดับ 21,237 จุด เพิ่มขึ้น 1,048.86 จุด หรือเพิ่มขึ้น 5.20%DoD
กระทบอย่างไร:
เช้าวันนี้ตลาดหุ้นไทย (SET Index) พุ่งขึ้นสู่ระดับ 1,057.84 จุด เพิ่มขึ้น 22.67 จุด หรือเพิ่มขึ้น 2.19%DoD ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวขึ้นในช่วงเช้าโดยเฉลี่ย 0.8%DoD สำหรับในช่วงบ่าย ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนกลับมาปิดในแดนลบ โดยลดลงเฉลี่ย 2.7% เนื่องจากตลาดยังคงกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ดี SET Index ยังสามารถปิดในแดนบวกได้ในวันนี้ที่ระดับ 1048.15 จุด เพิ่มขึ้น 12.98 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.25%DoD โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสื่อสารอย่าง
– บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 4.35%
– บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 5.08%DoD
– บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 13.01%DoD
เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างจำกัด และก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงตามทิศทางตลาดหุ้น
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่า การออกมาตรการของทางการทั่วโลกเป็นเพียงการลดความร้อนแรงและชะลอการถดถอยทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ขณะที่ปัจจัยกดดันหลักยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกประเทศจีน ที่กำลังลุกลามมากขึ้น โดยกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกให้ถดถอยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพรวมการลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุน
อย่างไรก็ดีต้องตามจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศจีนรายวัน หากเริ่มเห็นตัวเลขที่เริ่มชะลอตัวลง จะช่วยคลายความกดดันต่อภาพรวมการลงทุนได้
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกจะรุนแรงจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 จากอุณหภูมิทั่วโลกที่อุ่นขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล และการคิดค้นวัคซีนใหม่ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่สภาวะปกติในครึ่งปีหลังของปี 2563
สำหรับกรณีเลวร้าย หากการแพร่ระบาดรุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยประเมินว่า กรณีนี้สถานการณ์จะรุนแรงถึงเดือนกรกฎาคม 2563
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าการคิดค้นพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ล่าสุดวานนี้ (17 มีนาคม) ทางการจีนได้อนุมัติให้คณะวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีนเริ่มทดลองใช้วัคซีนกับคนแล้ว ซึ่งการทดลองจะเริ่มขึ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมทดลอง 108 คน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
ข้อมูลพื้นฐาน:
ติดตามบทวิเคราะห์ ‘วิกฤต Covid-19…อ่านก่อนลงทุน’ ได้จากทาง SCBS