เมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม) ครม. มีมติเห็นชอบกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ (SSF) แทน LTF และปรับเกณฑ์การซื้อ RMF ซึ่งรายละเอียดเป็นไปตามข้อมูลดังนี้
1. ครม. มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดอายุภายในปี 2019 นี้ เป็นกองทุนใหม่ชื่อ Super Savings Fund (SSF) โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จากเดิม 15%) แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท แต่เมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปีภาษี และกำหนดระยะเวลาการถือครอง 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ (วันชนวัน) จากเดิม 7 ปีปฏิทิน
2. ครม. เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF) โดยให้สามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จากเดิม 15%) และเมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนจากกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท นอกจากนี้ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ต้องซื้อขั้นต่ำ 3% หรือ 5,000 บาทเป็นไม่มีวงเงินขั้นต่ำในการซื้อ แต่เมื่อเริ่มซื้อ RMF แล้วต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีเช่นเดิม
ข้อสังเกตจาก SCBS
- เมื่อพิจารณาหลักการซื้อกองทุน SSF จะต้องนำไปคำนวณรวมกับวงเงินลดหย่อนกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี จะได้สมการตามด้านล่าง
- กองทุน SSF + กองทุน RMF + กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ + กองทุน กบข. + กองทุนการออมแห่งชาติ + กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ =< 500,000 บาท
- วงเงินการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสูงสุด สำหรับที่ต้องการลดหย่อนภาษีนั้น ลดลงไปจาก 1 ล้านบาท (LTF, RMF อย่างละ 5 แสน) จะเหลือเพียง 5 แสนบาท
- การให้ถือครอง 10 ปีแบบวันชนวันจะทำให้ระยะเวลาถือครองยาวขึ้น จากเดิม 7 ปีปฏิทิน หรือระยะเวลาที่สั้นที่สุดสามารถถือครองจริงคือ 5 ปีนิดๆ จะกลายเป็น 10 ปีเต็มๆ
- สำหรับผู้ที่มีอายุไม่มากกองทุน SSF จะดูน่าสนใจเมื่อเทียบกับกองทุน RMF เพราะระยะเวลาถือครองที่สั้นกว่า นอกจากนี้ยังไม่ติดเงื่อนไขที่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีจนเกษียณอีกด้วย
- สำหรับผู้ลงทุนอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป อาจต้องพิจารณาการเลือกซื้อกองทุนระหว่าง SSF และ RMF เนื่องจากกองทุน SSF ต้องถือครอง 10 ปีจะทำให้สามารถเริ่มขายคืนได้ตอนอายุมาก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อายุ 50 ปีหากซื้อกองทุน SSF จะเริ่มขายคืนได้เมื่ออายุ 60 ปี แต่หากหันไปพิจารณาซื้อกองทุน RMF จะสามารถขายคืนได้ตั้งแต่ตอนอายุ 55 ปี
- การที่กองทุน SSF สามารถแลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน เพราะจากเดิม LTF จะบังคับลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65%
- กองทุน SSF ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี (2020-2025) หลังจากนั้นต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าจะมีการต่ออายุหรือมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการหรือไม่
- การปรับวงเงินในการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับ SSF และ RMF เป็นอย่างละ 30% ของเงินได้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีรายได้ไม่มากและต้องการออมมากๆ
- อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2019 ก็ยังสามารถซื้อกองทุน LTF ได้เช่นเดิม
Tips ในการออมและลงทุนสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษี
- ให้มองการลงทุนใน SSF และ RMF เป็นพอร์ตโฟลิโอเดียวกัน การแบ่งสินทรัพย์ในการลงทุนจะได้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยง
- กองทุน SSF จะไม่เหมือนกับ LTF ที่มีนโยบายการลงทุนที่อิสระ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ดังนั้น ก่อนการลงทุนจะต้องดูให้ดีว่ากองที่เราจะลงทุนเหมาะสมกับความเสี่ยงของเราหรือไม่ อย่าลงทุนตามใคร ไม่จำเป็นว่าเพื่อนหรือญาติลงทุนอะไรแล้วเราจะต้องลงทุนตามเขา เพราะความสามารถในการรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน
- การกระจายการลงทุนที่เหมาะสม ไม่มากไปและไม่น้อยไป ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในระยะยาว ควรมีทั้งตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง REITs และทองคำ
- ระยะเวลาถือครอง 10 ปีเหมือนจะยาว แต่จากสถิติที่ผ่านมา การลงทุนยิ่งยาวยิ่งสร้างผลตอบแทนได้สูง
- ตลาดการเงินมีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่มากมาย สิ่งที่เราควบคุมได้มีเพียงวินัย และการทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ดังนั้นแล้ว ควรมุ่งเน้นไปในสิ่งที่เราควบคุมได้จะดีกว่า อะไรควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยผ่านไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- กระทรวงการคลัง