×

หุ้นกลุ่มขนส่งทางบก – ฟื้นตัวแตกต่างกันในปีนี้

20.03.2024
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มขนส่ง

เกิดอะไรขึ้น:

 

ณ สิ้นปี 2566 ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนอยู่ที่ 90% ของระดับก่อนเกิดโควิด จำนวนผู้โดยสาร MRT (สายสีน้ำเงิน) อยู่ที่ 78% ของระดับก่อนเกิดโควิด (อิงกับระดับก่อนเกิดโควิดที่ประเมินได้ที่ 500,000 เที่ยวคนต่อวัน) และจำนวนผู้โดยสาร BTS (สายหลักสีเขียว) อยู่ที่ 80% ของระดับก่อนเกิดโควิด InnovestX Research เชื่อว่าโมเมนตัมการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยประเมินได้ว่าปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนจะเพิ่มขึ้น 2.2% สู่ 1.1 ล้านเที่ยวต่อวัน หรือ 92% ของระดับก่อนเกิดโควิด ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนใน 2M67 เพิ่มขึ้น 0.4%YoY 

 

สำหรับ MRT (สายสีน้ำเงิน) จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันน่าจะเพิ่มขึ้น 15% สู่ 449,000 เที่ยวคนต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 90% ของระดับก่อนเกิดโควิด จำนวนผู้โดยสาร MRT ใน 2M67 เพิ่มขึ้น 13.3%YoY สำหรับ BTS (สายหลักสีเขียว) ตัวเลขการเติบโตอ้างอิงกับปีบัญชีของ BTS ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม สำหรับปี FY2567 (เมษายน 2556 – มีนาคม 2567) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 30% สู่ 212 ล้านเที่ยวคน ซึ่งคิดเป็น 88% ของระดับก่อนเกิดโควิด จำนวนผู้โดยสาร BTS ใน 2M67 เพิ่มขึ้น 8.5%YoY ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารใน 11MFY67 เติบโต 21% 

 

ทั้งนี้ นักลงทุนจำนวนมากมีคำถามว่าปริมาณจราจรจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากเทรนด์การทำงานแบบไฮบริด InnovestX Research เชื่อว่าคำตอบคือ ‘ใช่’ ปัจจัยสนับสนุนอย่างหนึ่งคือการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเห็นแนวโน้มที่คนใช้รถประจำทางน้อยลงและหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณจราจรกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้ ตามสมมติฐานประเมินได้ว่าปริมาณการจราจรจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2568-2569

 

ส่วนความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดอายุ (Rollover Risk) มีจำกัด InnovestX Research มองว่าทั้ง BTS และ BEM มีความเสี่ยงดังกล่าวค่อนข้างจำกัด BEM มีหุ้นกู้มูลค่า 8 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 และ 7 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568 ในขณะที่บริษัทมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารเพียงพอ สำหรับ BTS บริษัทมีหุ้นกู้มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี FY2568 (เมษายน 2567 – มีนาคม 2568) และ 8.7 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี FY2569 เมื่ออิงกับข้อมูลที่ได้มาจากการพูดคุยกับผู้บริหาร BTS มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร 1.7 หมื่นล้านบาท และมีสินทรัพย์สภาพคล่อง 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ BTSGIF ไม่มีหนี้สิน

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มขนส่ง (SETTRANS) ปรับขึ้น 3.02%, BEM ปรับขึ้น 7.19% และ BTS ปรับลง 5.26% ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.02%

 

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:

 

แม้ปริมาณการจราจรจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 และในที่สุดแล้วจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด แต่แนวโน้มกำไรของหุ้นในกลุ่มขนส่งทางบกกลับมีทิศทางที่แตกต่างกัน InnovestX Research คาดว่า BEM จะฟื้นตัวได้ดีที่สุด ดังนั้นจึงให้คำแนะนำ Outperform สำหรับ BEM ด้วยราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี SOTP ที่ 9.0 บาทต่อหุ้น (8.3 บาทสำหรับธุรกิจหลัก และ 0.7 บาทสำหรับเงินลงทุนใน CKP และ TTW) ราคาเป้าหมายดังกล่าวยังไม่ได้รวม Upside  อีก 1.5 บาทต่อหุ้น จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกเข้ามา 

 

สำหรับ BTS เชื่อว่ากำไรปกติยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ดังนั้นจึงคงคำแนะนำ Neutral โดยให้ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี SOTP ที่ 9.6 บาทต่อหุ้น ถ้าไม่นับการต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 6 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำ Neutral สำหรับ BTSGIF ด้วยราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DDM ที่ 5.5 บาทต่อหน่วย BTSGIF เป็นตัวเลือกลงทุนระยะยาวที่มั่นคง เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลดี ถ้าใช้สมมติฐานผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับในแต่ละไตรมาสอยู่ในระดับคงที่ที่ 0.2 บาทต่อหน่วย จนกระทั่งสิ้นสุดสัมปทาน IRR จะอยู่ที่ 7.5% 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหน่วยลงทุนมี Upside ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนที่จ่ายคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนจะอยู่ในรูปของการลดทุน ในอดีตที่ผ่านมาราคาหุ้นที่จ่ายผลตอบแทนในรูปการลดทุนมักเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย

 

ด้านความเสี่ยง ESG ที่สำคัญสำหรับกลุ่มขนส่งทางบก ความน่าเชื่อถือของการให้บริการคือ ความเสี่ยง ESG ที่สำคัญสำหรับกลุ่มขนส่งทางบก เนื่องจากจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อจำนวนผู้โดยสาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X