×

ปี 2019 กับความเป็น ‘ที่สุด’ ของ SET Index ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง

โดย SCB WEALTH
02.01.2020
  • LOADING...
Market Focus SET Index 2019

Happy New Year 2020! สวัสดีปีใหม่ 2563!

 

ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านพ้นมาไม่กี่วัน ต้องถือว่าเป็นปีที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) มีความผันผวนและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง 

 

โดยในช่วง 6 เดือนแรก SET Index ปรับขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 1,563.88 จุด ทะยานสู่ 1,730.34 จุด หรือปรับเพิ่มขึ้นถึง 10.6% ก่อนที่ 6 เดือนหลัง SET Index จะดิ่งลงและปิดสิ้นปี 2562 ที่ระดับ 1,579.84 จุด หรือลดลงจากสิ้นเดือนมิถุนายนกว่า 8.7% 

 

อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้วปี 2562 SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 15.96 จุด หรือ 1.02% จากปี 2561 ซึ่งยังสามารถรักษาสถิติผลตอบแทนไม่ติดลบต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า (ปี 2561 SET ปรับลดลง 10.8% YoY) ซึ่งในอดีต SET Index เคยติดลบ 5 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2537-2541 ก็ต้องมาดูกันในปี 2563 นี้ว่า SET จะรักษาสถิติผลตอบแทนทั้งปีไม่ติดลบได้อีกหรือไม่

 

และในโอกาสนี้ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ขอรวบรวมสถิติที่เป็น ‘ที่สุด’ และน่าสนใจของ SET Index ในปี 2562 ดังนี้

 

  • ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด (ไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ) คือ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ประกอบธุรกิจให้บริการนายหน้าประกันภัยและนายหน้าประกันชีวิต ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นจาก 22.80 บาท ณ สิ้นปี 2561 สู่ 66.00 บาท ณ สิ้นปี 2562 คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 189%

    โดย TQM เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ด้วยจุดเด่นที่เป็นนายหน้าธุรกิจประกันรายใหญ่ของประเทศ โดยดำเนินธุรกิจเชิงรุกด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายและการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อขายบัตรเครดิต หนุนให้ผลกำไรในช่วงที่ผ่านมาเติบโตและสร้างสถิติใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

 

  • ราคาหุ้นปรับลดลงมากที่สุด (ไม่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ) คือ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ ธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เมต์

    โดยราคาหุ้นปรับลดลงจาก 0.36 บาท ณ สิ้นปี 2561 สู่ 0.07 บาท ณ สิ้นปี 2562 หรือลดลงกว่า 81% โดยผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ในปี 2562 มีประเด็นข่าวลบเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เข้ามากดดัน ทำให้สภาพคล่องบริษัทต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า PACE จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

  • ราคาหุ้นผันผวนมากที่สุด กล่าวคือเป็นหุ้นที่มีอัตราส่วนต่างระหว่างราคาสูงสุดและต่ำสุดในปี 2562 ซึ่งก็ยังคงเป็น PACE โดยราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 0.41 บาท เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 และทำจุดต่ำสุดที่ 0.02 บาท เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 คิดเป็นอัตราส่วนต่างของราคากว่า 1,950%

 

  • มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดเป็นของ บมจ.ปตท. (PTT) เฉลี่ยอยู่ที่วันละราว 2.2 พันล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4.7 พันล้านบาท หรือลดลงกว่า 47%

    อย่างไรก็ดี ในปี 2562 มีหุ้นที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 1 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2561 คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) โดยปี 2562 อยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท จากปี 2561 ที่ 619 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 78% ขณะที่ราคาหุ้นทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นถึง 103.68% สะท้อนถึงการเป็นหุ้นยอดนิยมได้เป็นอย่างดี

 

  • หุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ในรอบ 12 เดือนย้อนหลังสูงที่สุดต้องยกให้กับ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) โดยในปี 2562 มีการจ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง (จากเดิมปีละครั้ง ยกเว้นปี 2560-2561 ไม่ได้จ่ายปันผล) ครั้งแรก 6.90 บาทต่อหุ้น จ่ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 เป็นการจ่ายเงินปันผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากที่บริษัทก่อตั้งมา ส่วนครั้งที่ 2 จ่าย 5.20 บาทต่อหุ้น จ่ายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ผู้ถือหุ้น NOBLE ได้รับเงินปันผลไปทั้งสิ้น 12.10 บาท เทียบกับราคาหุ้นสิ้นปี 2562 ที่ 16.40 บาท คิดเป็น Dividend Yield สูงถึง 74%

 

  • หุ้นที่ถูกขายชอร์ต (Short Sale) มากที่สุดคือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) โดยมีมูลค่าการขายชอร์ตทั้งปีที่กว่า 3.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 10.4% เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งปี ซึ่งราคาหุ้นของ PTTGC ในปี 2562 ปรับลดลงถึง 20%

 

โดยสรุปแล้ว สถิติที่เป็น ‘ที่สุด’ ดังกล่าวข้างต้นมิได้จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นซ้ำอีกในปีนี้ เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนย่อมแปรเปลี่ยนไปตามสภาวะที่เหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือราคาหุ้นจะสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มผลการดำเนินงานในอนาคต หากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นจนเกินมูลค่าที่แท้จริง (Overvalue) หรือปรับลงจนต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Undervalue) ท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้นย่อมจะต้องปรับเข้าสู่มูลค่าที่แท้จริง (Fair Value)

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X