×

SCC – 1Q66 กำไรสุทธิสูงกว่าคาดเพราะมีกำไรพิเศษ

28.04.2023
  • LOADING...
MARKET FOCUS

เกิดอะไรขึ้น:

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) รายงานกำไรสุทธิ 1Q66 เติบโตก้าวกระโดดสู่ 1.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 87%YoY และเพิ่มขึ้น 10,410%QoQ สูงกว่าคาด 347% และสูงกว่า Consensus คาด 336% เพราะมีกำไรพิเศษจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนจากธุรกรรมการรวมกิจการ SCGJWD Logistics จำนวนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท หากตัดรายการพิเศษดังกล่าวออกไป กำไรปกติ 1Q66 อยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท เป็นไปตามคาด

 

โดยกำไรปกติ 1Q66 ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก QoQ ซึ่งเกิดจาก 

 

  1. ส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้น (ส่วนต่างราคาโพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) อยู่ที่ 396 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ใน 1Q66 เทียบกับ 361 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันใน 4Q65 และส่วนต่างราคาโพลิโพรพิลีน (PP) อยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันใน 1Q66 เทียบกับ 302 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันใน 4Q65)

 

  1. ปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นหลังจากบริษัทกลับมาเดินเครื่องโรงงาน Rayong Olefins Complex (ROC) ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโอเลฟินส์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 70% ใน 4Q65 สู่ 75-80% ใน 1Q66 (ปริมาณการผลิตโพลิโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นจาก 331,000 ตันใน 4Q65 สู่ 390,000 ตันใน 1Q66)

 

  1. ธุรกิจ CBM ซึ่งพลิกกลับมามีกำไรปกติ 1.5 พันล้านบาท ใน 1Q66 จากขาดทุนปกติ 157 ล้านบาท ใน 4Q65 จากปัจจัยฤดูกาลและความต้องการปูนซีเมนต์ที่ปรับตัวดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (SCGP, OUTPERFORM, ราคาเป้าหมาย 65 บาท) ก็ปรับตัวดีขึ้นใน 1Q66 โดยได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ลดลง 

 

กระทบอย่างไร:

 

วันนี้ (27 เมษายน) ณ เวลา 12.30 น. ราคาหุ้น SCC ปรับเพิ่มขึ้น 2.99%DoD สู่ระดับ 310 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.71%DoD อยู่ที่ระดับ 1,533.03 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

 

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการใน 2Q66 InnovestX Research มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลังจากจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้โพลิโอเลฟินส์มากที่สุดในโลก (ราว 25-30% ของความต้องการใช้โพลิโอเลฟินส์ทั่วโลก) 

 

ซึ่งคาดว่าราคาและส่วนต่างราคา HDPE/PP จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะ 2-3 ไตรมาสข้างหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีนซึ่งจะผลักดันให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น และลดทอนผลกระทบจากสถานการณ์อุปทานล้นตลาดในปัจจุบัน

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอุปทานเพิ่มเติมจำนวนมากที่จะเข้าสู่ตลาด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising