เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 2Q65 ของบริษัทกลุ่มการแพทย์ ภายใต้การวิเคราะห์จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH), บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) และ บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มการแพทย์ (SETHELTH) ปรับเพิ่มขึ้น 7.67%MoM โดย
ราคาหุ้น BCH ปรับเพิ่มขึ้น 11.0%MoM สู่ระดับ 20.10 บาท
ราคาหุ้น BDMS ปรับเพิ่มขึ้น 9.5%MoM สู่ระดับ 26.50 บาท
ราคาหุ้น BH ปรับเพิ่มขึ้น 4.0%MoM สู่ระดับ 180.50 บาท
ราคาหุ้น CHG ปรับเพิ่มขึ้น 2.76%MoM สู่ระดับ 3.72 บาท
ราคาหุ้น RJH ปรับเพิ่มขึ้น 16.9%MoM สู่ระดับ 38.00 บาท
พรีวิวผลประกอบการ 2Q65:
SCBS ประเมินกำไรปกติของหุ้นกลุ่มการแพทย์จะเติบโต YoY แต่จะลดลง QoQ โดยกำไรที่เติบโต YoY จะได้รับการสนับสนุนจากรายได้จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิดที่เพิ่มขึ้น และรายได้เพิ่มเติมจากบริการโควิด ในขณะที่กำไรที่ลดลง QoQ จะมีสาเหตุมาจากปัจจัยฤดูกาล และรายได้จากบริการโควิดที่ลดลง
ซึ่งคาดว่า BH จะรายงานกำไรเติบโต YoY แข็งแกร่งที่สุด จากฐานต่ำอันเป็นผลมาจากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่อ่อนแอ (เพิ่มขึ้น 197%YoY, ลดลง 13%QoQ) ตามมาด้วย BDMS (เพิ่มขึ้น 65%YoY, ลดลง 30%QoQ) และ CHG (เพิ่มขึ้น 56%YoY, ลดลง 34%QoQ) ขณะที่คาดว่า BCH จะรายงานกำไรเติบโต YoY ต่ำที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากฐานสูงจากบริการโควิด (เพิ่มขึ้น 7%YoY, ลดลง 40%QoQ)
ส่วนสถานการณ์การบริการเกี่ยวกับโควิดใน 2Q65 โรงพยาบาลเอกชนได้ลดจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดลง เนื่องจากความต้องการรักษาโควิดในโรงพยาบาลปรับลดลง สอดคล้องกับการฉีดวัคซีนได้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความรุนแรงของโรคลดลง และจำนวนผู้ป่วยโควิดที่ลดลง ยกตัวอย่างเช่น BDMS และ BCH ได้ลดจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดลง ~20% และ ~38% ตามลำดับ
สำหรับความกังวลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 นั้น นับถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีแผนที่จะนำมาตรการใหม่มาใช้เพื่อรับมือกับสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เนื่องจากสายพันธุ์ย่อยใหม่ดังกล่าวไม่รุนแรงเท่าระลอกก่อนหน้านี้
ตัวอย่างเช่น แอฟริกาใต้ (ประเทศแรกที่ตรวจพบ BA.4 และ BA.5 ในเดือนมกราคม) พบว่าจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงที่เกิดการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูง โดย SCBS ยังคงมุมมองที่ว่ารายได้จากบริการโควิดจะเริ่มลดลงใน 2Q65 – ปี 2566 จากฐานสูงในปี 2564
แนวโน้มผลประกอบการ 2565:
SCBS คาดว่าการให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติจะแข็งแกร่งขึ้นใน 2H65 โดยคาดว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด คือ บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ BDMS (~30% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) และ BH (~65% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) หลังจากประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางทั้งหมด
ซึ่งรวมถึงระบบ Thailand Pass และการประกันโควิด ทั้งนี้ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเร่งตัวขึ้นจาก 2.93 แสนคนในเดือนเมษายน สู่ 7.10 แสนคนในเดือนมิถุนายน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยได้สะดวกมากขึ้น
สำหรับ Upside ต่อผลประกอบการ คือ การมีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้รายได้และมาร์จิ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และแนวโน้มที่ความต้องการเข้ารับการรักษาโควิดในโรงพยาบาลจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงคือ การแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร
อย่างไรก็ดี SCBS เลือก BDMS เป็นหุ้นเด่น จากผลประกอบการของบริษัทที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่ากำไรจะเติบโต 38% ในปี 2565 อีกทั้งยังสามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นได้ เพราะบริการทางการแพทย์มีอำนาจในการกำหนดราคา
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP