×

KTC – แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังยังคงทรงตัว ขณะที่ทิศทาง NPL เริ่มดีขึ้น

โดย SCB WEALTH
14.09.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน 2563 บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 ที่ระดับ 6.6% และเริ่มมีทิศทางดีขึ้นในไตรมาส 3/63 ขณะที่ยอดการปล่อยสินเชื่อปี 2563 บริษัทยังคงตั้งเป้าเติบโต 10% โดยบริษัทได้มีการขยายตลาดมายังกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน ได้แก่ KTC พี่เบิ้ม ที่ได้เปิดตัวไปในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเบื้องต้นอัตราการเติบโตของสินเชื่อดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ ราคาหุ้น KTC ปรับตัวขึ้น 1.61% DoD สู่ระดับ 31.50 บาท สวนทาง SET Index ที่ปรับตัวลง 7.62 จุดหรือลดลง 0.60% DoD สู่ระดับ 1,272.34 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS คาดแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลัง 2563 ของ KTC จะทรงตัวจากครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งเกิดจากการใช้นโยบายอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เพื่อสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงการยึดหลักความระมัดระวังท่ามกลางทิศทางเศรษฐกิจขาลง 

 

ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) SCBS คาดว่าจะหดตัวลง 70 bps ในปี 2563 โดยได้ผลกระทบจากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลง นอกจากนี้ธนาคารออมสินได้เสนอสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันวงเงิน 50,000 บาทต่อราย ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือน ซึ่งโครงการนี้จะกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลของ KTC แต่อย่างไรก็ดีปัจจัยลบจะถูกชดเชยบางส่วนด้วยการตั้งสำรองที่ลดลงเล็กน้อย

 

ขณะที่อัตราส่วน NPL คาดว่าจะลดลงในไตรมาส 3/63 โดย KTC ได้เปิดเผยว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้ได้ทำจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 2/63 และเริ่มดีขึ้นในไตรมาส 3/63 นอกจากนี้ KTC จะเปลี่ยนนโยบายตัดหนี้สูญมาเป็นตัดจำหน่ายสินเชื่อที่ค้างชำระ 6 เดือน โดยการเปลี่ยนนโยบายตัดหนี้สูญนี้จะไม่มีผลกระทบต่อผลขาดทุนทางด้านเครดิตและคุณภาพสินทรัพย์ที่แท้จริงของบริษัท แต่จะช่วยหนุนให้ LLR Coverage ปรับตัวขึ้นจาก 157% ณ ไตรมาส 2/63 สู่ประมาณ 180% และทำให้อัตราส่วน NPL ลดลงสู่ระดับ 4-5% จาก 6.6% ในไตรมาส 2/63

 

มุมมองระยะยาว:

ในระยะยาวต้องติดตามอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน รวมถึงติดตามความคืบหน้าการรุกตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารออมสินที่เสนอดอกเบี้ยต่ำกว่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการกลุ่มนอนแบงก์

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

% DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X