เกิดอะไรขึ้น:
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ราคาน้ำมันดิบ WTI ผันผวนอย่างมาก และปรับตัวลงมาแล้วกว่า 72% YTD จาก 61.06 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 17.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยสาเหตุหลักเกิดจากอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายประเทศระงับการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอื่นๆ เช่น การให้ประชาชนทำงานที่บ้าน การยกเลิก/เลื่อนจัดงานต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเครื่องบิน เบนซิน ดีเซล) ลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อไปยังความต้องการใช้น้ำมันดิบ
นอกจากนี้น้ำมันดิบยังประสบปัญหากับภาวะอุปทานส่วนเกิน หลังที่ประชุม OPEC (วันที่ 5-6 มีนาคม) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการลดกำลังการผลิตได้ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่เหตุการณ์สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย โดยการเพิ่มกำลังการผลิตและปรับลดราคาขายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดน้ำมัน จนทำให้สหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาครั้งนี้เพื่อยุติการทำสงครามราคาน้ำ และได้ข้อสรุปว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน และจะลดกำลังการผลิตลงเหลือ 8 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี 2563 และจะลดกำลังการผลิตเหลือ 6 ล้านบาร์เรลต่อวันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงธันวาคม 2564
ขณะที่ International Energy Agency (IEA) ออกมาระบุเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ว่าผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง 29 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายน ต่ำสุดในรอบ 25 ปี แต่ขณะที่การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ลงเพียง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่มากพอที่สร้างความสมดุลต่อตลาดน้ำมัน
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ราคาหุ้น บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) ปรับตัวลงมาแล้วกว่า 27.2% YTD จาก 3.68 บาท สู่ระดับ 2.68 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลง 19.6% YTD จากระดับ 1579.84 จุด สู่ระดับ 1,269.54 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 เวลา 12.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าไตรมาส 1/63 IRPC จะรับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบจำนวนมากเกือบ 7 พันล้านบาท ซึ่งมีรายการปรับลดมูลค่าทางบัญชีของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับรวมอยู่ด้วย สำหรับด้านปริมาณการกลั่นคาดว่าจะลดลง QoQ สู่ระดับ 1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 87% ของกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะตลาดของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นจากการผลิต (Market Gross Integrated margin: Market GIM) ของ IRPC คาดจะฟื้นตัว QoQ จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มโอเลฟินส์เนื่องจากส่วนราคา HDPE และ PE เพิ่มขึ้น 23% QoQ และ 10% QoQ ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี Market GIM ที่ฟื้นตัวดีขึ้นไม่อาจชดเชยผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันดิบ และปริมาณการกลั่นที่ลดลงได้ ทำให้ SCBS คาดว่า IRPC จะรายงานผลขาดทุนสุทธิไตรมาส 1/63 ที่ 8.4 พันล้านบาท (อ่อนแอสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551) จากขาดทุน 513 ล้านบาทในไตรมาส 4/62 และมีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 เบื้องต้นคาดว่า IRPC จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 วันที่ 7 พฤษภาคม
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนแอเช่นนี้จะเกิดขึ้นต่อในไตรมาส 2/63 และจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2563 โดยได้ปัจจัยหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีดีขึ้นเพราะราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกดดันต่อต้นทุนแนฟทาให้อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน รวมถึงปริมาณการขายน้ำมันเตากำมะถันต่ำ (LSFO) ที่สูงขึ้นจะช่วยหนุนต่อทิศทางผลประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2563 ทั้งนี้ต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่หลายประเทศกำลังจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้หากมีการระบาดครั้งที่ 2 ทั่วโลกเกิดจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาพรวมการลงทุนได้
ข้อมูลเพิ่มเติม:
% YTD คือ % การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
% YoY คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
% QoQ คือ % การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์