เกิดอะไรขึ้น:
กำไรสุทธิ 1H65 ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงสูงและการปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมได้ช้า ซึ่งเชื่อว่ากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นใน 2H65 โดยได้รับการสนับสนุนจากการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม
InnovestX Research คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของธุรกิจ SPP ใน 2H65 จะเพิ่มขึ้น 10% จาก 1H65 และเพิ่มขึ้น 42%YoY นอกจากนี้กำไรสุทธิยังจะได้แรงหนุนจากกำไรที่สูงขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ XPCL ใน สปป.ลาว และเงินชดเชยประกันภัยที่คาดว่าจะได้รับจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก่อนภาษี) หรือราว 700 ล้านบาท (หลังภาษี) จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า Glow Energy Phase 5 นอกแผน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘อาคม’ เผยต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตดีเซลอีก 2 เดือน คลังสูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบ 66 ที่ 2.49 ล้านล้านบาท
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจะยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญใน 2H65 ทั้งนี้ เมื่ออิงกับราคา LNG ตามสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า (JKM) จึงคาดว่าราคา LNG เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 77%YoY ใน 2H65 แม้ว่าอาจไม่ได้สะท้อนอย่างเต็มที่ในราคา Pool Gas ของประเทศไทย
ด้านกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน 2Q65 ถูกหักล้างโดยการบันทึกค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่เกิดจากการปันส่วนราคาซื้อ AEPL จำนวน 177 ล้านบาท หากตัดรายการนี้ออกไป ผลการดำเนินงานปกติยังคงมีขาดทุน 22 ล้านบาท โดยเกิดจากต้นทุนทางการเงินระดับสูงจากการกู้เงินมาซื้ออุปกรณ์ (ส่วนใหญ่เป็น Solar PV)
สำหรับกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้น ด้านผู้บริหารไม่คิดว่าต้นทุนโครงการนี้จะสูงกว่าที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ กำลังการผลิตตามสัญญามากกว่า 60% ได้ดำเนินการผลิตแล้ว ในขณะที่ส่วนที่เหลือจะค่อยๆ เริ่มดำเนินการผลิตในช่วง 2H65 – ปี 2567 ซึ่งคาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะเริ่มสร้างผลกำไรใน 2H65 (ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นใน 4Q65) โดยเกิดจากกำลังการผลิตดำเนินงานที่สูงขึ้นและปัจจัยฤดูกาล ซึ่งมากพอที่จะครอบคลุมต้นทุนทางการเงินระดับสูง
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวันจะสร้างกำไรตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ผู้บริหารคาดว่าการเข้าซื้อหุ้น 25% ของ CFXD ด้วยเงินลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาทจะแล้วเสร็จภายใน 4Q65 โดยจะใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม ซึ่งดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ผ่านการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) อายุ 3-15 ปี
ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันได้ที่ 2.55-4.4% (ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ 3.7%) ซึ่งเป็นระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของ GPSC ทั้งๆ ที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น เฟสแรกของโครงการนี้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในเดือนสิงหาคม 2565 และจะต่อด้วยเฟสที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทั้งโครงการใน 1Q67
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น GPSC ปรับลดลง 3.16% สู่ระดับ 69.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 1.71% สู่ระดับ 1,649.95 จุด
แนวโน้มผลประกอบการระยะสั้น:
InnovestX Research คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานใน 3Q65 จะปรับตัวดีขึ้นทั้ง QoQ และ YoY โดยจะยังคงรักษาโมเมนตัมขาขึ้นเอาไว้ได้ เมื่อพิจารณาจากค่า Ft ที่สูงขึ้นและกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว
โดยค่า Ft ที่สูงขึ้นจะช่วยลดผลกระทบของต้นทุนเชื้อเพลิงระดับสูง การดำเนินงานตามปกติของ GE Phase 5 จะช่วยสนับสนุน EBITDA Margin ของธุรกิจ SPP เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชันของ GPSC
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ
- ผลตอบแทนจากโครงการใหม่ต่ำกว่าคาด
- ยอดขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของธุรกิจ SPP อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและต้นทุนเชื้อเพลิงสูง
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาพอากาศที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP