×

กลุ่มพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) – ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น พ่วงมากับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น

07.03.2022
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

ราคาน้ำมันดิบเบรนต์พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่มากกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน ซึ่งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ทำให้ตลาดยิ่งมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ขาดแคลนอุปทานที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าคาด 

 

ทั้งนี้ แม้ว่าสหภาพยุโรปยังไม่เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย แต่การหยุดชะงักของธุรกรรมทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าของรัสเซียที่รวมถึงน้ำมันและก๊าซ เนื่องจากยุโรปนำเข้าก๊าซ 90% โดยประมาณ 40% ของก๊าซที่นำเข้าได้มาจากรัสเซีย ยุโรปจึงต้องเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานจากที่อื่นแทน ซึ่งรวมถึงตะวันออกกลางที่เป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของประเทศไทย 

 

นอกจากนี้ต้นทุนก๊าซที่สูงขึ้นก็จะเร่งให้มีการเปลี่ยนจากก๊าซมาใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งวิกฤตยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และบทสรุปยังไม่มีความแน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม Forward Curve ล่าสุดสำหรับน้ำมันดิบเบรนต์บ่งชี้ว่า ตลาดคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ โดยราคาน้ำมันจะค่อยๆ ลดลงใน 2H65 พร้อมกับอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มโอเปกและสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยืนยันโดยมติการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสครั้งล่าสุด ที่ยังคงจุดยืนในการเพิ่มการผลิต 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทุกเดือนจนถึงเดือนกันยายน 2565 ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแรงในปัจจุบัน โดยอ้างว่าอุปทานน้ำมันยังเพียงพอรองรับอุปสงค์ โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะขยายตัว 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 เทียบกับผลผลิตน้ำมันโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

ด้านผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ราคาน้ำมันที่ผันผวนมากขึ้น และปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอาจสร้างความเสี่ยง โดยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในแง่ของกำไรจากสต๊อกน้ำมัน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะรวมเอารายการดังกล่าวเข้ามาในประมาณการกำไร เนื่องจากโดยปกติแล้วราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน ซึ่งความเสี่ยงที่สามารถคาดการณ์ได้ คือ Crude Premium ที่สูงขึ้น (เพิ่มขึ้นสู่ >5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ใน 2Q65) 

 

ในขณะที่ Market GRM (Hydrocracking Margin เทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ) ยังคงอยู่ในช่วง 6-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทยมีการนำเข้าน้ำมันทางเลือกจากรัสเซีย แต่ตอนนี้ช่องทางดังกล่าวถูกปิดลง ดังนั้นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทยจะต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางมากขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ เนื่องจากกำลังซื้อจะลดลง และลุกลามไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าตลาดสามารถดูดซับอุปทานน้ำมันที่ราคา <70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งๆ ที่อุปสงค์ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังโควิด

 

กระทบอย่างไร: 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (SETENERG) ปรับลดลง 1.7%MoM โดย

ราคาหุ้น BCP ปรับเพิ่มขึ้น 0.8%MoM สู่ระดับ 31.00 บาท 

ราคาหุ้น ESSO ปรับลดลง 6.1%MoM อยู่ที่ระดับ 7.65 บาท 

ราคาหุ้น IRPC ปรับลดลง 8.6%MoM อยู่ที่ระดับ 3.60 บาท

ราคาหุ้น PTT ปรับลดลง 3.1%MoM อยู่ที่ระดับ 38.75 บาท 

ราคาหุ้น PTTEP ปรับเพิ่มขึ้น 17.9%MoM สู่ระดับ 154.50 บาท 

ราคาหุ้น SPRC ปรับลดลง 15.2%MoM อยู่ที่ระดับ 8.65 บาท และ

ราคาหุ้น TOP ปรับลดลง 8.8%MoM อยู่ที่ระดับ 49.25 บาท 

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 31% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และ 61% สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นในรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะเดียวกันอุปสงค์ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก และการเปลี่ยนจากก๊าซมาใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าเพราะราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น

 

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันและก๊าซต้นน้ำในตลาดไทย PTTEP จึงเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากสถานการณ์ในตอนนี้ โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้ว 28% YTD เทียบกับ SET ที่เพิ่มขึ้น 1% 

 

ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น SCBS จึงปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนต์สำหรับปี 2565 เพิ่มขึ้นสู่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปรับราคาเป้าหมายของ PTTEP เพิ่มขึ้นสู่ 182 บาทต่อหุ้น ส่วน PTT ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นสู่ 52 บาท อันเป็นผลมาจากมูลค่า PTTEP ที่สูงขึ้นในการประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธี SOTP

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนต์สำหรับปี 2566-67 เพิ่มขึ้นสู่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ นอกจากนี้ยังปรับสมมติฐานราคาน้ำมันระยะยาวตั้งแต่ปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยยังคงมุมมองที่ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวกลับสู่ระดับที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว ราคาน้ำมันระดับสูงในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะกระตุ้นให้สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น โดยราคาน้ำมันที่เป็นจุดคุ้มปรับลดลงจาก >50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ราว ±40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

นอกจากนี้โอเปกก็มีแนวโน้มที่จะจับตาดูระดับราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการอุปทานทั่วโลกเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาด โดย SCBS ยังคงใช้ส่วนลด 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากราคาน้ำมันดิบเบรนต์เป็นสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงที่สำคัญสำหรับบริษัทน้ำมันและก๊าซของไทย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X