เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (12 พฤษภาคม) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) รายงานกำไรสุทธิ 1Q64 ที่ 2.5 พันล้านบาท ลดลง 54%YoY และลดลง 27%QoQ ต่ำกว่าที่ตลาดคาด เพราะส่วนแบ่งกำไรจากเทสโก้เอเชียที่ต่ำกว่าคาด
โดยยอดขายสาขาเดิม (SSS) ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อใน 1Q64 หดตัวลง 17.1%YoY เทียบกับหดตัว 4%YoY ใน 1Q63 และหดตัว 18%YoY ใน 4Q63 เนื่องจากรับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย (เราชนะ, คนละครึ่ง, ม33เรารักกัน และการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ)
จำนวนลูกค้าของ CPALL ลดลง 24%YoY สู่ระดับ 845 คนต่อสาขาต่อวัน ขณะที่ยอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้น 10%YoY สู่ระดับ 77 บาท โดยสัดส่วนยอดขาย 72.8% มาจากสินค้ากลุ่มอาหารซึ่งเพิ่มขึ้น 200bpsYoY เนื่องจากมียอดขายอาหารพร้อมรับประทานราคาต่ำและสินค้ารวมขายเป็นชุดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนยอดขายอีก 27.2% คือสินค้าอุปโภค ซึ่งลดลง YoY เนื่องจากมียอดขายสินค้าของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน และบุหรี่ ลดลง
อัตรากำไรขั้นต้น 1Q64 ลดลง 60bpsYoY สู่ระดับ 27.4% เนื่องจากต้นทุนคงที่จากศูนย์กระจายสินค้าสูง ขณะที่ยอดขายลดลง รวมถึงอัตรากำไรที่ลดลงของสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ขณะที่รายได้เคาน์เตอร์เซอร์วิสทรงตัว YoY เพราะปริมาณการทำธุรกรรมผ่านบริการ Banking Agent ที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกหักล้างด้วยปริมาณธุรกรรมชำระบิลที่ลดลง
CPALL มีการเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อเพิ่ม 155 สาขาใน 1Q64 ส่งผลให้จำนวนสาขารวมอยู่ที่ 12,587 สาขา เพิ่มขึ้น 5%YoY และเพิ่มขึ้น 1%QoQ
สำหรับผลกระทบจากการซื้อกิจการเทสโก้เอเชีย ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเกี่ยวกับดีลดังกล่าวราว 900 ล้านบาทใน 1Q64 ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นวงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท ที่มีต้นทุนเงินทุนเฉลี่ย 4.6-4.7% ต่อปี
โดยบริษัทได้ทำการรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 2.19 หมื่นล้านบาท เป็นหุ้นกู้แล้วในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งมีต้นทุนเฉลี่ย 3.3% ต่อปี และวางแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นที่เหลืออีก 6.21 หมื่นล้านบาท เป็นหุ้นกู้ภายใน 2Q64 โดยตั้งเป้าต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า 4.0% ต่อปี และมีค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ที่เกิดจากการชำระคืนหนี้ก่อนกำหนด
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (13 พฤษภาคม) ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวลง 4.53%DoD สู่ระดับ 58.00 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวลง 23.72 จุด หรือลดลง 1.51%DoD สู่ระดับ 1,548.13 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่า แนวโน้มกำไร 2Q64 จะลดลงทั้ง YoY และ QoQ โดยมีสาเหตุหลักมาจากกำไรที่ติดลบจากเทสโก้เอเชีย รวมถึงแนวโน้ม SSS ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน โดยมีสาเหตุมาจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ในประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 2H64 จากการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ในวงกว้าง และแนวโน้มที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่จะสามารถเข้าร่วมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล (โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้)
ในระยะสั้นต้องติดตามการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนรีไฟแนนซ์ หนี้สินที่เกี่ยวข้องกับโลตัสส่วนที่เหลืออีก 6.21 หมื่นล้านบาทใน 2Q64
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้มกำไรตลอดทั้งปี 2564 จะลดลง YoY เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอและการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งกระทบต่อการฟื้นตัวของ SSS รวมถึงบริษัทมีการรับรู้ภาระดอกเบี้ยเต็มปีหลังจากการซื้อกิจการเทสโก้เอเชีย