เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เปิดเผยเป้าหมายธุรกิจในปี 2565 โดยตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ 6-8% (เทียบกับ เพิ่มขึ้น 10%YoY ในปี 2564) และ EBITDA Margin ทรงตัวที่ 23% ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้รายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะมาจากการฟื้นตัวของจำนวนผู้ป่วยคนไทยที่เข้ามาใช้บริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด สอดคล้องกับการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความพยายามขยายฐานผู้ป่วยของบริษัทผ่านการนำเสนอแพ็กเกจสุขภาพที่คุ้มค่า
สำหรับการพัฒนาบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศด้านสุขภาพดิจิทัล (เช่น บริการให้คำปรึกษาทางไกล และศูนย์สุขภาพออนไลน์) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยในปีนี้ BDMS จะใช้งบลงทุน 500 ล้านบาท (ไม่มากเมื่อเทียบกับงบลงทุนตามปกติที่ 6-7 พันล้านบาท) เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากระบบนิเวศด้านสุขภาพดิจิทัลสู่ 10-15% ของรายได้รวมในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก 1% ในปัจจุบัน
ส่วนการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มประกันสุขภาพภาคเอกชนผ่านทางการออกแพ็กเกจประกันสุขภาพแบบเอ็กซ์คลูซีฟ และผู้ป่วยชาวต่างชาติ BDMS คาดว่ารายได้จากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิด ในปี 2566 จาก 54% ของระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2564
ด้านการขยายธุรกิจ BDMS วางแผนเพิ่มจำนวนเตียงอีก ~700 เตียง หรือ 8% สู่ ~9,000 เตียงตามโครงสร้างโรงพยาบาลในปี 2569 SCBS มองว่าการขยายกิจการโรงพยาบาลจะเน้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจกำลังเติบโตอันเป็นผลมาจากการพัฒนา EEC สำหรับปี 2566 นอกจากนี้ BDMS ยังวางแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลมะเร็ง กรุงเทพระยอง เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคมะเร็ง และจะเพิ่มจำนวนเตียงที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา อีก 100 เตียง (จาก 295 เตียงในปัจจุบัน) สำหรับปี 2568-2569 อีกทั้งวางแผนเปิดโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงแห่งใหม่ คือโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง สาขาปลวกแดง
ในขณะที่โมเมนตัมรายได้ในเดือนมกราคม 2565 ยังเติบโตแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนรายได้จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด และบริการโควิดที่เติบโตเพิ่มขึ้น อัตราการครองเตียงสำหรับบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิดเพิ่มขึ้นสู่ 76% เทียบกับ 69% ในเดือนธันวาคม 2564 และอัตราการครองเตียงสำหรับบริการโควิดเพิ่มขึ้นสู่ 87% เทียบกับ 73% ในเดือนธันวาคม 2564 การบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติปรับตัวดีขึ้นใน 4Q64 (เพิ่มขึ้น 27%YoY, เพิ่มขึ้น 17%QoQ, 18% ของรายได้ 4Q64) หลังจากประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติจะเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจาก BDMS มีผู้ป่วยแจ้งขอเข้าใช้บริการเข้ามาแล้ว 789 คน โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (247 คน) CLMV (219 คน) และจีน (95 คน)
กระทบอย่างไร:
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.78%MoM สู่ระดับ 24.10 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 4.39%MoM อยู่ที่ระดับ 1,628.42 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าใน 1Q65 กำไรจะปรับตัวดีขึ้น YoY และ QoQ โดยได้แรงหนุนจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ และการที่ผู้ป่วยกลับมาใช้บริการรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด ขณะที่ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ดีกว่า SET ที่อยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งเชื่อว่ากำไรที่แข็งแกร่งขึ้นใน 1Q65 และลักษณะธุรกิจที่อ่อนไหวน้อยต่อความผันผวนของเศรษฐกิจจะช่วยสนับสนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อท่ามกลางตลาดหุ้นที่ผันผวน โดยเลือก BDMS เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มการแพทย์
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่ากำไรปี 2565 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 21%YoY สู่ 9.3 พันล้านบาท หรือ 98% ของระดับก่อนเกิดโควิด อันเป็นผลมาจากจำนวนผู้ป่วยคนไทยที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยบริการโควิดที่กลับคืนสู่ภาวะปกติ
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 2565 คือการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทาง จะส่งผลทำให้มีผู้ป่วยที่เดินทางโดยเครื่องบิน และผู้ป่วยกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งคาดว่าบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติ (~30% ของรายได้ก่อนเกิดโควิด) จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 2H65 ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยง คือจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการชะลอตัวลง และการแข่งขันสูง