เกิดอะไรขึ้น:
สินเชื่อในเดือนพฤษภาคมของกลุ่มธนาคารขยายตัว 0.2%MoM เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับทรงตัว MoM ในเดือนเมษายนและมีนาคม โดยการเติบโตของสินเชื่อได้แรงหนุนหลักจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย (สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล) โดยในเดือนพฤษภาคม SCB และ BBL เป็นธนาคารที่มีสินเชื่อขยายตัวสูงสุดที่ 1%MoM และ 0.8%MoM ตามลำดับ
ในขณะที่มีเพียง BAY และ KBANK ที่สินเชื่อหดตัวในเดือนพฤษภาคม ขณะที่เมื่อเทียบ YoY สินเชื่อขยายตัวต่ำที่ 0.6% การเติบโตของสินเชื่อ QTD ใน 2Q66 อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.2% สินเชื่อหดตัวลง 0.3% ใน 5M66 ต่ำกว่าประมาณการปี 2566 ของ InnovestX Research ที่ 4% ค่อนข้างมาก แม้คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อจะฟื้นตัว HoH ใน 2H66 แต่เล็งเห็นความเสี่ยง Downside ต่อประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2566 ที่ 4%
ส่วน NIM มีแนวโน้ม Upside โดยการคาดการณ์ไว้สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ (BBL, KTB, KBANK และ SCB) มีแนวโน้ม Upside เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับขึ้นอีกสู่ 2.5% ใน 2H66 สูงกว่าสมมติฐานที่ 2% SCB EIC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับสูงสุดที่ 2.5% ใน 3Q66 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายแล้ว
ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรปรับขึ้นเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้
กระทบอย่างไร:
ตั้งแต่ 2Q66 (QTD) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับเพิ่มขึ้น 6.09% ดีกว่า SET Index ปรับลดลง 5.41%
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
ใน 2Q66 คาดการณ์ในเบื้องต้นว่ากำไรจะเพิ่มขึ้น YoY (NIM ดีขึ้น) แต่จะลดลง QoQ (กำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธี FVTPL ลดลง) ทั้งนี้เมื่อเทียบ QoQ คาดว่าสินเชื่อจะฟื้นตัวตามฤดูกาล NIM จะขยายตัวเพิ่มขึ้น Credit Cost จะอยู่ในระดับทรงตัว Non-NII จะอ่อนแอลงเพราะกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยวิธี FVTPL ลดลงและรายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะอยู่ในระดับทรงตัว
ทั้งนี้ คาดว่า BBL จะรายงานกำไร 2Q66 เติบโตแข็งแกร่งที่สุดทั้ง YoY และ QoQ สำหรับปี 2566 และคาดว่ากำไรกลุ่มธนาคารจะเติบโต 13% โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 4% NIM จะขยายตัว 23 bps (หลักๆ เกิดขึ้นที่ธนาคารขนาดใหญ่) Credit Cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 6 bps Non-NII จะอยู่ในระดับทรงตัว (รายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว) และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะลดลงเล็กน้อย
กลยุทธ์การลงทุนยังคงเลือก BBL และ KTB เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคาร เพราะ 1. มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น, 2. ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ และ 3. Valuation น่าสนใจ
สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1. ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, 2. การขยายสินเชื่อได้ช้ากว่าคาดเนื่องจากความต้องการสินเชื่อชะลอตัวและการแข่งขันสูง และ 3. ผลกระทบจาก FinTech