เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) รายงานยอดขายปี 2565 ที่ 5.04 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 44%YoY) ทำสถิติสูงสุด และสูงกว่าที่บริษัทวางไว้เล็กน้อยราว 1% โดยแบ่งเป็นยอดขายจากโครงการแนวราบ 77% และคอนโด 23% ยอดขาย 4Q65 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 66%YoY และ 9%QoQ) แบ่งเป็นยอดขายโครงการแนวราบ 78% และคอนโด 22% โดยได้รับการสนับสนุนจากการขายสินค้าคงเหลือ
ในปี 2565 AP เปิดตัวโครงการรวมทั้งหมด 51 โครงการ มูลค่ารวม 6.36 หมื่นล้านบาท ตามแผนที่วางไว้ แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 85% และคอนโด 15% โดยเปิดตัวโครงการใน 4Q65 มากที่สุดที่ 18 โครงการ มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท AP ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2566 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2565 โดยน่าจะมีการอัปเดตในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ในงานแถลงแผนธุรกิจปี 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AP ปรับเพิ่มขึ้น 8.49%MoM สู่ระดับ 11.50 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.50%MoM สู่ระดับ 1,673.86 จุด
แนวโน้มธุรกิจและกลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research ประมาณการรายได้ปี 2565 ไว้ที่ 3.87 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22% YoY) โดยมี secured revenue ที่ 100% ในขณะที่คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 28.6%YoY สู่ 5.84 พันล้านบาท ทำจุดสูงสุดใหม่
ส่วนกำไรสุทธิ 4Q65 มีแนวโน้มที่จะลดลง QoQ โดยเกิดจากค่าใช้จ่าย SG&A ที่สูงขึ้นจากการเปิดตัวโครงการใหม่และส่วนแบ่งกำไรจาก JV ที่ลดลง เนื่องจากไม่มีคอนโดใหม่เริ่มโอนในไตรมาสนี้ ขณะที่มีการโอนโครงการใหญ่ 2 โครงการ (Life Sathorn Sierra และ Rhythm Ekkamai Estate) ต่อเนื่องจาก 3Q65
ปัจจุบัน AP มี Backlog มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท เมื่อจำแนกตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ พบว่า Backlog 52% มาจากโครงการแนวราบ 42% มาจากคอนโดร่วมทุน และ 6% มาจากคอนโดของ AP
เมื่อพิจารณาจาก Backlog ระดับสูงและแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2566 เชื่อว่า AP จะสามารถรายงานกำไรทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง โดยจะเติบโตเล็กน้อยที่ 3.4% ขณะที่ยอดขายที่แข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนให้ Backlog แข็งแกร่งต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566-2567
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน InnovestX Research ให้เรตติ้ง Outperform ด้วยราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 14 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PE 7.5 เท่า (+0.25SD) และคาดการณ์เงินปันผลปี 2565 ที่ 0.65 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 6%
ด้านปัจจัยที่ต้องจับตา คือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในปี 2566 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV สิ้นสุดลงแล้วในเดือนธันวาคม 2565 และการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือจากการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมากในปี 2565 ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ค่อนข้างสูงในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี