เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 1QFY22 (มีนาคม-พฤษภาคม 2022) ของ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น AEONTS ปรับลดลง 8.22%MoM อยู่ที่ระดับ 173.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 3.31%MoM อยู่ที่ระดับ 1,584.58 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดการณ์กำไร 1QFY22 (มีนาคม-พฤษภาคม 2022) จะเพิ่มขึ้น 8% QoQ แต่ลดลง 15% YoY สู่ 980 ล้านบาท โดยกำไรที่จะเพิ่มขึ้น QoQ ได้รับการสนับสนุนจากการคาดการณ์ถึง Non-NII ที่เพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากการรับรู้กำไรจากการขาย NPL ราว 100 ล้านบาท การเติบโตของสินเชื่อ 2% QoQ ขณะที่ NIM อยู่ในระดับทรงตัว Credit Cost เพิ่มขึ้น 19 bps และ opex ทรงตัว (ค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้นถูกลดทอนบางส่วนด้วยค่าใช้จ่ายพนักงานที่ลดลง เพราะจำนวนพนักงานลดลงหลังจากปิดศูนย์ติดตามหนี้ในชลบุรี) และกำไรที่จะลดลง YoY หลักๆ เกิดจากการคาดการณ์ว่า Credit Cost จะเพิ่มขึ้นถึง 178 bps
สำหรับ Credit Cost ที่จะลดลงด้วยการตั้งสำรอง Management Overlay จำนวนมากถึง 1.2 พันล้านบาท (ราว 900 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทย และ 300 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในเมียนมา) และ LLR Coverage ที่สูงถึง 247% SCBS จึงคาดว่า Credit Cost จะลดลง 13 bps สู่ 7.3% ในปี FY2022
ขณะที่ AEONTS คาดว่าจะโอนกลับสำรอง Management Overlay ราว 400 ล้านบาท เพื่อลดสำรอง Management Overlay ลงสู่ราว 800 ล้านบาท ใน 1HFY22 เมื่อพิจารณาแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง SCBS จึงคงประมาณการ Credit Cost ว่าจะลดลงเล็กน้อย 13 bps สู่ 7.3%
ส่วนการเติบโตของสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้น โดย AEONTS พบว่าสินเชื่อเติบโตราว 2% QoQ ซึ่งยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นถึง 20%YoY ใน 1QFY22 สอดคล้องกับเป้าการเติบโตของสินเชื่อที่บริษัทวางไว้ที่ 7-10% และประมาณการของ SCBS ที่ 8% ในปี FY2022 ผ่านทางการเน้นปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น และการเปิดตัวบริการสินเชื่อดิจิทัล บริษัทแม่ในญี่ปุ่นเพิ่งอนุมติให้ AEONTS ขยายธุรกิจสู่สินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งจะสร้าง Upside ต่อประมาณการการเติบโตของสินเชื่อ
มุมมองระยะยาว:
SCBS ปรับประมาณการกำไรของ AEONTS ลดลง 3% สำหรับปี FY2022 และ 7% สำหรับปี FY2023 เนื่องจากทำการปรับประมาณการต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 9 bps สำหรับปี FY2022 และ 17 bps สำหรับปี FY2023 เพื่อสะท้อนการปรับสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น
ดังนั้นจึงคาดว่า NIM จะลดลง 25 bps ในปี FY2022 และ 26 bps ในปี FY2023 หลักๆ เกิดจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น โดยได้ปรับเพิ่มสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2022 จาก 0.5% เป็น 1% (ปรับขึ้น 50 bps ใน 2H22) และ ณ สิ้นปี 2023 จาก 1% เป็น 2% (ปรับขึ้น 100 bps ในปี 2023) เพื่อสะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและสูงกว่าคาดหลังได้รับสัญญาณจากการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด
ทั้งนี้ SCBS ยังคงเรตติ้ง NEUTRAL สำหรับ AEONTS แต่ปรับราคาเป้าหมาย ลดลงจาก 218 บาท สู่ 213 บาท (PBV 2.35 เท่า หรือ PE 13.25 เท่า สำหรับปี 2022) เพื่อสะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและสูงกว่าคาด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ 1. ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากราคาน้ำมันสูง และ 2. ความเสี่ยงด้าน NIM จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาด