เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (27 เมษายน) ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการและทุนของบริษัท และบริษัทย่อย (บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินซึ่งประกอบด้วย
1. การได้สินเชื่อในรูปของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพจำนวน 3.15 พันล้านบาท จากนักลงทุนใหม่ ซึ่งสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) จำนวน 154 ล้านหุ้น (11% ของจำนวนหุ้น TAA หลังการทำรายการทั้งหมด) ที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น โดย AAV คาดว่าจะได้รับสินเชื่อในเดือนพฤษภาคม 2564 และจะนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่อง
2. ดำเนินการเพื่อนำ TAA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AAV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนที่ AAV (ซึ่งเป็น Holding Company และถือหุ้น 55% ใน TAA) ซึ่งจะเลิกกิจการและชำระบัญชีเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการ และการลดการทำรายการที่ซ้ำซ้อน
โดยผู้ถือหุ้นของ AAV จะได้รับการจัดสรรหุ้น TAA ที่อัตรา 1 หุ้น AAV ต่อ 0.098785 หุ้น TAA และจะมีการเสนอขายหุ้น IPO ของ TAA ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (AAV และบริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด) และผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น (คิดเป็นราคาหุ้น AAV ที่ 2.01 บาท) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564
โดย TAA จะได้รับเงินประมาณ 2.8 พันล้านบาทจากการ IPO และ AAV จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TAA ลดลงจาก 55% สู่ 39% หลังทำรายการทั้งหมด
3. การแปลงหนี้สินจำนวน 3.9 พันล้านบาท ของ TAA ที่มีบริษัท แอร์เอเชีย อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด เป็นเจ้าหนี้ เป็นหุ้นของ TAA จำนวน 191.2 ล้านหุ้น (14% ของจำนวนหุ้น TAA หลังการทำรายการทั้งหมด) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในระหว่างดำเนินการทำ IPO
4. การออกและเสนอขายหุ้น TAA จำนวน 45 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงสุดของ TAA ที่ราคา 20.3925 บาทต่อหุ้น โดย TAA จะได้รับเงินประมาณ 918 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการเสนอขายเป็นระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ มติคณะกรรมบริษัทจะต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 2564
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (28 เมษายน) ราคาหุ้น AAV ปรับตัวลง 3.85%DoD สู่ระดับ 2.50 บาท เนื่องจากแนวทางดังกล่าวจะทำให้เกิด Dilution Effect ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น AAV เดิม รวมถึงแผนดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ (ข้อมูลราคา ณ เวลา 14.30 น.)
มุมมองระยะสั้น:
ในเบื้องต้น SCBS ประเมินว่าแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องและความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของบริษัท และส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของ TAA (ไม่รวมผลกระทบ TFRS) จะลดจาก 29.6 เท่าในปี 2564 สู่ 19.6 เท่าในปี 2565, 8.2 เท่าในปี 2566 และ 3.8 เท่าในปี 2567 (ซึ่งเป็นระดับก่อนโควิด-19 ระบาด)
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ได้ยากจะส่งผลให้การดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวรวมถึง AAV โดยปัจจัยกระตุ้นที่แท้จริงคือ สัญญาณที่ชัดเจนของการกลับมาเปิดการเดินทาง และการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้การท่องเที่ยวไทยและผลประกอบการมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 2H64 โดยที่ผ่านมา AAV ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนและการบริหารสภาพคล่องเพื่อให้บริษัทสามารถอยู่รอดต่อไปได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
สำหรับความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องติดตามคือ ทิศทางราคาน้ำมันเครื่องบินที่สูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ AAV ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นค่าโดยสารสามารถทำได้ยากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์