×

หุ้นค่ายมือถือพุ่ง หลัง กสทช. ปรับเกณฑ์ประมูล 5G ถอดคลื่น 700 MHz ออก

โดย SCB WEALTH
20.12.2019
  • LOADING...
Market Focus 5G

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 มีการเปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านโทรคมนาคมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับร่างหลักเกณฑ์การประมูล 5G เหลือประมูลพร้อมกัน 3 คลื่นความถี่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ได้แก่ คลื่น 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz และให้นำคลื่น 700 MHz ไปประมูลพร้อมกับคลื่น 3500 MHz โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2562

 

สำหรับสาเหตุที่มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากคลื่น 700 MHz ยังมีปัญหาอยู่ ทั้งคลื่นที่จัดสรรล่วงหน้าไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 30 MHz ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคม 3 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งจะมารับใบอนุญาตในเดือนตุลาคม 2563 ปรากฏว่าผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) มีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ทันวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยคาดว่าจะล่าช้าไปเป็นประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2563 อีกทั้งคลื่นในส่วนที่จะประมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 15 MHz ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสัญญาณรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟนได้ ซึ่งคาดว่าจะนำคลื่นมาใช้งานได้ประมาณเดือนมีนาคม 2564 คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้นำคลื่น 700 MHz ไปประมูลพร้อมกับคลื่น 3500 MHz เพื่อให้จัดการแก้ไขปัญหาที่ติดขัดเสียก่อน

 

กระทบอย่างไร:

ภายหลังจากมีการเปิดเผยข่าวดังกล่าว ราคาหุ้นผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย ต่างตอบรับในเชิงบวกต่อเนื่องใน 2 วันทำการ (18-19 ธันวาคม 2562) โดยล่าสุดวานนี้ 19 ธันวาคม 2562 ราคาหุ้น ADVANC ปิดที่ 220 บาท เพิ่มขึ้น 4.76% จากราคาปิดวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ 210 บาท, ราคาหุ้น DTAC ปิดที่ 55.75 บาท เพิ่มขึ้น 4.69% จากราคาปิดวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ 53.25 บาท และ TRUE ราคาหุ้นปิดที่ 4.70 บาท เพิ่มขึ้น 3.07% จากราคาปิดวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ 4.56 บาท

 

มุมมองระยะสั้น: 

SCBS มองว่า ข่าวข้างต้นเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นต่อผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย ทั้งกรณีของคลื่น 700 MHz ที่ได้รับจัดสรรมาก่อนหน้า เนื่องจากต้นทุนใบอนุญาตที่ต้องมีการตัดค่าเสื่อมราคาตามหลักบัญชีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ซึ่ง SCBS ประเมินไว้ปีละประมาณ 1.2 พันล้านบาทจะหายไป และกรณีการเลื่อนประมูลคลื่น 700 MHz ออกไป เพราะ SCBS ประเมินว่าผู้ให้บริการฯ จะให้น้ำหนักกับคลื่น 2600 MHz ที่ราคาประมูลถูกกว่า คือ 1,863 ล้านบาทต่อใบอนุญาต (เทียบกับ 700 MHz ที่ราคาสูงถึง 8,792 ล้านบาท) อีกทั้งคลื่น 2600 MHz มีจำนวนใบอนุญาตถึง 10 ใบ (เทียบกับ 700 MHz ที่มีเพียง 3 ใบ) จึงไม่น่าจะมีการแข่งขันกันสูงมากนัก

 

มุมมองระยะยาว:

ต้องติดตามว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ได้ตามโรดแมปที่วางไว้ คือ ช่วงปี 2564 ได้หรือไม่ ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการพัฒนา 5G จะเป็นผลบวกต่อผู้ประกอบการฯ จนกว่าจะมีการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง ขณะที่ต้นทุนพัฒนาโครงข่าย 5G ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ อาจทำให้จุดคุ้มทุนของผู้ให้บริการอาจใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานในระยะถัดไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

เมื่อปลายปี 2561 กสทช. มีการบริหารจัดการคลื่นความถี่ 700 MHz ใหม่ โดยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตคลื่น 700 MHz ได้ตามความสมัครใจ เพื่อจะนำเอาคลื่นดังกล่าวมาใช้พัฒนาเทคโนโลยี 5G ต่อไป ซึ่งมีช่องทีวีดิจิทัลมาคืนใบอนุญาตมากถึง 7 ช่อง และให้เม็ดเงินช่วยเหลือและเยียวยาเป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X