เกิดอะไรขึ้น:
วันจันทร์ที่ 16 กันยายน ปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์กำลังทบทวนมาตรการในการลดการปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น โปรโมชันซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นโดยให้ผ่อน 0% หรือโครงการเที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง โดยแนวทางดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงนามร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ (Responsible Lending) หลังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ล่าสุดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 78.7% แบ่งเป็น สินเชื่อส่วนบุคคล 34% สินเชื่อบ้าน 33% สินเชื่อเพื่อธุรกิจ 18% สินเชื่อยานยนต์ 12% และสินเชื่อบัตรเครดิต 3% ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแตะระดับ 84% จะมีความเสี่ยงที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
กระทบอย่างไร:
วานนี้ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจบัตรเครดิตเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ นำโดย KTC เปิดที่ราคา 44.25 บาท ต่ำกว่าราคาปิดก่อนหน้าที่ 44.50 บาท ก่อนที่ย่อตัวลงไปปิดสิ้นวันที่ 43.25 บาท ลดลง 2.26% ด้าน AEONTS เปิดที่ราคา 213 บาท ต่ำกว่าราคาปิดก่อนหน้าที่ 214 บาท แต่สิ้นวันมีแรงซื้อกลับไปปิดที่ราคา 215 บาท เพิ่มขึ้น 0.47% ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีธุรกิจบัตรเครดิตในพอร์ตและราคาหุ้นปรับตัวลง ได้แก่ KBANK -1.53% SCB -0.82% TISCO -0.49% KKP -0.37% BBL -0.29%
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองข่าวธนาคารพาณิชย์เตรียมทบทวนมาตรการในการลดการปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จะส่งผลกระทบเชิงลบทางจิตวิทยาระยะสั้นโดยตรงต่อหุ้นกลุ่มบัตรเครดิตอย่าง KTC, AEONTS มากกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก KTC, AEONTS มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้บัตรเครดิต ดังนั้นการเข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังมากขึ้นย่อมทำให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตได้ในระดับที่จำกัด
มุมมองระยะยาว:
ระยะยาวคงต้องจับตาว่ามาตรการที่ออกมาจะมีความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหนและเริ่มใช้เมื่อไร อย่างไรก็ดี SCBS เชื่อว่า หากมีการใช้มาตรการนี้จริงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตมากกว่า เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยสินเชื่อที่กระตุ้นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูง ทำให้ตลาดมีโอกาสปรับลดประมาณการและราคาเป้าหมายลง
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนรายได้อื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้สูงกว่ามาก เช่น รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อธุรกิจ รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อเคหะ ตลอดจนค่าธรรมเนียมในการให้บริการ จึงไม่ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ส่วนกลุ่มที่ต้องติดตามและคาดจะได้รับผลกระทบเชิงลบรองลงมา หากมีการใช้มาตรการนี้ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีกที่มีการจำหน่ายสินค้าไอที (ส่วนใหญ่มีโปรผ่อน 0%) เช่น HMPRO, ROBINS, COM7, BIG, SYNEX, JMART ฯลฯ รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว เช่น ERW, CENTEL, SPA ฯลฯ เนื่องจากผู้บริโภคมีโอกาสที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการล่าช้าลง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์