×

วงการตลาดทุนมอง ‘ภาษีขายหุ้น’ กระทบสภาพคล่องและลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ‘ดร.นิเวศน์’ ชี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

16.12.2021
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

กระแสข่าวการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นปะทุขึ้นอีกครั้งในวานนี้ โดยมีรายละเอียดว่ากระทรวงการคลังกำลังทบทวนการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น​ หรือ​ Financial Translation ​Tax ในอัตรา 0.1% สำหรับมูลค่าธุรกรรมฝั่งขายที่เกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งกดดันตลาดหุ้นไทยและสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนค่อนข้างมาก 

 

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (15 ธันวาคม) ต่อเนื่องถึงวันนี้ ไม่ได้ถูกกดดันมากนัก 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้นดังกล่าว และประเมินว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการและบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเงินทุนไปต่อยอดธุรกิจ และในด้านการเป็นแหล่งลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนของผู้ลงทุนและผู้ออม การเรียกเก็บภาษีในจังหวะนี้ไม่ค่อยเหมาะสมนัก และจะทำให้การพัฒนาตลาดทุนไทยทำได้ลำบากขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากมีการใช้เกณฑ์ทางภาษี จะทำให้ความน่าสนใจของตลาดทุนไทยลดลง และไม่สามารถแข่งขันได้กับตลาดหุ้นในภูมิภาค เช่น ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ตลาดหุ้นฮ่องกง ขณะเดียวกันจะกระทบกับสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 40% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 

 

“การเรียกเก็บภาษีเท่ากับการเพิ่มต้นทุนให้กับทั้งนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนในประเทศ และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกันอย่างสิงคโปร์ที่ไม่มีมาตรการทางภาษีในตลาดทุนเลย การที่ตลาดทุนไทยมีการเรียกเก็บภาษีก็จะทำให้ความน่าสนใจของเราลดลงอย่างมากในทันที และอาจจะทำให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่คุ้นเคยกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และมีประสบการณ์เพียงพอแล้ว” 

 

ทั้งนี้ มองว่าภาครัฐเองควรจะใช้ตลาดทุนในการพัฒนาศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นมากกว่า เช่น ใช้เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงิน ใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อไปสู่ตลาดทุนในต่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นศูนย์รวมการลงทุนเพื่อส่งเสริมการออม และใช้เพื่อบริหารการเงินส่วนบุคคล

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าของตลาดทุนไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะเรียกเก็บภาษีขายหุ้น เพราะสภาวการณ์ในปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเปราะบาง รวมถึงสภาพคล่องในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็มาจากนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเข้าข่ายต้องเป็นผู้เสียภาษีหากมีการเรียกเก็บจริง และเมื่อต้นทุนนักลงทุนสูงขึ้นก็จะกระทบกับสภาพคล่องในตลาดในที่สุด 

 

ขณะเดียวกัน เมื่อความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในฐานะแหล่งลงทุนลดลง ผู้ที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยก็เสียโอกาสได้รับเงินระดมทุนตามไปด้วย  

 

“ในช่วงที่เรามีแต่ปัจจัยไม่แน่นอนต่างๆ รวมไปถึงโควิดที่เกิดขึ้น ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับเงินไปต่อยอดธุรกิจ บางรายสามารถประคับประครองธุรกิจได้จากเงินระดมทุนก้อนนี้ การที่ภาครัฐมาลดความน่าสนใจลง มาเพิ่มต้นทุนให้นักลงทุน ท้ายสุดก็กระทบไปถึงผู้เข้ามาระดมทุนอยู่ดี เช่น อาจได้เงินระดมทุนยากขึ้น หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย” 

 

นอกจากนี้ มองว่าการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ความน่าสนใจและความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลดลง ส่งผลให้นักลงทุนในประเทศหันไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายและสะดวกแล้ว เพราะพัฒนาการด้านเทคโนโลยีต่างๆ 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า กรณีนี้อาจจะเป็นเพียงการโยนหินถามทางอีกครั้งของทางกระทรวงการคลัง เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสข่าวเช่นนี้มาแล้วรอบหนึ่งในช่วงกลางปี และเชื่อว่าคลังจะพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะตลาดหุ้นไทยมี Market Participant จำนวนมาก 

 

ในด้านผลกระทบต่อภาพรวมตลาด เชื่อว่าอาจจะมีอาการตกใจระยะสั้น จากนั้นอาจทรงตัวเพื่อติดตามความชัดเจน ขณะที่ผลกระทบต่อหุ้นรายกลุ่มนั้น เชื่อว่าหุ้นขนาดกลางและเล็ก และ DW บางตัว อาจจะได้รับผลกระทบที่ชัดสุด เนื่องจากแรงเก็งกำไรในตลาดหุ้นน่าจะหดหายไปหากมีการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นจริง 

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า จากกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังอาจพิจารณากลับมาเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ อัตรา 0.1% สำหรับนักลงทุนที่มูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือนนั้น ฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบประเด็นว่า 

 

  1. ปกติไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน ภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้หากต้องการขยายฐานภาษี ทั้งนี้ หากภาครัฐกลับมาจัดเก็บภาษีจริง ASPS คาดว่าจะส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่ม และกระทบตลาดทุน

 

  1. ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการเทรดดิ้งลดลง จาก Transaction Cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร

 

  1. มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง

 

  1. ประเด็นดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบต่อตลาดหุ้นพอสมควร สะท้อนได้จากมีประเด็นนี้เข้ามาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีกระแสข่าวมาครั้งแรก และส่งผลให้ SET Index ปรับฐานแรงเกือบ 50 จุด หรือราว -3% ภายในระยะเวลา 2 วันเท่านั้น (ตลาดหุ้นสหรัฐฯ -0.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน) และอาจกดดันมูลค่าตลาดให้หดหายไปมากกว่าภาษีที่รัฐอาจได้รับ

 

ดังนั้น หากรัฐปฏิบัติจริงถือว่ากดดันตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งในมุมผลตอบแทนและมูลค่าซื้อขายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ASPS มองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X