หลังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปมตลาดรอบบ้านป้าทุบรถที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ทำการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นเวลากว่า 12 วัน
ล่าสุดวันนี้ (5 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการที่มี นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล เป็นประธานกรรมการ ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตลาดทั้ง 5 แห่งมีการจัดการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีข้าราชการระดับผู้บริหารเกี่ยวข้อง 6 คน ประกอบด้วยอดีตผู้อำนวยการสำนักการโยธาธิการและผังเมือง 2 คนที่ดำรงตำแหน่ง และผู้อำนวยการเขตประเวศ 4 คน ซึ่งรวมคนปัจจุบันด้วย
ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการต้องทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้มีคำสั่งสอบสวนข้าราชการต่อไป โดยรวมถึงข้าราชการระดับปฏิบัติการอีกกว่า 10 ราย แต่คณะกรรมการไม่ข้อเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากต้องนำส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตรวจสอบความผิดอีกครั้ง
สำหรับข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่า พื้นที่ทั้งหมดเริ่มจัดตั้งตลาดตั้งแต่ปี 2551 คือตลาดสวนหลวง ต่อมาช่วงปี 2553- 2554 มีตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต, ตลาดยิ่งนรา และตลาดรุ่งวาณิชย์เกิดขึ้น และสุดท้ายคือตลาดร่มเหลือง ทั้งหมดพบว่าไม่ผ่านการขอจัดตั้งตลาด
ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้อำนวยการเขตประเวศทั้ง 4 คนมีการดำเนินการทางกฎหมายและสั่งปรับเจ้าของตลาดในทุกสมัย แต่หนัก-เบาต่างกัน
ส่วนการขอก่อสร้างอาคารพาณิชย์พบว่า ตลาดรุ่งวาณิชย์เป็นแห่งเดียวที่ไม่ผ่านการขออนุญาต แต่ก็ผิดระเบียบการจัดตั้งตลาด ซึ่งเมื่อตรวจสอบเอกสารพบว่าเจ้าของตลาดดำเนินการขออนุญาตตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นสมัยที่ นายจุมพล สำเภาพล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักการโยธาธิการและผังเมือง
การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเชื่อมโยงกับ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นได้หรือไม่
ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบความผิดในกลุ่มข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วจะดำเนินการอย่างไร คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันว่าสามารถเรียกกลับมารับโทษได้ทั้งทางอาญา ทางวินัย และทางแพ่ง
สำหรับที่มาการสอบสวนข้อเท็จจริงการจัดตั้งตลาด 5 แห่งรอบบ้านบุญศรี และรัตนฉัตร แสงหยกตระการ หรือที่หลายคนเรียกว่าป้าทุบรถเป็นกระแสข่าวดัง เมื่อเกิดเหตุการณ์แชร์คลิปขณะป้าทั้งสองได้ทุบรถที่จอดกีดขวางหน้าบ้าน ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งตลาด ทำให้มีการสอบสวนและดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามมา