×

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาเผยว่า Meta พัฒนา ‘ผิวหนังอัจฉริยะ’ เพื่อให้สัมผัสกันได้ หรือสัมผัสกับวัตถุต่างๆ ได้ในโลก Metaverse

02.11.2021
  • LOADING...
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อหันมาโฟกัสธุรกิจโลกเสมือน Metaverse อย่างเต็มตัว ในปัจจุบันการเข้าสู่โลกเสมือนโดยหลักๆ แล้ว เราจะควบคุมตัวเราในโลกเสมือนได้แค่จากการใช้มือเท่านั้น แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากเราสัมผัสและควบคุมทุกอย่างในโลกเสมือนได้อย่างบนโลกแห่งความจริง

 

ล่าสุดล้ำหน้าไปอีกขั้นเมื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แม่ทัพของ Meta กล่าวว่า กำลังพัฒนาเซ็นเซอร์ระบบสัมผัสรุ่นใหม่ และวัสดุที่เป็นพลาสติกสามารถทำงานร่วมกันในโลก Metaverse ได้เป็นอย่างดี โดยพัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ Meta ได้สร้าง ‘ผิวหนัง’ พลาสติกที่สามารถเปลี่ยนรูปได้ และยังมีความหนาน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร

 

วัสดุนี้มีราคาถูก มีอนุภาคแม่เหล็กอยู่ภายในที่เป็นตัวสร้างสนามแม่เหล็ก โดยวัสดุนี้จะถูกเรียกว่า ReSkin เมื่อผิวหนังสัมผัสกับพื้นผิวอื่น สนามแม่เหล็กจากอนุภาคที่ฝังอยู่จะเปลี่ยนไป เซ็นเซอร์จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงของฟลักซ์แม่เหล็ก ก่อนที่จะป้อนข้อมูลไปยังซอฟต์แวร์ AI ซึ่งจะประมวลผลแรงหรือการสัมผัสที่ถูกป้อนเข้ามา เพื่อแสดงผลในโลกเสมือน

 

“เราออกแบบเซ็นเซอร์สัมผัสความละเอียดสูง และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เพื่อสร้างผิวหนังอัจฉริยะที่มีความบางอย่างมาก สิ่งนี้ทำให้เราเข้าใกล้วัตถุเสมือนจริง และการโต้ตอบทางกายภาพใน Metaverse ไปอีกขั้น” ซักเคอร์เบิร์กโพสต์บน Facebook เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน

 

ผิวหนังอัจฉริยะนี้ได้รับการทดสอบกับหุ่นยนต์ที่ถือผลไม้เนื้ออ่อนอย่าง องุ่นและบลูเบอร์รีก่อน นอกจากนั้นผิวอัจฉริยะนี้ยังถูกใส่ไว้ใต้ถุงมือคนจริง ขณะกำลังปั้นซาลาเปาอยู่อีกด้วย เนื่องจากระบบ AI ต้องได้รับการฝึกเรียนรู้เกี่ยวกับการสัมผัสของมนุษย์ 100 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กมีความสัมพันธ์กับการสัมผัสอย่างไร งานวิจัยนี้มีกำหนดจะตีพิมพ์ในวารสารวิชาการปลายเดือนนี้ แต่ยังไม่ได้ตรวจสอบโดยผู้รู้ในแวดวงนี้เพิ่มเติม หรือ Peer Review 

 

“นักวิจัย AI ส่วนใหญ่ละเลยการพัฒนาระบบสัมผัส เนื่องจากเซ็นเซอร์สัมผัสมีราคาแพงเกินไป หรือบอบบางเกินไปที่จะรับข้อมูลที่เชื่อถือได้” อภินาฟ คุปตะ นักวิทยาศาสตร์การวิจัยของ Meta กล่าว “มันคล้ายกับการที่มนุษย์หรือทารกเรียนรู้สัมผัสต่างๆ ที่มีข้อมูลต่อเนื่องกันหลายรูปแบบผสมกัน เพื่อพัฒนาความเข้าใจสิ่งต่างๆ ในโลก โดยเรากำลังเรียนรู้ทั้งจากพิกเซล เสียง สัมผัส รส กลิ่น และอื่นๆ

 

“แต่หากคุณมองว่า AI ก้าวหน้าไปมากเพียงใดในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้พัฒนาพิกเซล (การมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์) ไปอย่างมาก และเราได้พัฒนาด้านเสียง คำพูด และอื่นๆ ไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีใครพัฒนาการสัมผัสของ AI เลย ซึ่งการพัฒนาสิ่งที่สำคัญอย่างการสัมผัสนี้ถูกละเลยไป”

 

การช่วยให้เครื่องจักรและ AI รู้สึกได้ จะช่วยให้พวกมันเข้าใจว่ามนุษย์กำลังทำอะไรอยู่ และ ReSkin ของ Meta สามารถตรวจจับแรงเพียงเล็กน้อยได้ถึง 0.1 นิวตัน จากวัตถุที่มีความกว้างน้อยกว่า 1 มม. “เราสามารถทำความเข้าใจหลักฟิสิกส์เบื้องหลังวัตถุได้เป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้บริษัท Meta ของเราสร้าง Metaverse มีล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้น” คุปตะกล่าว 

 

Metaverse อาจเป็นวิวัฒนาการต่อไปของอินเทอร์เน็ต หรืออาจเป็นแค่คำศัพท์สวยหรูของบริษัท เพื่อให้นักลงทุนรู้สึกตื่นเต้นกับนวัตกรรมที่คลุมเครือ ที่อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ในทศวรรษหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำโดยบริษัท Meta กำลังส่งเสริมแนวคิดของ Metaverse มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงที่คุณสามารถอยู่อาศัย ทำงาน และเล่นภายในโลกนั้นได้ หากคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One คุณอาจเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า Metaverse คืออะไร เพียงแค่สวมแว่น VR และคุณก็จะถูกนำเข้าสู่จักรวาลโลกเสมือนดิจิทัล ที่ซึ่งทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้

 

หากความทะเยอทะยานไปสู่โลก Metaverse ของ Meta ประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นไปได้ที่เราจะสามารถโต้ตอบกับวัตถุเสมือน และรับการตอบสนองทางกายภาพ รับสัมผัส รับความรู้สึก จากชิ้นส่วนของฮาร์ดแวร์ที่เราสวมใส่อยู่ได้

 

“เมื่อคุณสวมชุดแว่นของ Meta คุณก็คงต้องการให้มีระบบสัมผัส เพื่อให้ผู้ใช้ได้รู้สึกถึงประสบการณ์ที่สมจริงอย่างไร้ที่ติยิ่งขึ้น” คุปตะกล่าว “คุณจะให้การตอบสนองแบบสัมผัสได้อย่างไร หากคุณไม่รู้ว่ามนุษย์มีสัมผัสแบบไหน หรือสัมผัสของวัตถุแต่ละอย่างเป็นอย่างไร นั่นคือวิธีที่ AI ของเราเรียนรู้”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Facebook 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X