×

มาริโอ้ เมาเร่อ กับบทเรียน ‘ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ’ ที่ได้จากละครทองเอก หมอยา ท่าโฉลง

31.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง คือผลงานการแสดงเรื่องแรกของ มาริโอ้ เมาเร่อ ที่จะเปิดตัวในปีนี้ แต่มากไปกว่าภาพละครแนวโรแมนติกคอเมดี้ย้อนยุค ตัวละคร ‘หมอยา’ ที่เขาได้รับ จะทำให้ผู้ชมละครได้ทั้งสาระและความสนุก เกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนไทย ซึ่งถือภูมิปัญญาไทยที่คนรุ่นใหม่แทบจะไม่เห็นความสำคัญแล้วในปัจจุบัน  
  • “ทุกวันนี้เรามีปัญหา เจ็บป่วยอะไรเราก็พึ่งพายาฝรั่ง แล้วเลือกที่จะไปหาหมอไทยเป็นหมอสุดท้าย คือใกล้จะตายอยู่แล้ว ถึงจะไปหาหมอไทย หมอไทยแก้ได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าแก้ไม่ได้ เขาก็จะโทษหมอไทยว่าไม่ดี”
  • “การใช้สมุนไพร กินแล้วมันก็ขับออกไปหมด เพราะมันมาจากธรรมชาติ คนเราก็คือธรรมชาติ มันคือการเอาธรรมชาติมารักษาธรรมชาติ อาจจะหายช้า แต่ในระยะยาว ผมคิดว่าดีกว่าแน่นอน”
  • “รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน รสฝาด ให้สรรพคุณทางยาไม่เหมือนกัน ยาบางตัวจะมีรสฝาดนำหวานตาม แล้วเราก็ได้รู้ลึกขึ้นไปอีกว่า ‘รสหวานจะซาบเนื้อ’ หมายถึงซาบเข้าไปถึงเนื้อได้ง่ายกว่า ถ้าเราใช้รสหวานในการทายา”

แม้ว่าภาพแรกจากละคร ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง เมื่อปีก่อน อาจจะทำให้ใครหลายคนอดคิดไปก่อนไม่ได้ว่า มู้ดแอนด์โทนแนวโรแมนติกคอเมดี้ย้อนยุค ผลงานละครเรื่องใหม่ของ มาริโอ้ เมาเร่อ นั้นช่างคล้ายกับภาพยนตร์ยอดฮิตระดับพันล้าน ผลงานที่เขาเคยรับบทนำเมื่อหลายปีก่อน

 

แต่พอได้นั่งลงคุยเน้นๆ กับโอ้ สิ่งที่ THE STANDARD POP ได้เรียนรู้เพิ่มเติม กลับเป็นเรื่องของเนื้อหา สาระ ความรู้ เกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนไทย ที่ถูกปรุงผสมด้วยรสหวาน ทานง่าย ขณะเดียวกันเราก็เชื่อเหลือเกินว่า สิ่งที่ผู้ชมละครจะได้รับกลับไป ก็คือสิ่งเดียวกับที่คนรุ่นใหม่อย่างโอ้เพิ่งได้รับกลับไป หลังจากได้ลงไปศึกษา คลุกคลีอย่างเข้มข้นกับ ‘หมอยาไทย’ ก่อนละครจะเริ่มต้นถ่ายทำ นั่นคือแง่งามของศาสตร์ภูมิปัญญาไทยที่เน้น ‘ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ’ ซึ่งคนรุ่นใหม่แบบเขาและแฟนละครส่วนใหญ่แทบจะลืมความสำคัญไปแล้ว

 

ทุกวันนี้เรามีปัญหา เจ็บป่วยอะไรเราก็พึ่งพายาฝรั่ง แล้วเลือกที่จะไปหาหมอไทยเป็นหมอสุดท้าย คือใกล้จะตายอยู่แล้วถึงจะไปหาหมอไทย หมอไทยแก้ได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าแก้ไม่ได้ เขาก็จะโทษหมอไทยว่าไม่ดี

ละคร ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง น่าจะเป็นงานแสดงแรกของโอ้ในปี 2562 ลองเล่าถึงตัวละครหมอยา ‘ทองเอก’ ให้ฟังหน่อยครับ  

ทองเอกเป็นหมอยาอยู่ท่าโฉลงครับ อายุ 19 ปี เป็นคนสนุกสนาน เฮฮา เหมือนเด็กวัยรุ่นซนๆ ทั่วไป แต่พรสวรรค์ของเขาคือ เป็นคนที่ชื่นชอบเกี่ยวกับเรื่องยาไทย สมุนไพรไทยมากๆ เหมือนเขามีจิตวิญญาณความเป็นหมออยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ

 

ความจริงผมได้พูดคุยกับ พี่ชุ-ชุดาภา จันทเขตต์ (ผู้กำกับละคร ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง และผู้จัดละครค่ายโซนิกซ์ บูม 2013) ซึ่งผมนับถือเป็นครูด้านการแสดงมานานมากแล้วครับ พี่ชุมีความคิดว่าอยากจะทำละครที่ให้ความรู้เกี่ยวกับยาไทย สมุนไพรไทย แล้วก็อยากให้มีความเป็นคอเมดี้ด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากความสนุก ละครก็จะมีส่วนของความรู้เกี่ยวกับยาเข้ามาเยอะมาก ซึ่งโอ้ทำการบ้านหนักเลยครับ

 

ตอนแรกผมทำการบ้านเอง อ่านแล้วอ่านอีก ท่องแล้วท่องอีก โอ้จำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องยาไม่ได้เลย ผมก็เลยต้องเปลี่ยนวิธีคือ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาจริงๆ เพราะบางทีในละครเราพูดออกไป มันต้องจำสรรพคุณของยาแต่ละตัวได้ด้วย ใบนี้ใช้แก้อาการนี้นะ กิ่ง ก้าน ใบ เปลือก ราก ของพืชตัวนี้ ใช้แก้อาการนี้นะ ซึ่งถ้าท่องจำอย่างเดียว มันก็เหมือนว่าเราไม่ได้รู้จริง

 

ก่อนละครเปิดกล้อง พี่ชุก็เลยพาโอ้ไปเจอ ไปคลุกคลีอยู่กับหมอยาไทยจริงๆ ตรงนั้นทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับการเป็นหมอยา เช่น ทุกครั้งก่อนจะรักษา ทองเอกจะใช้สามนิ้ว เอามือกดที่ชีพจรจนกว่าจะเจอเส้น โอ้ก็เลยมีโอกาสได้ลองทำการกดจุด การวัดชีพจรแบบสมัยก่อน โดยเราจะใช้แค่สามนิ้ว เพราะมันคือการดูธาตุสามอย่างในร่างกายเรา

 

วาตะคือลม, ปิตตะคือไฟ, เสมหะคือน้ำ พอจับชีพจร หมอยาจะรู้ว่าตอนนี้ธาตุชนิดไหนในร่างกายของคนไข้กำลังหย่อนบ้าง

 

การใช้สมุนไพร กินแล้วมันก็ขับออกไปหมด เพราะมันมาจากธรรมชาติ คนเราก็คือธรรมชาติ มันคือการเอาธรรมชาติมารักษาธรรมชาติ อาจจะหายช้า แต่ในระยะยาว ผมคิดว่าดีกว่าแน่นอน

ซึ่งว่ากันตามจริงก็เป็นอะไรที่ไกลตัวกับโอ้ กับคนรุ่นใหม่มากๆ เพราะส่วนใหญ่ทุกวันนี้เราเน้นการรักษากันแต่แพทย์แผนปัจจุบัน

ตอนแรกโอ้ก็ไม่เคยเห็นนะครับ เราเป็นคนไทย เกิดมาเรายังไม่รู้เลยว่าหมอยาไทยดั้งเดิมแล้วเป็นอย่างไร ทุกวันนี้เรามีปัญหา เจ็บป่วยอะไรเราก็พึ่งพายาฝรั่ง แล้วเลือกที่จะไปหาหมอไทยเป็นหมอสุดท้าย คือใกล้จะตายอยู่แล้วถึงจะไปหาหมอไทย หมอไทยแก้ได้ก็โชคดีไป แต่ถ้าแก้ไม่ได้ เขาก็จะโทษหมอไทยว่าไม่ดี

 

แต่พอผมมาเล่นละครเรื่องนี้ มันทำให้เข้าใจศาสตร์ภูมิปัญญาไทย เกี่ยวกับหมอยาไทยมากขึ้น แล้วก็เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมากๆ มันเป็นวิชาความรู้ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับประเทศเรามาช้านาน แต่เราแทบลืมไปหมดแล้ว

 

มองในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้มาศึกษา ได้มาแสดงบทหมอยา ผมมีความรู้สึกภูมิใจขึ้นเยอะมากว่ายาไทยมันมีดี เป็นวิชาที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แล้วก็อยู่กับคนไทยมาตั้งนานแสนนานแล้ว แต่คนไทยเราไม่ได้มองเห็นคุณค่าของมัน เพราะบางทียาสมุนไพรไทยมันไม่ได้ออกฤทธิ์แรง หรือเห็นผลเร็วเท่ากับยาฝรั่ง ที่กินแล้วเช้ามาหายเลย

 

ถ้าคุยกับหมอยาไทย เขาจะบอกว่า จริงๆ แล้วของพวกนี้มันเป็นสารเคมีที่เขาผสมกันขึ้นมา มันก็เลยจะมีการออกฤทธิ์ที่เร็วขึ้น ถามว่าดีไหม มันก็ดี แต่มันอาจจะตกค้างอยู่ในร่างกายเราได้ แต่การใช้สมุนไพร กินแล้วมันก็ขับออกไปหมด เพราะมันมาจากธรรมชาติ คนเราก็คือธรรมชาติ มันคือการเอาธรรมชาติมารักษาธรรมชาติ อาจจะหายช้า แต่ในระยะยาว ผมคิดว่าดีกว่าแน่นอน

 

หมอยามาริโอ้ช่วยเล่าสรรพคุณทางยาให้ฟังสักหน่อยได้ไหม ว่าไปศึกษาแล้วได้ความรู้อะไรกลับมาบอกต่อได้บ้าง

ผมได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสรรพคุณทางยาของสมุนไพรกลับมาพอสมควรครับ เพราะในเรื่องมันจะมีซีนที่เราต้องออกไปหาตัวยาชนิดต่างๆ ประกอบไปด้วย ‘สัตว์วัตถุ’ คือสรรพคุณทางยาที่ได้จากสัตว์ต่างๆ และ ‘ธาตุวัตถุ’ ที่จะได้จากธาตุชนิดต่างๆ ที่เราต้องเข้าไปหาในป่า

 

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเป็นหมอยาแล้วทำอึ้งมากๆ เลยคือ ครั้งแรกผมโคตรข้องใจเลยว่า หมอยาเขาเข้าไปในป่า เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรสามารถใช้รักษาโรคหรืออาการอะไรในร่างกายได้บ้าง ในป่ามีต้นไม้เป็นพันเป็นหมื่นชนิด แต่พอเราถาม ถึงได้รู้ว่าเขาแยกตัวยาชนิดต่างๆ ด้วย ‘รส’  

 

รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน รสฝาด ให้สรรพคุณทางยาไม่เหมือนกัน ยาบางตัวจะมีรสฝาดนำหวานตาม แล้วเราก็ได้รู้ลึกขึ้นไปอีกว่า ‘รสหวานจะซาบเนื้อ’ หมายถึงซาบเข้าไปถึงเนื้อได้ง่ายกว่า ถ้าเราใช้รสหวานในการทายา

 

เคยได้ยินคำว่า ‘หวานเป็นลม ขมเป็นยา’ ไหมครับ นั่นก็เหมือนกัน แต่ความจริงแล้ว รสขมของบางอย่างก็มีสรรพคุณทางยา ยกตัวอย่าง บอระเพ็ดมันขม แต่มีสรรพคุณทางยา ขณะเดียวกันบางอย่างถ้ามีรสขมมากเกินไป ก็อาจจะไม่ดี มันต้องขมพอประมาณ ผมก็เลยต้องลองเทสต์ ทั้งเคี้ยวใบ เคี้ยวกิ่ง ก้าน เคี้ยวกันสนุกเลย

 

ครั้งแรกผมโคตรข้องใจเลยว่า หมอยาเขาเข้าไปในป่า เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรสามารถใช้รักษาโรคอะไรหรืออาการในร่างกายแบบไหนได้ ในป่ามีต้นไม้เป็นพันเป็นหมื่นชนิด แต่พอเราถาม ถึงได้รู้ว่าเขาแยกตัวยาชนิดต่างๆ ด้วยรส

‘ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ’ ชอบคำนี้ ฟังแล้วเห็นภาพตามได้ง่าย   

ที่ผมทึ่งมากๆ คือ การทำยาหอม คือมันจะเป็นผงที่มีทั้งแบบเอามาชงกับน้ำร้อน กับมีอีกชนิดคือ ใช้นิ้วหยิบขึ้นมากินได้เลย สรรพคุณของยาหอมคือ ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยเกี่ยวกับภายใน กระตุ้นเลือดลม ซึ่งมีวิธีการทำยากที่สุดตั้งแต่ผมเคยเห็นเขาทำยากันมา

 

ยาหอมที่ใช้ส่วนผสมถูกต้องจะต้องใช้เครื่องปรุงยากว่า 40 ชนิด กว่าจะทำจนสำเร็จออกมาได้ ต้องใช้เวลาและยากมาก ซึ่งถ้าใครดูละครเรื่อง ทองเอกฯ ก็จะได้เห็นขั้นตอน วิธีการทำตั้งแต่ต้นจนจบเลยครับ แล้วไม่ใช่เฉพาะแค่การปรุงยาหอม แต่ทั้งเรื่องจะมีรายละเอียด ทำเป็นซับไตเติลให้เห็นตลอดทุกครั้งที่ผมจับต้นอะไร หยิบต้นอะไรขึ้นมา

 

ว่าแต่คุณสมบัติหรือการจะเป็นหมอยาไทยได้ต้องผ่านอะไรบ้าง ต้องมีจรรยาบรรณแบบแพทย์ฝรั่งไหม

หมอยาต้องศึกษาหาความรู้ แล้วคนที่จะเป็นหมอได้คือ ใจเขาต้องเป็นหมอครับ ที่สำคัญเขาไม่ได้มองว่าคนที่มาให้รักษาเป็น ‘ผู้ไข้’ อย่างเดียว แต่ใจมองว่าทุกคนเป็นญาติของเขาเสมอ ไม่เคยคิดว่าใครเป็นคนอื่น เพราะฉะนั้นถ้าผมจะรักษาใครก็ตาม ใจผมจะให้เขาไปเต็มๆ ไม่เคยที่จะกั๊กว่าคนนี้ไม่สนิท รักษาแค่นิดเดียวพอ เพราะเราเห็นว่าทุกคนเป็นครอบครัว ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน

 

เราได้รับการสอนมาตั้งแต่รุ่นปู่ มีคำพูดหนึ่งในละครเรื่องนี้คือ “ผู้ไข้จะเปรียบเสมือนญาติเรา” ผมว่ามันเป็นคำสั้นๆ แต่ยิ่งใหญ่มากสำหรับคนเป็นหมอ แล้วผมรู้สึกว่ามันเจ๋ง

 

รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน รสฝาด ให้สรรพคุณทางยาไม่เหมือนกัน ยาบางตัวจะมีรสฝาดนำหวานตาม แล้วเราก็ได้รู้ลึกขึ้นไปอีกว่า ‘รสหวานจะซาบเนื้อ’ หมายถึงซาบเข้าไปถึงเนื้อได้ง่ายกว่า ถ้าเราใช้รสหวานในการทายา

จริงๆ การผสมพล็อตคอเมดี้มาใส่ลงไปในเนื้อหาเรื่องหมอไทย สมุนไพรไทยก็คล้ายๆ การปรุงยาให้ผู้ชมละครกินยาได้ง่ายขึ้น ตรงนี้น่าจะเป็นเสน่ห์ของละครเรื่องนี้

ใช่ครับ พล็อตเรื่องแหวกแนว มันมีความเป็นคอเมดี้มาบวกเอาไว้ด้วย ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนจะยากมันดูง่ายขึ้น ผมว่ามันจะช่วยทำให้คนดูเข้าถึงความเป็นหมอยา เข้าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรไทยได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สนุกไปด้วย   

 

ผมว่ามันเป็นละครในแบบที่ไม่ได้ถูกทำให้มีกันบ่อยๆ และสำหรับโอ้ โอ้คิดว่ามันเป็นละครที่มีพล็อตเรื่องไม่เหมือนชาวบ้านเขาเลย เพราะการหยิบเอาเรื่องของหมอยาไทยมาเป็นเมนของเรื่อง โอ้ว่ามันเป็นสิ่งที่คนไทยมองข้ามมากๆ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจเลยครับ หรือแม้แต่กับคนรุ่นผมก็ไม่ได้สนใจ แต่พอลงไปคลุกคลี โอ้ก็รู้สึกว่ามันมีค่ามากๆ

 

แล้วความจริงประวัติศาสตร์ต่างๆ พวกเรื่องยาไทย มันถูกทำลายไปค่อนข้างเยอะ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็จะติดตัวอยู่กับหมอยาที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ที่เขาได้รับการสืบทอดส่งต่อกันมา

 

ส่วนใหญ่คนที่เป็นหมอยาไทยนะครับ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเป็นหมอได้เลย แต่มันคือการที่ปู่ของเขาเป็น พ่อของเขาเป็น มันคือการสืบทอดผ่านทางสายเลือด เป็นเหมือนโชคชะตาที่ถูกลิขิตเอาไว้ว่าเด็กคนนี้จะเป็นหมอ ไอ้เด็กคนนี้จะเกิดมาเป็นหมอ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากแล้ว

 

ยาหอมที่ใช้ส่วนผสมถูกต้องจะต้องใช้เครื่องปรุงยากว่า 40 ชนิด กว่าจะทำจนสำเร็จออกมาได้ ต้องใช้เวลาและยากมาก ซึ่งถ้าใครดูละครเรื่อง ทองเอกฯ ก็จะได้เห็นขั้นตอน วิธีการทำตั้งแต่ต้นจนจบเลยครับ

นอกจากงานละครใหม่ อีกเรื่องน่าสนใจคือปีนี้ มาริโอ้ เมาเร่อ อายุเข้าหลัก 30 มีโมเมนต์อะไรที่เป็นของขวัญและบทเรียนใหม่ๆ สำหรับช่วงอายุที่โตขึ้นบ้างไหม  

ผมว่าตัวเองยังมีความใจร้อนเหมือนวัยรุ่นทั่วไป รู้สึกว่าเวลาเจอปัญหาอะไรก็ยังมีความใจร้อนอยู่ ซึ่งเราอยากเย็นลงขึ้นไปอีก

 

อีกอย่างก็คือ รู้สึกว่าชีวิตมีค่ามากเลย เพราะเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ผมเพิ่งเสียเพื่อนไป ก็คือโจ้กับเซนติเมตร (โจ้-ศุภกิจ เกิดซ้ำ ผู้จัดการเน๊กซ์ ทู นอร์มอล ร้านมัลติแบรนด์ในเครือเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป และ เซนติเมตร-จตุรภัทร เข็มนาค สไตลิสต์และพิธีกรชื่อดัง) โดยเฉพาะโจ้ที่เป็นเพื่อนกับผมมาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนกับผมมาตั้งแต่ชั้นประถม 1 แล้วตอนตี 1 วันที่เขาเสียชีวิต พอเพื่อนผมโทร.มาบอกว่า โจ้เสีย ผมก็เศร้าเลย ร้องไห้ แล้วก็ตะโกนเรียกชื่อมัน

 

ผมเศร้ามาก ไม่อยากเชื่อว่ามันจะไปแล้ว ไม่คิดว่าคนใกล้ตัวของเราจะมาเจอกับอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดแบบนี้ ความจริงเรื่องนี้เป็นบทเรียน และเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ด้วย เพราะโอ้ไม่เคยเสียเพื่อนมาก่อนเลย

 

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ต่อไปเราต้องใช้ชีวิตให้มันมีค่ามากกว่านี้นะ ใช้ชีวิตให้มันมีค่ามากที่สุด ทุกวินาที ถ้าอยากทำอะไรหรือทำอะไรได้ ให้รีบทำ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะจากไปเมื่อไร หรือถ้าเสียใจกับเรื่องอะไร ก็อย่าไปเสียใจกับมันนาน ให้ลุยเดินหน้าต่อไป ใช้ชีวิตให้มันมีความสุข ใช้ชีวิตให้มันดีที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • ละคร ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ออกอากาศหลังข่าวภาคค่ำ ทุกวันพุธและพฤหัสบดี ทางช่อง 3 และช่อง 33 เริ่มตอนแรกคืนวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562  
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising