ปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนถือเป็นปัญหาระดับสากลปัญหาหนึ่งที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ และพยายามคิดหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืนเท่าที่จะเป็นไปได้
ในขณะที่หลายประเทศยังคงไม่สนใจปัญหาโลกรวน ไม่นานมานี้มีการศึษาชุดใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลเพียง 3-5 องศาเซลเซียส จะทำให้ 90% ของพันธุ์สัตว์น้ำในโลกมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ภายในปี 2100 หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ถูกควบคุม
ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ผลกระทบต่ออุณหภูมิ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกทำให้ชั้นบรรยากาศโลกไม่สามารถสะท้อนความร้อนออกได้ จึงทำให้อุณหภูมิภายในโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นตามลำดับ และอีกหนึ่งผลกระทบคือ ฝนกรด ที่เกิดจากน้ำฝนชะล้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงสู่แหล่งน้ำหรือพื้นดิน ซึ่งแน่นอนว่าฝนกรดค่อนข้างอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลา แบคทีเรีย พืช หรือสัตว์เซลล์เดียว ที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกไม่เกิน 100 เมตร ตามการศึกษาผลกระทบของฝนกรดต่อสัตว์น้ำกว่า 25,000 ชนิด
อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่า หากเราสามารถควบคุมอุณหภูมิน้ำทะเลให้ไม่สูงเพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำในข้างต้นได้ถึง 98%
ที่น่าสนใจกว่าคือ นักวิจัยยังพบว่า สัตว์นักล่าขนาดใหญ่มีโอกาสสูญพันธุ์มากกว่าสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่นเดียวกับสายพันธุ์ปลาที่มนุษย์นิยมบริโภคอย่างหนัก ในทางกลับกันสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดกลับกลายเป็นสปีชีส์ขนาดเล็กที่มีอายุสั้น และหากปัญหาเรื่องก๊าซเรือนกระจกไม่ได้รับการแก้ไข การสูญเสียในครั้งนี้จะกลายเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่โลกต้องเผชิญ เช่นเดียวกับการสูญเสียไดโนเสาร์เมื่อ 252 ล้านปีที่ผ่านมา
ภาพ: Getty images / Reinhard Dirscherl
อ้างอิง: