หากใช้กัญชาเกินขนาดและผิดวิธีอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากกรณีข่าวผู้บริโภคกัญชาจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดย ‘อาการข้างเคียง’ และ ‘ภาวะพิษ’ จากกัญชาขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณที่ได้รับต่อครั้ง ความทนของผู้ใช้ และวิธีการนำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจแบ่งเป็น 3 วิธี คือ การกินหรือดื่ม การหยอดใต้ลิ้น และการสูบ แต่ละวิธีมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน
การกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ผู้ปรุงอาหารควรใช้ใบกัญชาเพียง 1-2 ใบต่อหน่วยบริโภค (ปริมาณอาหารหรือเครื่องดื่มที่สามารถกินได้ในครั้งเดียว) ไม่ควรใช้ช่อดอกในการทำอาหารเพราะมีสาร THC สูง เมนูที่ใช้ความร้อนและใช้น้ำมันในการปรุง เช่น ผัด ทอด จะทำให้มีสาร THC มากขึ้น เมื่อกินหรือดื่มจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 30-60 นาที และออกฤทธิ์นาน 5 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีแนะนำให้ร้านค้าติดฉลากให้ชัดเจนทั้งเมนูและบรรจุภัณฑ์ ถ้าทำได้ให้ระบุปริมาณสาร THC ในอาหาร ส่วนผู้บริโภคให้กินตามหน่วยบริโภค เช่น กินคุกกี้ผสมกัญชาทีละครึ่งชิ้นหรือ ¼ ชิ้นก่อน และสังเกตอาการว่าได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่ เพราะการกินออกฤทธิ์ช้า จึงไม่ควรกินเพิ่มก่อนเวลาออกฤทธิ์ 20-60 นาที
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควบคุมปริมาณสาร THC ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และแนะนำว่าไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ
การสูบกัญชาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะจะได้รับสาร THC ในปริมาณสูง (18-50%) และการสูบต่อเนื่องมีผลเสียต่อปอดคล้ายการสูบบุหรี่ ออกฤทธิ์เร็วประมาณ 6-12 นาที และออกฤทธิ์นาน 2-3 ชั่วโมง ส่วนการใช้น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น ออกฤทธิ์เร็วเช่นกัน ประมาณ 15 นาที เพราะจะไม่ถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับเหมือนการดูดซึมทางลำไส้ แต่ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
‘อาการข้างเคียง’ หรือผลจากการใช้กัญชาในปริมาณที่ไม่เกิดพิษ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทางจิตใจจะรู้สึกผ่อนคลาย เวลาผ่านไปช้า เจริญอาหาร และทางกาย ชีพจรจะเร็วขึ้น เส้นเลือดขยายตัว ตาแดง ในขณะที่ ‘ภาวะพิษ’ จากกัญชาเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันตามเวลาเริ่มออกฤทธิ์ และระยะเวลาออกฤทธิ์ข้างต้น และเรื้อรังหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ภาวะพิษเฉียบพลัน พบในผู้ที่เริ่มใช้ครั้งแรกหรือใช้เกินขนาด ซึ่งมีการศึกษาพบว่าปริมาณสาร THC ที่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลันเท่ากับ 5-20 มิลลิกรัมผ่านการกิน และ 2-3 มิลลิกรัมผ่านการสูบ ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือสั่น พูดไม่ชัด
- เฉื่อยชา ง่วงซึม สติสัมปชัญญะลดลง ชัก
- ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย วิตกกังวล ก้าวร้าว
- ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง
- ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
- ไตวายเฉียบพลัน
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย
ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาภาวะพิษจากกัญชาที่จำเพาะ และแพทย์จะรักษาตามอาการ โดยไม่จำเป็นต้องล้างท้องหรือกินผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) แต่เมื่อไปโรงพยาบาล ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อประเมินอาการได้ถูกต้อง สังเกตอาการในที่ปลอดภัย ระวังพลัดตกหกล้มหรือทำร้ายตนเอง และหากมีอาการกระสับกระส่าย วุ่นวาย แพทย์จะจ่ายยานอนหลับให้
นอกจากนี้ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดียังแนะนำให้ผู้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา งดขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง และการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุรา จะทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลงมาก ทั้งนี้หากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทางสมองที่ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- พิษวิทยาของกัญชา: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJHP/article/view/248552
- 10 ข้อระวังการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา: https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/news/event/07jun2022-1448-th
- Marijuana Toxicity: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430823/