ผลวิจัยชี้ การบริโภคกัญชาทุกรูปแบบไม่ว่าจะผ่านวิธีการสูบควัน การสูบน้ำมันกัญชาไฟฟ้า (Vaping) หรือการกิน ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงต่อความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่เคยมีภาวะหัวใจผิดปกติ หรือไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนก็ตาม
การวิจัยนี้เป็นผลงานจากนักวิจัยของโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ American Heart Association โดยพวกเขาทำการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านกลุ่มตัวอย่าง 430,000 คน ซึ่งมีอายุ 18-74 ปี ระหว่างปี 2016-2020 เพื่อดูว่าการใช้กัญชามีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และอาการหัวใจวายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
ผลการวิจัยระบุว่า ความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ แม้แต่การบริโภคกัญชาแค่ 1 ครั้งต่อเดือน และความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นอีกตามความถี่ของการใช้งานกัญชาเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยใช้เลย โดยหากมีการบริโภคกัญชาทุกวัน ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นถึง 42% และความเสี่ยงหัวใจวายเพิ่มขึ้น 25%
อับรา เจฟเฟอร์ส (Abra Jeffers) นักวิเคราะห์ข้อมูลประจำโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ในนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ผู้วิจัยเรื่องยาสูบและการเลิกบุหรี่ และเป็นผู้เขียนหลักของการศึกษาฉบับนี้ กล่าวว่า “ควันกัญชาไม่ได้แตกต่างจากควันบุหรี่มากนัก ยกเว้นกลุ่มยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท THC กับนิโคติน”
“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าการสูบกัญชามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก ไม่ต่างกับการสูบบุหรี่ ผลการศึกษาครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันคนใช้กัญชากันมากขึ้น ขณะที่ยอดการสูบบุหรี่ลดลง” เจฟเฟอร์สกล่าว
แฟ้มภาพ: saravutvanset via Getty Images
อ้างอิง: