×

ปลูก ปรุง ปุ๊น ควรระวังอะไรบ้าง หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด

09.06.2022
  • LOADING...
กัญชา

9 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ ‘กัญชา’ ถูกปลดล็อกทั้งต้น ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเทศไทยอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของต้นกัญชาก็ตาม นับเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่พรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบาย ‘กัญชาไทยปลูกได้เสรี’ แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด กัญชาเพื่อการแพทย์ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 และเป็นนโยบายหลักของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

หลังจากปลดล็อกแล้วประชาชนสามารถปลูก ปรุง หรือปุ๊นกัญชาได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง และทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ.กัญชา ควบคุมการบริโภคกัญชาหลังเปิดเสรีแล้ว

 

☘️ ไทม์ไลน์กฎหมายกัญชาเสรี ☘️

 

เดิม ‘ทุกส่วน’ ของกัญชา รวมถึงยางและน้ำมันกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ยกเว้น ‘บางส่วน’ ของกัญชา ได้แก่ เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังปลูกและขายไม่ได้ 

 

หากต้องการปลูกจะต้องดำเนินการในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตร (เช่น ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น) ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ/มหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เปิดช่องไว้ (สังเกตว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์เริ่มมาตั้งแต่ยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเป็นการเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นระยะ)

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (เมื่อปีที่แล้วมีการยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน) ระบุเพียง ‘สารสกัด’ จากกัญชา โดยไม่มีการระบุส่วนของกัญชา ทำให้ปลดล็อก ‘ทุกส่วน’ ของกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษ และยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชา

 

ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ในอีก 120 วันถัดมา ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดังนั้น ‘กัญชาไทย’ จึง ‘ปลูกได้เสรี’ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาและนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องหมายเหตุว่าจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก และถึงแม้จะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมาย แต่สารออกฤทธิ์ในกัญชาอาจมีโทษต่อสุขภาพได้ ทำให้แพทย์หลายสาขากังวลถึงผลกระทบของการเปิดเสรีกัญชา

 

 ☘️ สารในกัญชา และการปรุงอาหาร ☘️

 

ในกัญชามีสารอยู่หลายชนิด แต่สารออกฤทธิ์ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ

  • THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ ‘สารเมา’ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในขนาดที่เหมาะสมจะลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้เมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน พบมากในส่วนช่อดอกและเมล็ด ในขณะที่การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดการติดยาได้ สารสกัด THC เข้มข้นเกิน 0.2% จึงถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายอยู่ 
  • CBD (Cannabidiol) ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC คือต้านการเมาเคลิ้มและอาการทางจิต ลดอาการวิตกกังวล ไม่มีฤทธิ์เสพติด ในทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคลมชัก กัญชาแต่ละพันธุ์มีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อปริมาณสารด้วย แต่ทั้ง 2 ชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน การประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันหรือเนย หรือส่วนผสมมีไขมันจากสัตว์ จะทำให้ได้รับสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นการนำกัญชามาใช้ในการปรุงอาหารจะต้องระมัดระวัง 2 เรื่อง คือ ส่วนของกัญชาที่นำมาใช้ ควรเป็นส่วนของใบ ตามภูมิปัญญาเดิม แนะนำให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินกัญชามาก่อน และควรกินในปริมาณน้อย หากใช้ช่อดอกอาจทำให้ได้รับสาร THC เกินขนาดและมีอาการข้างเคียงได้ กับวิธีการประกอบอาหาร ประเภทผัดหรือทอด เช่น ผัดกะเพรา ไข่เจียว จะทำให้ได้รับสารออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเภทต้ม เช่น ต้มเล้ง ก๋วยเตี๋ยว หรือเครื่องดื่ม จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า

 

☘️ ใครบ้างที่ต้องระวังสารในกัญชา ☘️

 

คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ระบุข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ ดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่นๆ หรือสารที่เป็นตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคหัวใจและปอด หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล
  • สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดหรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย และพบสารกัญชาในน้ำนมแม่

 

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ ได้แก่

  •  ผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากสาร THC ส่งผลต่อสมองที่กำลังพัฒนา
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก
  • ผู้ใช้ยาอื่นๆ เช่น ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids), ยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมากเพียงพอในสองกลุ่มนี้

 

ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้สารสกัดกัญชา ประชาชนทั่วไปที่ต้องการใช้กัญชาก็ต้องระมัดระวังข้อห้ามข้างต้นด้วย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ และเพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรกเมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน) มีบทบัญญัติห้ามขายกัญชาเพื่อนำไปบริโภคแก่บุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่จะไม่บังคับสำหรับในทางการแพทย์

 

☘️ กลิ่นและควันจากการปุ๊นเป็นเหตุรำคาญ โทษหนักกว่าบุหรี่ ☘️

 

ถึงแม้จุดเริ่มต้นของกฎหมายกัญชาจะเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 อนุทินกล่าวในการแถลงข่าวร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ว่า “การใช้ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ ค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมจากกัญชา คือเจตนารมณ์หลัก ส่วนนันทนาการเป็นสิ่งสุดท้าย ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามี-ไม่มีผลต่อจิตประสาทค่อยมาพิจารณากัน” แต่การปลูกกัญชาได้ในครัวเรือนทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่าย และอาจนำไปใช้เพื่อนันทนาการหรือ ‘ดูดปุ๊น’ ได้ 

 

การเสพกัญชามีผลระยะยาวต่อจิตประสาท ทำให้เกิดโรคจิต การฆ่าตัวตาย การติดยา สมองฝ่อ ความคิด-ความจำผิดปกติ รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอัณฑะ ในต่างประเทศที่เปิดเสรีกัญชาพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรือผู้ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกัญชามากขึ้น และมีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น จึงควรมีกฎหมายควบคุมการเสพกัญชาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคม

 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีปลดล็อกกัญชา กัญชง ว่าได้เตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการนำกัญชา กัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยการออกประกาศกำหนดให้กลิ่นควันกัญชา กัญชงเป็น ‘เหตุรำคาญ’ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 หมายถึง เหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น

 

โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในทางปฏิบัติอาจบังคับใช้ได้ยาก เพราะนิยามเหตุรำคาญอาจไม่ครอบคลุมการปุ๊นภายในครัวเรือน และผู้บังคับใช้กฎหมายนี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบจ., นายกเทศมนตรี/อบต., ผู้ว่าฯ กทม., นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีเจ้าพนักงานสาธารณสุขให้การสนับสนุนการทำงาน เช่น การลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง การให้ข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น

 

นอกจากนี้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดยังส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ช่วยออกกฎหมายป้องกันการโฆษณากัญชาในทางนันทนาการ เช่น Ganja Night ในสถานบันเทิง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย ส่วนกรณีการป้องกันชาวต่างชาติเข้าใจผิดว่าไทยใช้กัญชาเสรี ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์จะดูแลเรื่องการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางความรอบรู้เกี่ยวกับกัญชา (Cannabis Literacy)

 

☘️ ถ้าจะปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร ☘️

 

ต่อเนื่องจากการแถลงข่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ หรือเว็บไซต์ของ อย. (https://plookganja.fda.moph.go.th) และสามารถถอนการจดแจ้งได้เมื่อพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้การจดแจ้งแอปพลิเคชันปลูกกัญนั้นเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของผู้ปลูกก่อนที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงจะประกาศบังคับใช้ 

 

โดยแจ้งตามวัตถุประสงค์การปลูก ซึ่งการปลดล็อกนี้จะทำให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและใช้ในครัวเรือน, เพื่อนำไปใช้ในการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายในกรณีที่เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอจดแจ้งแล้วเกือบแสนราย ทั้งนี้การปลูกในเชิงพาณิชย์ในอนาคตน่าจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เช่น การจดแจ้ง และได้รับการประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณาอนุญาต

 

☘️ ข้อเสนอจากสมาคมจิตแพทย์ฯ ☘️

 

จะเห็นว่าการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับเรื่องผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เพิ่งเริ่มพิจารณาในรัฐสภา มาตรการป้องกันการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการยังขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และกฎหมายอื่นๆ เช่น การโฆษณากัญชายังอยู่ระหว่างการพิจารณา รวมถึงการแนะนำการใช้ประโยชน์และการสร้างความตระหนักถึงโทษของกัญชาที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เสนอคำแนะนำต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชาในประเทศไทย 5 ข้อดังนี้

  • กระทรวงสาธารณสุขควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนว่าส่วนไหนของกัญชาควรและไม่ควรใช้
  • การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ควรเริ่มจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์
  • การส่งเสริมให้ปลูกกัญชาก่อนจึงให้ความรู้ตามหลัง จะก่อให้เกิดปัญหาการใช้กัญชาที่เป็นอันตรายได้
  • สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใยและอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์
  • สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลจัดทำมาตรการที่นอกเหนือไปจากที่มีในขณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมก่อนการปลูกอย่างเสรี เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เพราะ
    • เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่ 
    • กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพและหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้ 
    • การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
    • กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิตและจิตเภทได้

 

โดยสรุปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทุกส่วนของกัญชา ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย ประชาชนสามารถปลูกและนำกัญชามาใช้ในครัวเรือนได้ โดยควรจดแจ้งการปลูกต่อ อย. เด็กและสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรบริโภคกัญชา รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด การปรุงอาหารควรเลือกใช้ส่วนของใบ ในขณะที่การใช้เพื่อนันทนาการมีผลเสียต่อสุขภาพและอาการทางจิต อาจส่งผลต่อครอบครัวและสังคมได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising