×

มาร์คัส แรชฟอร์ด หนุ่มน้อยจาก Wythenshawe ผู้ไม่ยอมให้น้องๆ ต้องท้องร้องเหมือนเขาอีก

19.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • มาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดและโตในไวเทนชอว์ ย่านหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกนั้นยากลำบากมากที่สุด เต็มไปด้วยอาชญากรรม ยาเสพติด และแก๊งอันธพาลมากมาย
  • ในวัยเด็ก แรชฟอร์ดมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะครอบครัวมีรายได้น้อย ไม่เพียงพอที่จะซื้อหาอาหารมาให้ทาน ดังนั้น อาหารฟรีที่โรงเรียนจึงมีความหมายอย่างมากสำหรับเขาและครอบครัว
  • ช่วงวิกฤตโควิด-19 แรชฟอร์ดร่วมมือกับองค์กรการกุศล รวบรวมเงินบริจาคได้มากถึง 20 ล้านปอนด์ สามารถช่วยเหลือคนได้มากถึง 3 ล้านคน

ตั้งแต่เด็กแล้วที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด จะมีนิสัยในการเรียกร้องความสนใจในแบบของเขา

 

เสียงลูกบอลโดนถังขยะบ้าง ลงในถังขยะบ้าง กระดอนขึ้นหลังคาบ้านบ้าง และบางครั้งก็เป็นเสียงกระจกแตกบ้าง ซึ่งเสียงอย่างหลังสุดนี้เป็นเสียงที่คุณแม่ของเขา เมลานี ไม่ค่อยชอบใจนัก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่หนูน้อยมาร์คัสรัก

 

และสำหรับเธอ รอยยิ้มของเขาคือโลกทั้งใบ

 

เพียงแต่กับคนอื่นแล้ว มาร์คัส แรชฟอร์ด ไม่ได้แสดงรอยยิ้มของเขาให้เห็นบ่อยนัก ใช่ว่าจะเป็นเด็กที่เย่อหยิ่งหรือจองหอง เพียงแต่เขาเป็นคนขี้อายมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ค่อยชอบที่จะแสดงความรู้สึกให้ใครได้เห็นบ่อยนัก

 

แต่การเก็บงำความรู้สึกนั้นไม่สามารถปกปิดพรสวรรค์ในการเล่นฟุตบอลของเขาในสนามได้ครับ

 

พรสวรรค์ของเด็กน้อยชาวแมนคูเนียนที่เกิดและโตในไวเทนชอว์ ย่านหนึ่งในเมืองแมนเชสเตอร์ ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกนั้นยากลำบากมากที่สุด เต็มไปด้วยอาชญากรรม ยาเสพติด และแก๊งอันธพาลมากมาย ถูกค้นพบอย่างง่ายดายในเกมฟุตบอลระดับท้องถิ่น ช่วงนั้นเจ้าหนูเล่นให้กับสโมสร Fletcher Moss Rangers ก่อนที่จะถูกแมวมองของแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ดค้นพบ

 

เด็กๆ ที่ถูกค้นพบแบบนี้มีจำนวนมากในอังกฤษ แต่มีจำนวนน้อยเพียงนิ้วมือนับได้ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเล่นในระดับฟุตบอลอาชีพได้จริงๆ

 

และมีเพียงไม่ถึงนิ้วมือหนึ่งข้างที่จะก้าวมาเพื่อเป็นดาวเด่นของวงการฟุตบอลได้

 

แรชฟอร์ดเป็นหนึ่งในนั้นที่ใช้พรสวรรค์ที่มีติดตัวมาให้เกิดประโยชน์ ความเร็วของเขา ทักษะการไป-กลับบอล และการจบสกอร์ที่ยอดเยี่ยม ทำให้เขาค่อยๆ ก้าวขึ้นมาทีละขั้น

 

เพียงแต่ชีวิตนอกสนามแล้ว เขาเป็นหนึ่งในเด็กจำนวนมากที่พบเจอกับความยากลำบากมาตลอดชีวิต

 

ภาพความทรงจำในวันที่ครอบครัวต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม และมีเงินมากพอแค่สำหรับการซื้อโยเกิร์ต 7 ถ้วย สำหรับไว้ทานตลอดสัปดาห์ แม้ว่าเมลานีจะทำงานอย่างหนักแล้วก็ตาม

 

สำหรับเด็กวัยกำลังโต ข้าวปลาอาหารคือสิ่งสำคัญ แต่มันเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อหามาทานให้อิ่มท้องได้

 

โชคดีที่ในเมืองแมนเชสเตอร์มี Food Banks และ Soup Kitchens ที่เพื่อนบ้านผู้มีน้ำใจช่วยนำมาแบ่งปันให้แก่คนที่ลำบาก

 

อาหารจากน้ำใจเหล่านี้ช่วยเติมเต็มท้องที่ว่างเปล่าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวันที่เจ้าหนูมาร์คัสไม่ได้รับมื้ออาหารฟรีจากโรงเรียน

 

ปกติแล้วเด็กจากครอบครัวที่ยากไร้จะมีสิทธิ์ได้รับมื้ออาหารฟรี ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่เขาไม่เข้าใจในวัยนั้นว่าทำไมเขาต้องไปทานอาหารเช้าที่ Breakfast Club ด้วย

 

แต่ข้าวต้มร้อนๆ ไข่ ขนมปัง และน้ำส้ม ที่มีให้เขาทานทุกวันนั้นไม่ได้สำคัญเพียงแค่กับเขา แต่ยังมีความหมายต่อครอบครัวที่ลดภาระและความตึงเครียดไปได้มาก

 

ลองจินตนาการนะครับว่า หากคุณทำงานอย่างหนักมาก แต่เงินที่คุณได้รับยังไม่เพียงพอแม้กระทั่งจะหาอาหารให้ลูกน้อยได้ทานอิ่มท้อง โดยลืมไปได้เลยว่าท้องของคุณก็หิวไม่แตกต่างกัน สภาพจิตใจนั้นจะบอบช้ำมากแค่ไหน

 

อาหารฟรีไม่ได้ทำให้เขาอิ่มทุกมื้อเสมอไป นั่นทำให้บางครั้งเจ้าหนูแรชฟอร์ด ซึ่งมีเพื่อนสนิทในกลุ่มอยู่ 5 คน โดยที่ 3 คนในนั้นจะมีห่อข้าวมาด้วย แอบขอให้เพื่อนบอกครอบครัวว่า “ช่วยหยิบบิสกิตเพิ่มมาเผื่อเขาหน่อยได้ไหม”

 

ความยากลำบากนี้กินระยะเวลายาวนานหลายปี ก่อนที่เมลานีตัดสินใจที่จะส่งมาร์คัสลูกรักให้อยู่ในความดูแลของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตั้งแต่อายุ 11 ปี

 

ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเร็วกว่าปกติที่จะให้นักฟุตบอลเข้าไปอยู่ในอคาเดมีของสโมสร 1 ปี แต่เมลานีรู้ดีว่าสำหรับมาร์คัส การที่เขาจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า และที่สำคัญที่สุดคือการที่จะได้มีข้าวทานครบทุกมื้อเป็นเรื่องที่ดีต่อลูกชายของเธอ

 

ถึงมันยากจะทำใจยอมรับได้ที่ต้องปล่อยให้ลูกไปอยู่ในการดูแลของคนอื่น แต่เมลานีคิดว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วสำหรับเขา

 

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

 

แรชฟอร์ดก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นดาวรุ่งของสโมสร ได้โอกาสลงสนามแจ้งเกิดนัดแรก และทำได้ 2 ประตูทันทีในเกมกับ FC Midtjylland เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 โดยที่ในเช้าวันถัดมาเขายังต้องกลับไปโรงเรียนเพื่อเข้าเรียนตามปกติอยู่เลย

 

ก่อนที่เขาจะก้าวมาเป็นหนึ่งในซูเปอร์สตาร์ของสโมสร เป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองแมนเชสเตอร์ในฐานะแมนคูเนียนแท้ๆ

 

ความจริงแค่นี้ก็นับว่าดีมากแล้วนะครับ สำหรับชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตที่ยากลำบาก

 

แต่สิ่งที่เขาทำเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกฟุตบอลได้เคยพบเจอ

 

ในวงการกีฬามีการพูดกันมาโดยตลอดครับว่า กีฬามีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ หลายสิ่งหลายอย่างจึงมีการรณรงค์เรียกร้อง โดยอาศัยเกมกีฬาเป็นเครื่องมือ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะประสบความสำเร็จ เพราะปัญหานั้นจะไม่มีทางได้รับการแก้ไข หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากผู้มีอำนาจ

 

หลายครั้งความช่วยเหลือจากวงการกีฬาจึงเป็นการทำแบบแค่ ‘พอมี’ เท่าที่จะมีกำลังวังชาทำไหว

 

แต่สำหรับกรณีของแรชฟอร์ดนั้นแตกต่างออกไปครับ

 

ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ประเทศอังกฤษมีการล็อกดาวน์ ทุกอย่างถูกปิดหมด รวมถึงโรงเรียน ขณะที่สโมสรและนักฟุตบอลจำนวนมากได้มุ่งไปที่การช่วยเหลือทางสังคมในรูปแบบต่างๆ บ้างก็ช่วยเหลือชุมชน บ้างก็ช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ต้องการทุนสำหรับการต่อสู้กับโควิด-19 และดูแลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

แรชฟอร์ดคิดและมองเห็นปัญหาที่แตกต่าง

 

สิ่งที่เขามองเห็นคือ การที่โรงเรียนปิดเรียนเป็นระยะเวลานานหลายเดือน หมายถึงการที่จะมีเด็กและครอบครัวจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหาแบบแสนสาหัส เพราะนั่นหมายถึงจะไม่มีใครที่ได้รับคูปองอาหารฟรีตามที่ควรจะได้

 

จะมีเด็กจำนวนมากที่อดอยากและหิวโหยในแบบที่เขาเคยประสบกับตัวเองมาก่อน

 

และความรู้สึกนั้นแรงกล้ามากพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจที่จะลุกขึ้นสู้กับปัญหานี้ทันทีด้วยตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม

 

แรชฟอร์ดเริ่มจากการร่วมมือกับ FareShare หน่วยงานที่ช่วยเหลือคนที่อดอยาก ขาดแคลนอาหาร ขอรับบริจาคเงินเพื่อที่จะจัดหาอาหารมาให้ทุกคน บนความตั้งใจที่ชัดเจน 

 

แคมเปญนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดี มีคนบริจาคเงินมาได้ตามเป้าหมายถึง 20 ล้านปอนด์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นมื้ออาหารให้คนหิวได้ถึง 3 ล้านคนต่อสัปดาห์

 

ย้ำว่า 3 ล้านคนนะครับที่แรชฟอร์ดช่วยไว้

 

Photo: @MarcusRashford

จดหมายเปิดผนึกที่แรชฟอร์ดส่งถึงสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ

 

เพียงแต่กำลังวังชาของเขาคนเดียวอาจไม่พอ คนที่มี ‘หน้าที่โดยตรง’ คือรัฐบาล ทำให้เขาพยายามที่จะส่งเสียงถึงผู้ที่มีอำนาจคือนักการเมือง ให้ลงมาจัดการปัญหานี้ ด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึก เขียนทุกอย่างจากความรู้สึกในหัวใจลงไป เพื่อให้คนที่อาจจะไม่เข้าใจได้เข้าใจว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ และมีผู้คนมากมายที่ยังไม่รู้ว่าวันนี้หรือเช้าวันพรุ่งนี้เขาจะหาอะไรมาเติมเต็มพื้นที่ว่างในกระเพาะอาหาร

 

ความพยายามนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษไม่ได้สนใจ พวกเขายืนกรานที่จะยุติความช่วยเหลือเรื่องคูปองมื้ออาหาร

 


พูดกันตามตรง ความจริงแค่นี้ก็ถือว่าพยายามมากแล้วสำหรับแรชฟอร์ด เขาทำได้ดีที่สุดแล้ว

 

เพียงแต่เด็กน้อยที่ชอบทำกระจกและกระเบื้องหลังคาแตกคนนี้ปฏิเสธที่จะยอมแพ้ ด้วยคำมั่นว่า “ผมจะสู้ต่อไปจนกว่าจะไม่มีเด็กคนไหนที่ต้องท้องว่าง” 

 

การเรียกร้องครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเสียงนั้นถูกสะท้อนให้ดังขึ้นไปอีกมากมายหลายเท่า จากคนที่เห็นความพยายามของแรชฟอร์ดที่ต้องการให้รัฐบาล #MakeaUturn หรือกลับลำหันมาช่วยเหลือผู้คน

 

สุดท้ายเสียงก็ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ ที่ทบทวนเรื่องนี้และตัดสินใจช่วยเหลือคูปองอาหารให้แก่ครอบครัวที่ยากไร้ไปให้เด็กๆ ได้คูปองอาหารตลอดช่วงฤดูร้อนหรืออีก 6 สัปดาห์จนกว่าที่โรงเรียนจะเปิดอีกครั้ง ซึ่งถึงเวลานั้นเด็กๆ ก็จะได้ทานอาหารฟรีที่โรงเรียนตามเดิม

 

ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้แรชฟอร์ดได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก และเป็นการพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้จริงๆ

 

ด้วยมูลค่าของคูปอง 15 ปอนด์ต่อสัปดาห์ มันอาจจะไม่ได้มากมายนัก และคงไม่ได้ถึงกับทำให้ท้องอิ่มอะไรนัก

 

แต่อย่างน้อยด้วยกระดาษเล็กๆ แผ่นนั้นจะช่วยให้เด็กอีกอย่างน้อย 1.3 ล้านคน ไม่ต้องทนหิวในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

 

นี่คือสิ่งที่เด็กอายุ 22 ปีคนหนึ่งได้ทำเพื่อคนอื่น

 

ขอเสียงปรบมือให้หน่อยครับ 🙂

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

อ้างอิง:

 

FYI
  • กองทุนที่รัฐบาลประกาศช่วยเหลือครั้งนี้มีชื่อว่า Covid Summer Food Fund โดยใช้งบประมาณ 120 ล้านปอนด์ เพียงแต่รัฐบาลอังกฤษประกาศว่า ความช่วยเหลือจะสิ้นสุดแค่ 6 สัปดาห์ ขณะที่โรงเรียนคาดว่าจะกลับมาเปิดเรียนได้อีกครั้งในเดือนกันยายน
  • คูปองหรือ Voucher ที่ครอบครัวได้รับ จะถูกมอบให้เพื่อนำไปใช้ซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X