ในขวบปีที่มืดมนอนธการของมนุษยชาติ หนึ่งในประกายแสงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงความหวังของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า คือความพยายามของมาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่นอกจากความพยายามทำผลงานในสนามตามหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว
แรชฟอร์ดได้ค้นพบเป้าหมายใหม่ในชีวิต กับการต่อสู้เพื่อปัญหาปากท้องของน้องๆ ในประเทศอังกฤษ
เรื่องราวของดาวยิงวัย 23 ปีรายนี้ถูกนำมาถ่ายทอดมากมายตลอดปีที่ผ่านมา และกินใจผู้คนอย่างมาก แต่ในสารคดีชิ้นล่าสุด ‘Marcus Rashford: Feeding Britain’s Children’ ที่ถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ BBC One เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นการเปิดเผยอย่างลึกซึ้งถึงที่มาที่ไปที่ทำให้นักฟุตบอลคนหนึ่งที่อยู่ดีกินดีมีเงินใช้ไปทั้งชาติ ตัดสินใจที่จะลงสนามเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งที่ไม่เคยมีใครเอาชนะได้ กับการแข่งขันเพื่อเอาชนะความหิวโหย
โดยในสารคดีเรื่องดังกล่าว ดาวยิงผู้ที่ปกติแล้วเป็นคนขี้อาย ได้ยอมเปิดเผยมุมมืดของชีวิตที่ทำให้หัวใจของผู้คนต้องสั่นเทา และเข้าใจว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจต่อสู้กับเรื่องนี้
ทั้งๆ ที่มองข้ามหรือปล่อยไปก็ไม่ใช่ความผิดอะไร
View this post on Instagram
ในวัยเด็กแรชฟอร์ดอยู่รอดมาได้ด้วยอาหารฟรีที่โรงเรียน
“บางครั้งเราไม่มีแม้แต่ขนมปังสักก้อน”
เราพอรู้กันมาบ้างผ่านเรื่องราวและเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์ที่ข้นแค้นสำหรับแรชฟอร์ด ซึ่งเกิดและเติบโตในไวเทนชอว์ ย่านเสื่อมโทรมในเมืองแมนเชสเตอร์ ที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนั้นไม่ดีนัก
เขาเติบโตท่ามกลางอาชญากรรม ยาเสพติด และแก๊งอันธพาลมากมาย ซึ่งสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้วไม่มีใครอยากให้ลูกเติบโตท่ามกลางสิ่งเหล่านี้
แต่สำหรับ เมลานี หรือ ‘เมล’ – คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูก 5 คน – ชีวิตเธอไม่มีทางเลือกมากนัก และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการพยายามเลี้ยงดูลูกๆ ทุกคนอย่างดีที่สุด
อย่างน้อยให้พวกได้มีข้าว มีขนมปังตกถึงท้องบ้างก็พอ ไม่ได้ขออะไรไปมากกว่านี้
ด้วยความตั้งใจของคุณแม่ทำให้เธอสู้ชีวิตอย่างหนัก ทำงานถึง 3 งานในเวลาเดียวกัน จากการเป็นแคชเชียร์ของร้านรับพนัน พอเลิกกะก็กลับเข้าไปใหม่เพื่อทำงานทำความสะอาด และในวันเสาร์เธอก็ยังรับจ้างล้างจานด้วย
แต่ถึงกระนั้นมันก็มีบางเวลาที่รายได้ไม่มากพอที่จะหาข้าวปลาอาหารให้ลูกๆ ได้ทานจนอิ่ม บางครั้งเธอเองก็ต้องยอมอดเพื่อให้ลูกไม่หิว
“ฉันทำงานเสร็จกะหนึ่งแล้วก็กลับไปใหม่เพื่อทำความสะอาด ฉันเคยล้างจ้านในวันเสาร์ด้วย แต่บางครั้งเราก็ไม่มีแม้แต่ขนมปังสักก้อนในบ้าน” เมลเล่าถึงความหลัง “แต่ฉันไม่ได้บอกใครว่าฉันมีปัญหา เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าอาย”
โชคดีสำหรับเมลที่ลูกๆ นั้นเป็นเด็กดี และโชคดีที่คนในชุมชนนั้นเอ็นดูลูกๆ ของเธอเช่นกัน
“ถ้าพวกเขารู้ว่าแม่ไปทำงาน พวกเขาก็จะแบ่งมันฝรั่งหรืออะไรสักอย่างให้ผมทาน” แรชฟอร์ดเล่า
บางครั้งพวกเขาก็ต้องพึ่งพาอาศัยธนาคารอาหารหรือซุปที่เพื่อนบ้านผู้มีน้ำใจทำมาแบ่งปัน รวมถึง Breakfast Club ที่คอยช่วยให้เด็กๆ ทุกคนอยู่รอดได้ ช่วยให้คนเป็นแม่คลายความทุกข์ความกังวลใจลงไป
เพราะสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ ไม่มีอะไรจะทุกข์ใจมากไปกว่าการที่เห็นลูกต้องหิวโหย
แม้จะเป็นเด็กเงียบๆ แต่แรชฟอร์ดก็เข้าใจ รับรู้ และเก็บมันไว้ในใจตลอดมา
การต่อสู้ที่ไม่มีวันยอมแพ้
ในช่วงเริ่มต้นของการล็อกดาวน์ โลกทั้งใบวุ่นวายปั่นป่วน แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษเองก็อยู่ในสภาวะวิกฤต
ภาพของผู้คนมากมายที่ออกไปต่อคิวซื้อข้าวของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่พบเพียงชั้นวางของที่ว่างเปล่า เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจและไม่คิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในโลก
ขณะที่คนอีกมากมายที่ชีวิตตกอยู่ในทรายดูดทันทีเพราะการล็อกดาวน์ หมายถึงการที่พวกเขาอาจจะไม่มีข้าวกินเลย
ความหิวโหยของผู้คนทำให้แรชฟอร์ด เป็นนักกีฬาคนแรกที่ประกาศว่าจะขอให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ และไม่ได้ทำแค่การโอนเงินเข้าบัญชีของมูลนิธิไหน แต่เป็นการทำงานร่วมกับองค์กรที่ดูแลเรื่องนี้อย่าง FareShare ในการเปิดให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนที่ยากไร้
จากจุดเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 3 เดือนต่อมาแรชฟอร์ดเผยว่า เขาสามารถระดมทุนได้ถึง 20 ล้านปอนด์ ซึ่งมากพอที่จะดูแลข้าวปลาอาหารให้แก่ผู้คนได้ถึง 3 ล้านมื้อ
ทั้งนี้ แม้ว่ามันจะเหมือนเยอะ แต่ถ้าคิดว่าคนหนึ่งต้องทานข้าว 3 มื้อ และมีคนเดือดร้อน 1 ล้านคน มันก็อาจจะช่วยคนได้แค่วันเดียว เพียงแต่อย่างน้อยที่สุดก็ถือเป็นชัยชนะที่มีความหมายอย่างยิ่ง
สำคัญที่สุดคือการที่แรชฟอร์ดได้เห็นแล้วว่า เขาไม่ได้เกิดมาเพียงเพื่อถล่มประตูในสนามเพียงอย่างเดียว
เขาสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ด้วยการใช้สถานะและความสามารถของตัวเอง และสำคัญที่สุดคือการใช้หัวใจลงไปสู้
โดยสิ่งที่เป็นตัวจุดประกายอย่างดีที่สุด คือประสบการณ์อันเจ็บปวดในวัยเด็กทั้งกับตัวเขาเอง และภาพที่เขาต้องเห็นแม่ที่พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะมีแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ท้องอิ่มได้
ในเวลาต่อมาเมื่อมีการประกาศจากรัฐบาล ที่ตัดสินใจจะไม่ให้การสนับสนุนมื้ออาหารในโรงเรียนในช่วงที่มีการปิดเทอมฤดูร้อน หลังจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือในช่วงล็อกดาวน์มาตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งจะหมายถึงการที่จะมีเด็ก 1.3 ล้านคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งปกติแล้วจะได้รับมื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน แรชฟอร์ดได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีทันที เพื่อให้เปลี่ยนการตัดสินใจ
เพราะเขารู้ว่าสำหรับคนที่มันไม่มีนั้น มันไม่มีเลยจริงๆ
บ้านที่ไม่มีขนมปังสักก้อน การต้องทนเข้านอนทั้งๆ ที่ท้องร้องไม่หยุด สิ่งเหล่านี้ต่อให้คนที่บอกว่าพวกเขาเข้าใจปัญหา แต่จะมีสักกี่คนที่เคยผ่านช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายแบบนั้นจริงๆ
“พวกคนที่ตัดสินใจเรื่องพวกนี้ จะมีสักกี่คนที่เคยเจอกับเรื่องแบบนี้?”
เรื่องนี้ทำให้แรชฟอร์ดตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศนี้ไม่ต้องเจอกับความทรงจำที่เลวร้ายเหมือนที่เขาเผชิญมา เขาจะไม่มีวันยอมแพ้อย่างเด็ดขาด
ต่อให้ต้องทำในสิ่งที่คนอย่างเขาไม่คิดจะทำด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึก บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ยากลำบากของตัวเองและครอบครัวให้คนอื่นรับรู้ก็ตาม
เพราะสิ่งที่พยายามต่อสู้ได้รับรู้ถึงหัวใจผู้คน ทำให้แรชฟอร์ดได้รับการยกย่องจากชาวอังกฤษในฐานะฮีโร่ของชาติ
ความสุขของแรชฟอร์ด
ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ทำให้แรชฟอร์ดเปิดหน้าและท้าชนกับรัฐบาลอย่างจริงจัง และจดหมายเปิดผนึกของเขาได้ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องที่มีเสียงดัง และหนักแน่นมากพอที่จะทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่สามารถมองข้ามได้อีก
สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษประกาศให้ความช่วยเหลือต่อไปในเรื่องมื้ออาหารฟรีที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะสำหรับตัวของแรชฟอร์ด แต่เป็นชัยชนะสำหรับทุกคน
สิ่งที่คุณแม่อย่างเมลทำเมื่อทราบข่าวเรื่องนี้ คือการโทรไปหาลูกชายเพื่อดีใจด้วยร่วม 20 ครั้ง!
เพราะสำหรับคนที่มาจากครอบครัวที่ลำบาก แต่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้นับล้านๆ คน มันคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะจินตนาการถึง และเรื่องนี้มีความหมายมากกว่าการที่เจ้าหนูที่ชอบเรียกร้องความสนใจจากแม่ด้วยการเตะบอลไปโดนถังขยะบ้าง เตะขึ้นหลังคาบ้านบ้าง เตะโดนกระจกแตกบ้าง ซื้อบ้านหลังงามให้เธอและพี่น้องได้อยู่อย่างสบายใกล้ๆ ย่านบ้านเก่าที่ไวเทนชอว์เสียอีก
แรชฟอร์ดกลายเป็นฮีโร่ของชาติ ความดีงามนั้นทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษชั้น MBE เนื่องในวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
เพียงแต่การต่อสู้นั้นไม่เคยหยุดเพราะยังมีคนหิวอยู่ ทำให้แรชฟอร์ดเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการหาแนวร่วมด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษ เพื่อหาทางนำข้าวปลาอาหารที่เหลือมาใช้ให้เป็นประโยชน์
พร้อมกันนั้นยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของผู้คนในระดับนโยบายตามข้อเสนอ 3 ประการ ที่เสนอโดยหน่วยงาน National Food Strategy ซึ่งประกอบไปด้วย
1) ขยายสิทธิ์ในการรับมื้ออาหารฟรีของเด็กให้มากขึ้น
2) ขยายระยะเวลาในเรื่องคูปองมื้ออาหารในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
3) เพิ่มโปรแกรมรวมถึงกิจกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าของเวาเชอร์คูปองในโครงการ Healthy Sart ซึ่งจะช่วยเหลือสตรีที่ตั้งครรภ์ และครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า 4 ปี
ทั้งหมดนี้จะช่วยคนได้เพิ่มอีก 290,000 คนด้วยกัน
ถึงแม้ว่าการตอบรับจากรัฐบาลจะบอกว่าทางการได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่แรชฟอร์ดสัมผัสได้คือคนที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญแบบนี้ต่างขาด ความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
“ผมสงสัยจริงๆ ว่าพวกเขาจะเคยมีชีวิตลำบากแบบนั้นไหม วิธีการพูดของพวกเขามันดูเย็นชาเกินไป สำหรับผม ผมคิดว่าพวกเขาขาดความเข้าใจในประเด็นปัญหานี้อย่างมาก” แรชฟอร์ดกล่าว
นั่นนำไปสู่การต่อสู้ที่หนักแน่นขึ้น โดยหลังจากที่มีเหล่านักการเมืองได้มีการโหวตเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือและผลออกมาเป็นลบ แต่แรชฟอร์ดไม่มีวันยอมแพ้ เขาได้ยื่นคำร้องเพื่อให้รัฐบาลได้ทบทวนในเรื่องมาตรการให้การช่วยเหลืออีกครั้ง
คราวนี้มีผู้คนนับล้านที่มาร่วมลงชื่อสนับสนุน รวมถึงองค์กร ห้างร้าน มูลนิธิต่างๆ ต่างผนึกกำลังรวมใจกันเป็นหนึ่ง
สำหรับนักฟุตบอลอายุแค่ 23 ปีคนหนึ่ง ไม่มีช่วงเวลาใดในชีวิตที่จะทำให้เขาภูมิใจได้มากกว่านี้อีกแล้ว
เสียงเรียกร้องที่ดังกระหึ่มทำให้รัฐบาลทบทวนและเปลี่ยนใจ ก่อนที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ที่โทรมาแจ้งข่าวนี้ด้วยตัวเอง
“ผมเดาว่าคุณเพิ่งจะลงเตะกับเอฟเวอร์ตันเสร็จ” ผู้นำรัฐบาลทักทาย ก่อนจะถามไถ่ว่าเขาทำประตูได้หรือไม่ ซึ่งหนุ่มน้อยผู้ซื่อตรงก็ตอบกลับไปว่าเขายิงไม่ได้แต่จ่ายให้เพื่อนยิงได้ แถมแม่ยังแซวเรื่องที่โหม่งพลาดด้วย
บทสนทนาหลังจากนั้นคือการยืนยันจากจอห์นสันว่า รัฐบาลอังกฤษได้มีการเตรียมให้การช่วยเหลือในสิ่งที่เขาเรียกร้องแล้ว โดยมีการจัดเตรียมงบประมาณ 170 ล้านปอนด์สำหรับการช่วยเหลือเรื่องอาหารให้แก่ผู้คนยากไร้ และอีก 220 ล้านปอนด์สำหรับการดูแลเด็กๆ ในเรื่องของอาหารและการจัดหากิจกรรม รวมถึงมอบงบอีก 16 ล้านปอนด์ให้แก่องค์กรการกุศลที่สนับสนุนชุมชนในเรื่องการกระจายอาหาร และการเพิ่มคุณค่าของเวาเชอร์ Healthy Start
“ผมดีใจที่เรามาถึงจุดนี้ได้” แรชฟอร์ดกล่าว “แต่ผมไม่สามารถหยุดคิดถึงภาพของปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ได้”
เพราะเขารู้ว่าความหิวมันทรมานแค่ไหน
และต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้ที่ยากลำบากขนาดไหน รอยยิ้มของแม่ที่ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้แก่เขา สายตาที่ชื่นชมของคุณครูที่เอ็นดูลูกศิษย์ที่รัก และคำขอบคุณจากคนที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือไว้ คือแหล่งพลังงานทางใจที่ไร้ขีดจำกัด
มันทำให้เขาพร้อมจะลุกขึ้นสู้ทุกครั้ง และหวังว่าจะทำให้ใครสักคนบนโลกได้เห็น
ว่าไม่ว่าใครก็ตาม เราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้จริงๆ ด้วยสองมือและหัวใจของเรา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.bbc.com/sport/football/55338104
- www.bbc.com/sport/football/54968207
- www.bbc.com/mediacentre/proginfo/2020/51/marcus-rashford-feeding-britains-children
- www.bbc.com/sport/football/53014511
- thestandard.co/marcus-rashford-charity/
- จากการต่อสู้เพื่อคนอื่น ทำให้แรชฟอร์ดได้รับรางวัลพิเศษในการประกาศรางวัล BBC Sports Personality ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสำหรับคนกีฬาชาวอังกฤษ
- นอกจากการต่อสู้เรื่องความหิวโหยแล้ว แรชฟอร์ดยังเปิดสมรภูมิใหม่ในการเปิดชมรมหนังสือที่มีชื่อว่า ‘The Marcus Rashford Book Club’ โดยมีเป้าหมายให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กยากไร้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนได้ใช้เวลาส่วนตัวอย่างเป็นประโยชน์