“ศตวรรษที่ 21 จะถูกกำหนดโดยสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน”
คำยืนยันจาก มาร์โก รูบิโอ ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ที่ประกาศระหว่างการพิจารณายืนยันตำแหน่ง (Confirmation Hearing) ต่อคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 มกราคม) บ่งบอกถึงจุดยืนอันชัดเจนในนโยบาย ‘สายเหยี่ยว’ ของเขาว่าจีนเป็น ‘ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และตอกย้ำความเชื่อของรูบิโอที่มองว่าสหรัฐฯ จะต้องผลักดันอิทธิพลของจีนออกไปด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าสำหรับจีน หนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญและจีนพยายามขยายอิทธิพลอย่างมากคืออาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาค
โดยที่ผ่านมาไทยและจีนมีสายสัมพันธ์และความร่วมมือที่แนบแน่นกันในหลายๆ ด้าน แต่หนึ่งในประเด็นร้อนล่าสุดที่เกี่ยวพันกับไทยและจีน ซึ่งสหรัฐฯ กำลังเฝ้าจับตามองคือกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจมีแนวคิดส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 48 คน ที่ทางการไทยคุมขังในสถานกักกันคนต่างด้าวมานานกว่า 10 ปี กลับไปยังจีน ในวันนี้ (20 มกราคม)
รูบิโอถูกถามระหว่างการพิจารณาว่า “คุณจะล็อบบี้ให้ไทยไม่ส่งชาวอุยกูร์กลับไปเจอกับความน่ากลัวที่พวกเขาจะต้องเผชิญหากถูกส่งกลับไปจีนหรือไม่?” ซึ่งเขาตอบอย่างหนักแน่นว่า “ผมจะทำ”
เขาย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่มีมายาวนาน และชี้ว่าทางออกของประเด็นนี้คือ ‘การทูต’
“ใช่ และข่าวดีก็คือประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งมากของสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่งด้วย ดังนั้นผมคิดว่าการทูตสามารถบรรลุผลได้จริง”
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของรูบิโอยังก่อให้เกิดคำถามที่น่าหวั่นใจต่อรัฐบาลไทยว่าจะเลือกเดินหมากอย่างไรในกรณีชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน โดยไม่ทำให้จีนไม่พอใจ และไม่ส่งผลลบต่อการเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลแพทองธารกับรัฐบาลทรัมป์ 2.0
ไทยควรเดินหมากอย่างไร?
ศ. ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อท่าทีของรูบิโอสำหรับกรณีข่าวลือการส่งตัว 48 ชาวอุยกูร์ให้จีน โดยเขามองว่าเรื่องนี้สะท้อนทัศนคติที่รัฐบาลทรัมป์มีต่อจีน ด้วยการมองจีนว่าเป็นคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรูบิโอก็เป็นนักการเมืองสายเหยี่ยวของรัฐบาลทรัมป์ที่ต้องการจะต่อกรหรือเผชิญหน้ากับจีน และประเด็นอุยกูร์ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สหรัฐฯ ประเดิมเพื่อต่อกรกับจีน ณ เวลานี้
ศ. ดร.ฐิตินันท์ ชี้ว่า สำหรับรัฐบาลไทย นี่คือบททดสอบแรกของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งไทยยืนอยู่ตรงกลางระหว่างทั้ง 2 มหาอำนาจ
“ไทยจะเดินหมากนี้อย่างไร จะทำอย่างไรให้สหรัฐฯ ไม่มาเป็นปฏิปักษ์ต่อไทย เพราะไทยเป็นพันธมิตรที่ยาวนานกว่า 200 ปี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเองก็มีความใกล้ชิดกับจีนมายาวนานเป็นร้อยๆ ปีเช่นกัน” เขากล่าว
คำถามสำคัญคือไทยจะมีทางออกกรณีนี้อย่างไรนั้น ศ. ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า “การที่รูบิโอพูดทำนองนี้แล้วใช้ความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ เป็นเดิมพัน แล้วมาตั้งโจทย์ว่าอย่าส่ง 48 อุยกูร์กลับไปจีน ผมคิดว่าทางออกของไทยคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาเรื่องการส่งไปประเทศที่ 3”
โดยเขาชี้ว่าหนึ่งในประเทศที่ 3 ที่สามารถรับชาวอุยกูร์ได้เลย ในอดีตที่เห็นมาแล้วก็คือตุรกี
“การที่รูบิโอพูดเช่นนี้นั้นเข้าทางไทยด้วยซ้ำ เพราะหากไม่พูดเช่นนี้อยู่ดีๆ ไทยส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศที่ 3 มันจะมีผลให้จีนไม่พอใจ แต่หากทั้งสหรัฐฯ และจีนกดดัน ไทยก็สามารถมีข้ออ้างส่งชาวอุยกูร์ไปประเทศที่ 3 เพราะสหรัฐฯ ก็มาว่าไทยไม่ได้และจีนก็จะมาว่าไทยไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ เรียกร้องเช่นนี้” ศ. ดร.ฐิตินันท์ กล่าว และเสริมว่า
“มันเป็นครรลองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย การที่รูบิโอพูดเช่นนี้ทำให้ไทยตัดสินใจได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำ”
ทั้งนี้ ในกรณีที่ไทยเลือกส่งชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คนไปให้จีน จะส่งผลให้ไทยเผชิญมาตรการตอบโต้จากรัฐบาลทรัมป์หรือไม่นั้น ศ. ดร.ฐิตินันท์ มองว่ารัฐบาลไทยควรที่จะ ‘ดูตาม้าตาเรือให้ดี’
เขากล่าวว่า “ประเทศไทยไม่ควรที่จะไปเริ่มต้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลทรัมป์ 2 อย่างมีปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรตามสหรัฐฯ ทั้งหมด” โดยกรณีปัญหาของชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คนนั้นมีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ คือเรื่องการจะไม่ส่งคนกลับไปยังประเทศเดิมที่อาจจะถูกปฏิบัติไม่ดี อีกทั้งยังมีครรลองทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
10 ปี ปัญหาอุยกูร์ในไทย
สำหรับชาวอุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ซึ่งเป็นมณฑลที่มีพื้นที่มากที่สุดของจีน
จุดเริ่มต้นของปัญหาชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยมายังไทยเกิดขึ้นในช่วงปี 2014 จากการที่รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการเด็ดขาดกับวัฒนธรรมและศาสนาของชาวอุยกูร์ เช่น การห้ามประกอบพิธีทางศาสนาหรือการถือศีลอด ส่งผลให้ชาวอุยกูร์จำนวนไม่น้อยต้องการลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3
โดยชาวอุยกูร์บางส่วนเลือกลี้ภัยมาทางภาคใต้ของไทยหรือไปที่มาเลเซีย ซึ่งในเดือนมีนาคม 2014 ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 220 คน ถูกพบและจับกุมตัวได้ในสวนยางพารา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งแม้ทั้งหมดต้องการลี้ภัยไปประเทศตุรกี และทางการตุรกียินดีรับ แต่รัฐบาลไทยขณะนั้นปฏิเสธโดยไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจน ก่อนที่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์จะถูกกระจายไปคุมขังในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทั่วประเทศ และเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการคุมขังชาวอุยกูร์มาอย่างยาวนาน
ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2015 ปรากฏรายงานข่าวว่าทางการไทยบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 109 คนให้กับทางการจีน โดยกลุ่มชาวอุยกูร์ถูกใส่กุญแจมือและใช้ถุงดำครอบศีรษะ ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่จีนในกรุงเทพฯ พาขึ้นเครื่องบินกลับประเทศจีน โดยไม่มีใครทราบชะตากรรมของชาวอุยกูร์กลุ่มนี้อีกหลังจากนั้น
ข่าวเกี่ยวกับชาวอุยกูร์เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกรณีที่เป็นข่าวดังคือเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณแยกราชประสงค์ ที่เกิดขึ้น 1 เดือนหลังการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 109 คนให้กับจีน ซึ่งทางการไทยจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ได้ 2 คน และมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการตอบโต้การกระทำของทางการไทย
สภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress: WUC) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เสียชีวิตภายใต้การควบคุมดูแลของทางการไทยแล้วอย่างน้อย 5 ราย ขณะที่ภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตของชาวอุยกูร์นั้นสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่และแออัดในสถานกักตัวของ ตม. ไทย
แถลงการณ์ของ WUC ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า กลุ่มชายชาวอุยกูร์ได้ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือโดยด่วนจากชุมชนระหว่างประเทศ รวมถึงองค์กรและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลไทยได้หารือเกี่ยวกับการส่งพวกเขากลับไปจีน
โดยพวกเขาถูกขอให้ลงนามในเอกสารยินยอมที่จะให้ส่งตัวกลับประเทศจีนโดยสมัครใจ แต่หลังจากที่พวกเขาปฏิเสธที่จะลงนาม เจ้าหน้าที่ของสถานกักตัวจึงได้ถ่ายภาพชาวอุยกูร์แต่ละคน
“ทางการไทยต้องไม่เนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เหล่านี้กลับประเทศจีน ซึ่งพวกเขาจะต้องตกอยู่ภายใต้การละเมิดในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” ตูร์กุนจัน อาลอดูน ประธาน WUC กล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องผู้นำโลกให้ความสนใจในเรื่องนี้โดยด่วน
แถลงการณ์ของ WUC ยังชี้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ไทยเตรียมการสำหรับวันครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของแรงกดดันจากปักกิ่งในการให้ส่งตัวกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ให้ทางการจีน
ปัญหาอุยกูร์ โอกาสมากกว่าความเสี่ยง
รศ. ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้ความเห็นต่อท่าทีของรูบิโอในกรณีปัญหาชาวอุยกูร์ว่าสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อไทย จากการที่เขามองว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีความสำคัญมากและเป็นความสัมพันธ์ที่ประเทศอื่นไม่มี
“ผมคิดว่าหากเขาคิดเช่นนั้นจริงๆ และเขาสามารถเชื่อมโยงกับรัฐบาลไทยได้อย่างจริงจัง มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยพอสมควร”
อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.ปณิธาน ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของรูบิโอระหว่างให้การต่อวุฒิสภา เป็นการให้ปากคำของนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงในรัฐสภา ซึ่งไม่ต้องการความเห็นต่างและอาจจะพูดในลักษณะที่สมดุล แต่ในการปฏิบัติจริงกรณีอุยกูร์นั้นอาจจะมีการกดดันไทยอย่างไม่เป็นทางการ
กรณีปัญหาชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คนที่มีมายาวนาน รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าไทยนั้นได้คุยกับทุกฝ่าย
เขาชี้ว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลสมัย คสช. และหลังจากนั้นมีการพูดคุยกับจีนแล้วว่าชาวอุยกูร์กลุ่มที่เหลืออยู่ 48 คนจะไม่ส่งกลับไปจีน ถ้าหากจีนไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนเหล่านี้ทำผิดอะไร
ที่ผ่านมามีการจับตามองว่าจีนจะหยิบยกเรื่องนี้มาคุยในระดับผู้นำหรือไม่ แต่ก็ไม่มี ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในระดับสากล และมีเพียงหลักฐานภายใน
“เพราะฉะนั้นเมื่อจีนไม่ส่งหลักฐานหลายๆ รอบ ไทยก็สรุปว่าจะส่งไปประเทศที่ 3 อื่นๆ เช่น มาเลเซียหรือตุรกี ซึ่งไทยก็ไปเจรจาไว้แล้วและจีนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ว่ามีการให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างมาคุยกับเจ้าหน้าที่ของไทยและกดดันให้ส่งตัวให้จีน แต่ไทยไม่รับรู้ในระดับทางการเพราะไม่มีเรื่องนี้ในประเด็นพูดคุยระหว่างกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงการต่างประเทศเลย”
รศ. ดร.ปณิธาน มองว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ในรัฐบาลปัจจุบันน่าจะแตกต่างจากในอดีต เนื่องจากมีปัจจัยจากความขัดแย้งและการเผชิญหน้าทั่วโลกที่ชัดเจนขึ้น ทำให้อาจต้องประเมินกันใหม่ว่าการที่ส่งหรือไม่ส่งตัว 48 อุยกูร์กลับไปจีนจะมีผลดีผลเสียอย่างไร และอาจจะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติมหากส่งไปประเทศที่ 3 อย่างตุรกีไม่ได้ ควรจะส่งไปที่ไหน
“คือเขาอยากจะไปสหรัฐฯ ไปประเทศตะวันตก แต่มันก็จะไปขัดแย้งกับนโยบายคนเข้าเมืองและการลดโควตาผู้ลี้ภัยทางการเมืองของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งรูบิโออาจต้องช่วยเจรจาให้ไปประเทศที่ 3 อื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย คือต้องช่วยหาทางออกให้ไทยด้วย และเมื่อมีการตอบรับ เราก็สามารถดำเนินการส่งตัว แต่จะต้องมีการประเมินว่าจีนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบรุนแรงขนาดไหน อย่างไร เพราะฝ่ายความมั่นคงของจีนที่ไทยเคยเจรจาไว้ก็เปลี่ยนไปเกือบหมด” รศ. ดร.ปณิธาน กล่าว
โดยเขาชี้ว่า “รัฐบาลปัจจุบันต้องทำงานหนักขึ้นเรื่องอุยกูร์ แต่มองว่านี่เป็นโอกาส ไม่ใช่ความเสี่ยง”
ภาพ: Nathan Howard / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.rfa.org/english/uyghur/2025/01/15/us-thailand-detainees/
- https://www.voanews.com/a/rubio-vows-to-oppose-thai-uyghur-deportations-as-us-secretary-of-state/7942121.html
- https://www.uyghurcongress.org/en/press-release-wuc-urges-thai-government-halt-deportation-uyghur-refugees-after-sos-call/
- https://prachatai.com/journal/2024/03/108432